“ลูกไม่ยอมทำการบ้านเลยค่ะมัวสนใจโน่นนี่ กว่าจะทำเสร็จแต่ละที”
“ทำการบ้านแต่ละทีแม่เหนื่อยมากกว่าลูกอีกค่ะ สอนแล้วมีอารมณ์”
“ต้องบังคับครับถึงจะยอมทำ”
“ใช่ค่ะเขากลัวพ่อถ้าเป็นพ่อจะยอมนั่งทำจนเสร็จแม้จะไม่อยากทำ”
Homework เรื่องว้ากว้ากว้าก ช่างลำบากชี้แจงแถลงไข
ยากยิ่งจะอธิบายให้ลูกเข้าใจ ทำไมลูกถึงไม่ยอมทำสักที
ปัญหาหนึ่งของพ่อแม่ที่มีลูกสมาธิสั้น คือ การดูแลลูกให้ทำการบ้าน เนื่องจากพื้นฐานของลูกสมาธิสั้นจะมีความบกพร่องเรื่องการจดจ่อ และ การควบคุมตนเอง ซึ่งส่งผลต่อทักษะทางการเรียนโดยตรง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่โรงเรียนและส่งผลต่อมายังที่บ้าน เช่น จดงานมาจากโรงเรียนไม่ครบ หรือในบางรายอาจไม่ได้จดมาเลย พบบ่อยๆว่ามักทำงานไม่เสร็จในชั่วโมงเรียนส่งผลให้มีงานค้างที่ต้องกลับมาทำที่บ้านหรือต้องกระตุ้นสนใจ และควบคุมให้ลูกทำงานได้สำเร็จ ซึ่งก็มักพบว่าพ่อแม่ไม่อดทนหรือใจเย็นเพียงพอ และอดไม่ได้ที่จะหงุดหงิด ทำให้ช่วงเวลาทำการบ้านเป็นช่วงเวลายากลำบากของทั้งพ่อแม่และลูก ถ้าบ้านใดพบเรื่องยุ่งยากแบบนี้อย่าเพิ่งท้อใจนะคะ เรามีเทคนิคดีๆมาแบ่งปัน... Homework ทำอย่างไร ไม่ให้เป็น Home “ว้าก”
Homework ทำอย่างไร ไม่ให้เป็น Home “ว้าก”
1.จัด - สิ่งแวดล้อม โต๊ะทำการบ้านควรอยู่ตรงมุมของห้อง บนโต๊ะควรมีเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำการบ้าน คือ ดินสอหรือปากกา 1 ด้าม ยางลบ สมุดการบ้าน ไม้บรรทัด เท่านั้น
ผนังห้องไม่มีสิ่งดึงดูดสายตาหรือความสนใจ เช่น โปสเตอร์ ต้นไม้ หน้าต่างที่ติดผ้าม่านลมพัดพริ้วไปมา บริเวณรอบๆ ไม่ควรเปิดวิทยุโทรทัศน์ หรือมีคนเดินใกล้ๆหรือทำกิจกรรมอื่นหรือพี่/น้อง เข้ามาเล่นใกล้ๆ เพราะจะเป็นการดึงความจดจ่อของลูกขณะทำการบ้านให้ไปสนใจสิ่งอื่นๆเหล่านั้นหากระหว่างทำการบ้านลูกเริ่มไม่มีสมาธิให้พ่อแม่สังเกตว่ามีอะไรมาดึงความสนใจไปหรือไม่ ก็ให้จัดการลดสิ่งเร้านั้น
2.จัด – งาน การบ้านในแต่ละวันอาจมีหลายวิชา พ่อแม่อาจเริ่มจากสอบถามลูกและตรวจทานความครบถ้วนในสมุดจดการบ้าน ขั้นต่อมาจัดแบ่งงานย่อยๆ เริ่มจากวิชาที่ลูกชอบหรือถนัดก่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเกิดความภูมิใจในความสำเร็จและกระตือรือร้นที่จะทำในวิชาต่อไป การจัดแบ่งงานนี้ สำคัญอยู่ที่พ่อแม่ต้องสังเกตให้ได้ว่าลูกมีสมาธิในการทำงานเต็มที่ในช่วงเวลากี่นาที เด็กบางคนมีความจดจ่อ 10 นาที บางคน 30 นาที การสังเกตนี้จะช่วยพ่อแม่ในการแบ่งและมอบหมายงานให้เหมาะสมกับสมาธิของลูก เช่น ช่วงสมาธิลูก คือ 15 นาที การบ้านของลูกวันนี้คือเลข 3 ข้อ ภาษาไทย 5 ข้อ หากพ่อแม่กำหนดเวลาในการทำการบ้านของลูกประมาณ 30 นาที ดังนั้น ควรแบ่งย่อยการบ้านเป็น 2 ช่วงช่วงละ 15 นาที โดยบอกลูกเป็นคำสั่งให้ชัดเจน
“ วันนี้ลูกมีการบ้าน 2 วิชา เดี๋ยวลูกทำวิชาเลขเสร็จ 3 ข้อ พ่ออนุญาตให้ลูกพักทานน้ำ หรือ เข้าห้องน้ำ แล้วมาทำต่อวิชาภาษาไทย 5 ข้อ นะครับ พ่อจะนั่งอยู่ใกล้ๆลูกข้อไหนไม่เข้าใจถามพ่อได้เลยนะครับ ”
ขณะที่ลูกทำงานหากพ่อแม่สังเกตพบว่าลูกเริ่มหมดสมาธิก็ไม่ควรฝืนหรือบังคับให้ลูกทำเพราะจะยิ่งทำให้เด็กต่อต้านในการทำการบ้านในครั้งต่อๆไป ซึ่งพ่อแม่สามารถใช้เทคนิคสร้างแรงจูงใจ ตามตัวอย่างของพ่อแม่หลายคน เช่น “นั่งเป็นเพื่อนเขาค่ะเหมือนเป็นกำลังใจให้เขาไงคะ แต่ไม่ทำการบ้านให้นะคะ ถ้าเห็นเขานั่งนิ่งนานก็จะถามว่ามีอะไรให้แม่ช่วยมั้ยลูก” “ผมมักใช้วิธีบอกเขาว่าถ้าลูกทำการบ้านเสร็จเร็ว ถ้าพ่อตรวจแล้วถูกต้อง วันนี้เราจะไปเล่นบอลกัน พอดีผมกับลูกเชียร์บอลทีมเดียวกันด้วยครับ”
3.จัด – ใจและคำพูด เมื่อลูกอยากหยุดทำการบ้านกลางคัน พ่อแม่หลายคนจะมีอารมณ์หงุดหงิดหรือไม่พอใจที่ลูกไม่ยอมทำการบ้านต่อ อาจเผลอดุว่าหรือว้ากใส่ลูกแรงๆ วิธีที่แนะนำ คือ จัดการที่อารมณ์ของพ่อแม่เองก่อนด้วย วิธีง่ายๆ คือหายใจเข้า ออก ลึกๆ ให้ใจสงบก่อน เมื่ออารมณ์เย็นลงจึงค่อยพูดสื่อสารว่า “ แม่เข้าใจว่าหนูอยากทำอย่างอื่น แต่เราตกลงกันไว้แล้วว่าลูกจะทำการบ้านเลข 2 ข้อเสร็จแล้วจึงจะพัก ซึ่งตอนนี้เหลืออีก 1 ข้อก็เสร็จ เรามาช่วยกันนะจ๊ะ” เมื่อลูกทำเสร็จพ่อแม่ก็หาจุดชื่นชมของการทำการบ้านในแต่ละวัน เช่น “วันนี้ลูกใช้เวลาทำการบ้านเร็วขึ้นนะจ๊ะ” “ลูกเขียนเรียงความโดยไม่มีคำผิดเลย” “ พ่อเห็นความพยายามในการคิดเลขสมการของลูก”
การบ้านเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ลูกจะได้ใช้เวลาร่วมกัน เป็นเวลาทองของครอบครัวที่พ่อแม่ได้สังเกตลูกทั้งจุดเด่นและจุดบกพร่อง และจะได้ช่วยส่งเสริมลักษณะเด่นหรือความสามารถพิเศษช่วยปรับ แก้ไขข้อบกพร่องนั้นได้แต่เนิ่นๆ นอกจากบรรยากาศในการทำการบ้านที่ดีซึ่งเกิดขึ้นทุกวันจะเพิ่มความเข้าใจ ความผูกพันกันระหว่างพ่อแม่ลูกแล้ว จะยังเป็นการช่วยให้ลูกฝึกความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองที่เริ่มจากเรื่องง่ายๆ...การบ้าน
Homework เรื่องบ้านบ้าน งานของพ่อแม่ลูก
การบ้านเราพันผูก พ่อแม่ลูกพันผูกร่วมกัน
หนึ่ง จัดสิ่งแวดล้อมให้โล่งๆ สอง ย่อยงานปลอดโปร่ง สุขสันต์
สาม จัดใจคำพูดชื่นชมร่วมกัน ทำทุกวันสม่ำเสมอสุขใจ
เมื่อทำได้ดังนี้ Homework ก็จะไม่เป็น Home ว้าก ให้ครอบครัวต้องร้อนใจอีกต่อไป
บทความโดย หนึ่งฤทัย ยี่สุ่นศรี นักสังคมสงเคราะห์ปฎิบัติการ
ที่มาของบทความ : สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
ภาพประกอบจาก https://real-parenting.com