กำเนิดเสียงดนตรี
ดนตรี คือเสียงที่ประกอบกันเป็นทำนองเพลงที่ทำให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน หรือทำให้เกิดอารมณ์รักโศก หรือรื่นเริงได้ตามทำนองเพลงนั้น คำจำกัดความของดนตรีนี้ อาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ได้ให้ความหมายไว้เป็น 2 ประการ ดังนี้ ประการแรก คือ ดนตรี เช่น คำขับร้องที่เรียกว่า "Music of Voices" และ ประการที่สอง คือ วาทิตดนตรี ที่หมายถึงเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า ที่เรียกว่า "Music of Instrument" นั่นเอง
ที่มาของเสียงดนตรีนั้น ได้มีกล่าวไว้ในคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ ซึ่งเป็นคัมภีร์ใบลาน ที่กำหนดที่มาของเสียงดนตรี ทั้ง 7 คือ เสียง โด เร มี ฟา ซอล ลา ซี และกำหนดว่ามีที่มาจากเสียงร้องของสัตว์สำคัญ 7 ชนิด คือ นกยูง โค (วัว) แพะ นกกระเรียน นกกาเหว่า ม้า และช้าง ดังมีรายละเอียดดังนี้
เสียงที่หนึ่ง เสียงโด เป็นเสียงร้องของนกยูงที่เกิดจากเสียงหกเสียงมารวมกันเป็นเสียงเดียวคือ เสียงสุดท้าย ตัวอย่างเสียงร้องของนกยูงในเนื้อเพลง เขมรไทรโยคเที่ยวกลับท่อน 2 ".....เสียงนกยูงทองมันร้อง โด่งดัง หูเราฟัง มันร้องดัง กระโต้งห่ง มันดัง ก้อก (1) ก้อก (2) ก้อก (3) ก้อก (4) กระ (5) โต้ง (6) ห่ง" เสียง สุดท้ายนี้เกิดจากเสียงหกเสียงมารวมกันเมื่อนกยูงมันร้อง มักต้องร้อง ก้อกๆ เสียก่อนแล้วจึงจะร้อง ออกมาได้เป็นเสียง "ห่ง" ซึ่งกำหนด ให้เป็นเสียงที่ต่ำที่สุดในบรรดาเสียงดนตรีทั้ง 7 เสียง เรียกว่า ฉัธโช (ฉะ = หก โช = เสียง) ซึ่งตรงกับเสียงโด เหตุเพราะว่านกยูงเป็นนกขนาดใหญ่ มีขนงามเป็นสีเหลื่อมขนหางแววงาม และเป็นนกสำคัญทั้งในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ นับเป็นเสียงดนตรีที่สำคัญที่สุดในบรรดาเสียงดนตรีทั้ง 7 เสียง
เสียงที่สอง เสียงเร เป็นเสียงร้องของวัวตัวผู้ เหตุที่กำหนดให้เสียงของวัว (โค) เป็นเสียงที่สอง ก็เพราะโคเป็นสัตว์ที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ นอกจากนั้นในศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์ ถือว่าโคนั้นเป็นสัตว์สำคัญและเทิดทูนโค ซึ่งเชื่อกันว่าชาวกัมโพชมีต้นกำเนิดมาจากโค และใช้เป็นชื่อตระกูลว่า "โคตร" และถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฆ่ากินไม่ได้ ในศาสนาพราหมณ์นั้นก็มักใช้มูลโคเจิมหน้าผากเพื่อเป็นสิริมงคลอีกด้วย จึงกำหนดให้เสียงโคเป็นเสียงดนตรีที่สองตรงกับ Ri หรือ เร
เสียงที่สาม เสียงมี กำหนดให้ตรงกับเสียงร้องของแพะ เนื่องด้วยคนในแคว้นคันธาระมีเสียงเล็กแหลมคล้ายเสียงแพะ แคว้นคันธาระนั้นเป็นแคว้นใหญ่แคว้นหนึ่ง ในชมพูทวีป มีเมืองหลวงชื่อตักกสิลา มีชื่อเสียงแห่งวิทยาการ เสียงแพะเรียกว่า คันธาโร ซึ่งเขียนย่อว่า คะ (GA) ตรงกับเสียงมีดังกล่าว
เสียงที่สี่ เสียงฟา กำหนดให้เกิดจากเสียงร้องของนกกะเรียน เป็นเสียงที่อยู่ท่ามกลางของเสียงทั้ง 7 เสียง ที่เรียกว่า เสียงมัชฌิโม นกกะเรียนนั้นเป็นที่ทราบกันอยู่ว่านานๆ จะร้องออกมาสักครั้งหนึ่ง ชนชาติในแถบเอเชีย เช่น จีน และญี่ปุ่นถือว่านกกะเรียนเป็นนกมงคลอีกด้วย
เสียงที่ห้า เสียงซอล กำหนดให้เกิดจากเสียงร้องของนกกาเหว่า เรียกว่าเสียง ปัญจโม เนื่องจากนกกาเหว่ามีเสียงไพเราะมีความถี่ของเสียงสม่ำเสมอไม่ว่าจะได้ยินในระยะใกล้หรือไกลก็จะเกิดเสียงไพเราะทุกคราวไป
เสียงที่หก เสียงลา กำหนดให้เกิดจากเสียงร้องของม้า เรียกว่าเสียง แธวโต เสียงม้าร้องนับเป็นเสียงที่ขึ้นนาสิกในระดับสูง และเนื่องจากมนุษย์มีความคุ้นเคยกับ เสียงร้องของม้ามาแต่โบราณกาลแล้ว
เสียงที่เจ็ด เสียงซี กำหนดให้เกิดจากเสียงร้องของช้าง เรียกว่า เสียงนิสาโท เสียงช้างร้องนั้น เป็นเสียงที่สูงที่สุดเมื่อเปล่งเสียงออกมาเต็มเสียง มนุษย์เรานั้นถือ กันว่าช้างเป็นสัตว์สำคัญทั้งทางด้านกสิกรรมเกษตรกรรม และการศึกสงคราม เสียงนิสาโท หรือเสียงซีนี้ เป็นเสียงสุดท้ายและมีระดับเสียงที่สูงที่สุดในบรรดาเสียง ดนตรีทั้ง 7 เสียง
ที่มา"หนังสือดุริยางค์ดนตรีจากพระพุทธศาสนา" โดย อุดม อรุณรัตน์