รัฐประหาร หรือ การรัฐประหาร (ฝรั่งเศส: coup d'état กุปเดตา) หมายถึงการล้มล้างรัฐบาลผู้บริหารปกครองรัฐในขณะนั้น แต่มิใช่การล้มล้างระบอบการปกครองหรือทั้งรัฐ และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง หรือเกิดเหตุนองเลือดเสมอไป เช่นหากกลุ่มทหารอ้างว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บริหารประเทศชาติผิดพลาด และจำเป็นต้องบังคับให้รัฐบาลพ้นจากอำนาจ จึงใช้กำลังบังคับให้ออกจากตำแหน่ง โดยประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายในเวลาที่กำหนด ลักษณะนี้ก็เรียกได้ว่า เป็นการก่อรัฐประหาร โดยในวิชาการพัฒนาการเมือง ซึ่งเป็นสาขาวิชาทางรัฐศาสตร์ จะถือว่าการรัฐประหาร มิใช่วิธีทางของวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และถือเป็นความเสื่อมทางการเมือง (political decay) แบบหนึ่ง ทั้งนี้ หากความพยายามในการก่อรัฐประหาร ไม่ประสบความสำเร็จ ผู้ก่อการมักถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ
นิยาม
คำว่า coup d'état มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งหากแยกพิจารณาจากการสนธิคำ จะแปลตรงตัวได้ว่า การล้มล้างอย่างเฉียบพลัน (coup = blow of) ต่อรัฐ (d'état = on state) โดยในพจนานุกรมบริทานิกา คอนไซส์ (Britannica Concise Encyclopedia) นิยามว่าเป็นการยุบเลิกรัฐโดยฉับพลัน (stroke of state) การเข้ามาเถลิงอำนาจโดยเฉียบพลัน มักจะเกิดด้วยความรุนแรง การกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นโดยกลุ่มก่อการ (a group of conspirators) มักจะเกิดกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง หรือมีในระดับต่ำ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การรัฐประหารมักไม่ประสบความสำเร็จ
ส่วนพจนานุกรมศัพท์ทางการทหารของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Companion to Military History) อธิบายว่า เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคณะปกครองด้วยกำลัง โดยมักเกิดจากกองทัพ พจนานุกรมศัพท์ทางทหารอเมริกันของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of the US Military) นิยามว่า เป็นการเข้ามาเถลิงอำนาจในรัฐบาล อย่างรวดเร็วรุนแรง และผิดกฎหมาย พจนานุกรมศัพท์ทางการเมืองของออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary of Politics) กล่าวว่า เป็นการยุบเลิกรัฐบาลอย่างกะทันหัน ด้วยกำลังที่ผิดกฎหมาย มักกระทำการโดยกองทัพ หรือส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยมักจะเกิดขึ้น ท่ามกลางความไม่เห็นชอบของประชาชน หรือไม่ก็มักเป็นปัญหากับประชาชนบางส่วน ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง หรือไม่ก็ด้วยความร่วมมือของพรรคการเมือง หรือกลุ่มทางการเมือง
โดยสรุป การรัฐประหารหมายถึง การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองรัฐ (head of state) หรือรัฐบาล (government) โดยเฉียบพลันด้วยกำลัง ความรุนแรง และผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนระบอบการปกครอง (regime)
รัฐประหารในประเทศไทย
คณะรัฐประหารของไทยที่ก่อการสำเร็จ มักจะเรียกตนเองหลังก่อการว่า "คณะปฏิรูป" หรือ "คณะปฏิวัติ" เพื่อให้มีความหมายไปในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม มีผู้เสนอว่าการ "ปฏิวัติ" หรือ "อภิวัฒน์" (revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองนั้น เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงครั้งเดียว จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monachy) เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แต่ความเห็นอีกด้านหนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะผสมผสาน ระหว่างการปฏิวัติกับการรัฐประหาร เนื่องจากมีการใช้กำลังทหาร ในการควบคุมบังคับ เพื่อระงับอำนาจของรัฐบาล ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ล้วนแต่มาจากฝ่ายทหารบกทั้งสิ้น ส่วนทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้ว ในกรณีกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่กระทำการไม่สำเร็จ แล้วหลังจากนั้น ทหารเรือก็เสียอำนาจในการเมืองไทยไป
รายชื่อการรัฐประหารในประเทศไทย
รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา เป็นการประกาศรัฐประหารเพื่อให้รัฐมนตรีรักษาการทั้งหมดหมดอำนาจ และเปลี่ยนผ่านสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia.org