ลิซ เมอร์เรย์ : จากเด็กจรจัด สู่ฮาร์วาร์ด ..Homeless to Harvard..
จากเด็กข้างถนน ไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีเงินแม้แต่เพนนีเดียวในกระเป๋า แต่ด้วยหัวใจใฝ่ดี เธอสามารถเข้าไปเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ลิซ เมอร์เรย์ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่วัยรุ่นผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก
เธอเกิดเมื่อวันที่ 23 กันยายน ปี ค.ศ. 1980 อาศัยอยู่กับพี่สาวและพ่อแม่ขี้ยาในอพาร์ตเม้นท์สกปรกในย่านชุมชนแออัด เขตบร็องซ์ รัฐนิวยอร์กเมื่ออายุ 9 ขวบ เธอต้องหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการตระเวนขออาหารตามร้านชำขณะที่พ่อและแม่เสพโคเคนอยู่กับบ้าน
เมื่ออายุ 15 ปี พ่อย้ายเข้าไปอยู่สถานพักพิงสำหรับผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ส่วนแม่ตายเพราะติดเชื้อเอดส์ลิซกลายเป็นเด็กข้างถนน ไม่มีที่ซุกหัวนอน กลางคีบแอบงีบหลับบนม้ายาวในสวนสาธารณะ สถานีรถไฟใต้ดิน หรือโชคดีก็ได้นอนโซฟาบ้านเพื่อน
ในวันฝังศพแม่ ลิซยืนดูอยู่ห่าง ๆ ด้วยความอนาถใจ ร่างของแม่ถูกใส่ในโลงกระดานไม้อัด แม้แต่ป้ายหน้าหลุมศพก็เขียนด้วยปากกาเคมี เธอเริ่มครุ่นคิดถึงอนาคตของตัวเองบางคนอาจท้อแท้กับชีวิต บางคนอาจใช้เป็นข้ออ้างที่จะเลือกทำชั่ว แต่ลิซ เมอร์เรย์ ใช้ความล้มเหลวของพ่อแม่เป็นเครื่องเตือนใจ
ถ้าเธอใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย อนาคตของเธอคงไม่ต่างจากผู้ให้กำเนิด เธอตั้งปณิธานว่าเธอจะต้องสร้างชีวิตที่ดีกว่าด้วยตัวเอง
โชคดีที่ลิซคบเพื่อนสูงวัยที่ฉลาดคนหนึ่งซึ่งมองเห็นศักยภาพภายในตัวเธอ เขาใช้อุบายกระตุ้นพลังแห่งการเรียนรู้ด้วยการมอบสารนุกรมเก่า ๆ ชุดหนึ่งให้เป็นของขวัญ ลิซจะหยิบมันขึ้นมาพลิกดูภาพประกอบอย่างสนใจทุกครั้งที่มีเวลา อยากรู้ว่าตัวอักษรที่บรรยายใต้ภาพบอกอะไร
ต่อมาเพื่อนสูงวัยผู้นั้นยังซื้อตั๋วพาลิซไปทัวร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สิ่งที่ได้พบเห็นสร้างแรงบันดาลใจให้ลิซอยากเรียนหนังสือและตั้งความหวังว่าสักวันหนึ่งเธอจะต้องเข้ามายืนในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้ได้
หลังกลับจากทัวร์ ลิซตัดสินใจสมัครเข้าเป็นนักเรียนในโปรแกรมพิเศษสำหรับผู้ด้อยโอกาส เธอทุ่มเทเพื่อการเรียนอย่างมุมานะและบริหารเวลาอย่างเป็นระบบ เพราะต้องทำงานเลี้ยงชีพ พร้อมกับการลงวิชาเรียนเป็นสองเท่าของเพื่อนร่วมชั้น
เธอต้องทำถึงขนาดเอาหนังสือเรียนห้อยติดผนังและอ่านไปด้วยขณะรับจ้างล้างจาน ลิซตระหนักดีว่าการศึกษาเท่านั้นที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต ในเวลาเพียงสองปี ลิซสามารถสอบข้ามชั้นแบบก้าวกระโดด จนไล่ทันเพื่อนวัยเดียวกัน และอีกสองปีเธอจะจบไฮสกูลได้สำเร็จพร้อมจะเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย
ครูที่รับผิดชอบการเรียนของลิซเอ่ยชมว่าเธอเป็นนักเรียนที่ฉลาดและตั้งใจที่สุดเท่าที่เห็นมา
การเรียนจบไฮสกูลในสี่ปีเป็นความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ แต่ไม่ใช่บัตรผ่านประตูสู่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีชื่อเสียงก้องโลกถ้าดูพื้นฐานครอบครัว ประวัติการศึกษา และเงินออมที่เตรียมไว้เพื่อการศึกษา โอกาสที่คณะกรรมการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะคัดเลือกเธอเข้าเป็นนักศึกษาแทบจะเป็นศูนย์ แต่ลิซไม่ยอมแพ้ เธอสมัครชิงทุนการศึกษาทุกแห่งที่ทำได้
วันหนึ่งเธอได้ยินว่าหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส มีโครงการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนที่เรียนดี จำกัดเพียงหกทุนเท่านั้น โดยส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอจึงมุมานะเรียนหนักขึ้นเพื่อจะชิงทุน เป็นความฝันที่สูงมากสำหรับเด็กข้างถนน
การเรียนหนังสือโดยใช้ริมถนนนิวยอร์กเป็นโต๊ะเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย การชิงทุนการศึกษา นิวยอร์ก ไทม์ส ยิ่งยากเย็นแสนเข็ญโดยเฉพาะสำหรับเด็กด้อยโอกาสอย่างเธอ ต้องใช้ความมุ่งมั่นและกำลังใจแรงกล้าที่จะฝ่าอุปสรรคของประโยคที่ว่า “เรียนไปทำไม ยังไงก็ไม่มีอะไรดีขึ้น”
บ่อยครั้งเธอต้องนอนบนขบวนรถไฟสายบีจากเขต เดอะ บรองซ์, สถานีรถไฟ และสวนสาธารณะ แต่เธอไม่ทิ้งการเรียน บนถนนในนิวยอร์ก เธอมองเห็นผู้หญิงถือกระเป๋ากุชชี ชาแนล เดินผ่านวัยรุ่นที่สวมเสื้อผ้าสกปรกเที่ยวขอเศษเหรียญ ความแตกต่างทางชนชั้นถ่างกว้างเหลือเกิน
เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กวุ่นวายเกินกว่าจะมีใครก้มลงมองเด็กจรจัดข้างถนนคนหนึ่ง ในฤดูหนาวสภาพแวดล้อมยิ่งทารุณ เมื่อป่าคอนกรีตปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ไม่ใช่สวรรค์สำหรับคนจรจัดแน่นอน แต่เธอก็ยังฮึดสู้ต่อไป
เธอบอกว่า “ฉันต้องการมากเหลือเกินที่จะประสบความสำเร็จ เข้าฮาร์วาร์ด ได้เงินทุนจาก นิวยอร์ก ไทม์ส… สิ่งที่ต้องการคือความศรัทธานิดหน่อยและการลงมือทำ”
เมื่อเธอรู้สึกตัวอีกครั้ง เธอกำลังนั่งอยู่ในห้องพักของเธอที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่ออายุสิบเก้ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้เปิดประตูต้อนรับเด็กสาวจากกองขยะให้เข้าศึกษาต่อทางด้านจิตวิทยาคลินิก
ภายหลังเธอเล่าความรู้สึกยามนั่งในหอพักนักศึกษาวันนั้นว่า “…ความเปล่าเปลี่ยวเฆี่ยนตีฉันอย่างหนัก มันไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านที่ง่ายดายเลย”
อย่างไรก็ตาม เธอก็จำต้องหยุดเรียนพักใหญ่เมื่อพ่อตายระหว่างที่เธอเรียนฮาร์วาร์ด ก่อนจากโลกไป พ่อทิ้งโน้ตให้เธอว่า “พ่อทิ้งความฝันของพ่อไว้เบื้องหลังนานมาแล้ว แต่พ่อรู้ว่าความฝันเหล่านั้นปลอดภัยในมือลูกแล้ว” และเธอก็สานฝันของพ่อสำเร็จ
ระหว่างการศึกษา ลิซใช้เวลาว่างเดินทางไปบรรยายตามแหล่งสลัม เพื่อให้เด็กวัยรุ่นได้เห็นตัวอย่างว่า แม้จะเป็นเด็กจรจัดไร้ที่พักพิง ไม่มีเงิน กินอาหารจากกองขยะ ทุกคนอาจมีชีวิตที่ดีได้ถ้าตั้งใจจริง
• บทสรุป
ลิซ กล่าวว่าเธอไม่รับพรจากนางฟ้าองค์ใด ความสำเร็จเกิดจากการมีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง บวกกับความอุตสาหะ
อย่ามัวแต่มองคนอื่นและคิดว่าพวกเขาทำได้ เพราะเขามีบางอย่างเหนือคุณมนุษย์ทุกคนมีเท่ากัน เพียงจะใช้สิ่งที่มีให้เกิดประโยขน์เต็มร้อยหรือไม่ คุณต้องเชื่อว่าอนาคตอยู่ในกำมือของคุณ และคุณเป็นผู้กำหนดเอง
เธอบอกว่า “ฉันอยากให้คุณมองภาพกว้าง เราทุกคนเชื่อมโยงกัน มันเป็นวงจร ผู้คนสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตผู้คน ความฝันที่ปราศจากการเกื้อหนุนก็เหมือนเครื่องบินไร้ปีก… ฉันอยากให้วิสัยทัศน์ของฉันเป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในโลก”
เธอพยายามบอกให้คนอื่นหัดมองว่า ต่อให้ชีวิตทนทุกข์ทรมานเพียงไร จงอย่าสิ้นหวัง
“เมื่อทุกข์ทรมาน ฉันต้องมองว่าสิ่งต่างๆ สามารถที่จะไม่เหมือนเดิมได้ ฉันเริ่มไขว่คว้าคุณค่าของบทเรียนซึ่งฉันเรียนจากการอาศัยอยู่ตามข้างถนน”
ครั้งหนึ่งเธอพูดให้คนอื่นฟังว่า “เหตุผลที่ฉันกำลังยืนที่นี่ต่อหน้าพวกคุณในวันนี้ก็เพราะฉันเลือก ‘ทางสายบน’ ซึ่งเป็นทางสายที่ทุกคนเลือกได้”
คนบางคนสามารถสร้างชีวิตจากศูนย์ บางคนสร้างจากชีวิตติดลบ และบางคนไม่ยอมสร้างอะไรเลยจากสิ่งที่มีมากมาย บางทีความแตกต่างของทางสายบนกับทางสายล่างอยู่ที่การมองเห็นคุณค่าของชีวิตของตัวเองหรือไม่ ง่าย ๆ
พลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่ควรศรัทธาอันดับแรก...อยู่ในตัวคุณเอง
หมายเหตุ : ในปี 2003 ชีวิตของ ลิซ เมอร์เรย์ ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Homeless to Harvard
Credit : นิตยสารแพรว โดย สรจักร / winbookclub.com โดย วินทร์ เลียววาริณ