วันนอนหลับโลก
หลายๆ คนอาจจะเคยประสบปัญหาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยครั้ง เพราะในแต่ละวันเราต้องเจอกับเรื่องราว หรือปัญหาต่างๆ มากมายที่คอยเรียงแถวเข้ามาก่อกวนจิตใจให้วุ่นวายจนเป็นอันกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เรื่องราวแย่ๆ เหล่านั้นมักวนเวียนอยู่ในหัวสมองทั้งวัน ทำให้บ่อยครั้งเรามักจะใช้ตัวช่วยอย่าง “ยานอนหลับ” ที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ลืมเรื่องราวต่างๆ ไปได้บ้าง ที่สำคัญยังทำให้เราหลับสบายจนถึงเช้าอีกด้วย
ถ้าเกิดสิ่งเราบอกไปนั้นมันเกิดขึ้นแค่ครั้ง สองครั้งก็ยังพอทน แต่ถ้าเกิดว่ายังมีครั้งที่สาม สี่ หรือห้าตามแล้วละก็ ให้ระวังไว้เลยว่าคุณกำลังมีปัญหาด้านการนอนหลับเข้าแล้ว จึงเป็นที่มาของกิจกรรมที่เรียกได้ว่ารณรงค์กันไปทั่วโลกอย่าง “The World Sleep Day” หรือ กิจกรรม “วันนอนหลับโลก” ที่มักจะจัดขึ้นทุก “วันศุกร์” สัปดาห์เต็มที่ 2 ของเดือน “มีนาคม” ในทุกๆ ปี (Friday of the second full week of March)
ซึ่งในปี 2019 นี้ ก็ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม โดยมีสโลแกนว่า "Good Sleep is a Reachable Dream" โดยเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงปัญหาการนอนหลับที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคุณ แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ทั่วโลก จะเรียกว่าเป็น “โรคระบาด” กลายๆ ก็ไม่ผิด
โดยคณะกรรมการที่จัดงานวันนอนหลับโลก ของ “WASM” หรือ “The World Association of Sleep Medicine” ได้กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2008 เพื่อเป็นการให้ทุกคนบนโลกนั้นตระหนักและให้ความสำคัญกับ “ปัญหาการนอนหลับ” ที่แม้ว่าจะเป็นแค่จุดเล็กๆ แต่หากว่าเกิดขึ้นแล้ว มันจะสร้างภาระเรื้อรังต่อเนื่องมาไม่รู้จบ ซึ่งคณะกรรมการก็จะเน้นไปที่การสร้างกิจกรรมในชุมชน สังคม ให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาวะดังกล่าว การศึกษาหาที่มาของปัญหา ค้นคว้าตัวอย่าง มุมมองสังคมที่มีปัญหา รวมถึงการขับเคลื่อนต่างๆ ผ่านการสร้างความเข้าใจ แนะให้เกิดการเรียนรู้วิธีการป้องกันที่สามารถทำได้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการจัดการปัญหาภาวะการนอนหลับอย่างตรงจุด
กิจกรรมวันนอนหลับโลก หรือ “The World Sleep Day” นอกจากเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังเป็นการเฉลิมฉลองการมีสุขภาพดี สะท้อนให้เห็นข้อดีของการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ หรือถ้าให้ตรงกับสำนวนไทยบ้านเราก็คือ “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ไม่อยากให้ใช้ “ยา” เป็นเครื่องมือรักษาให้เราสุขภาพดีตลอดไป แต่อยากให้เรารู้จักใช้ชีวิต หมั่นออกกำลัง และจัดการกับภาวะที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างเหมาะสม เมื่อถึงวันนั้นเราก็จะสามารถยิ้มได้แบบไม่ต้องมีกังวลเลยล่ะ
ขอบคุณที่มา
https://en.wikipedia.org/wiki/World_Sleep_Day