
26 มิถุนายน พ.ศ.2362 : ดับเบิลยู. เค. คลาร์กสัน จูเนียร์ จดสิทธิบัตรจักรยาน
26 มิถุนายน พ.ศ. 2362 ดับเบิลยู. เค. คลาร์กสัน จูเนียร์ (W. K. Clarkson, jr.) จดสิทธิบัตร จักรยาน ซึ่งในสมัยนั้นเรียกว่า "velocipede” ที่มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่น่าเสียดายที่สิทธิบัตรชิ้นนี้สูญหายไปในคราวที่สำนักงานถูกไฟไหม้ จึงไม่ทราบว่าจักรยานของคลาร์กสันมีลักษณะอย่างไร ทั้งนี้ จักรยานเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสตศตวรรษที่ 18 และเริ่มแพร่หลายในคริศตศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดของจักรยานนั้นมีหลายสายความเชื่อ สายหนึ่งเชื่อว่า จักรยานเริ่มต้นที่ฝรั่งเศสในปี 2330 โดย Chevalier de Sivrac มีลักษณะเหมือนม้ามีล้อหน้า-หลัง ทำด้วยไม้ ผู้ขับขี่จะต้องใช้ประคองวิ่งไป อีกสายหนึ่งเชื่อว่า จักรยานคันแรกกำเนิดขึ้นในเยอรมนี เมื่อปี 2360 โดย Baron Darl de Drais de Sauerbrun เรียกว่า "Laufmaschine" แปลว่าเครื่องวิ่ง มีลักษณะคล้ายจักรยานปัจจุบัน คือมีล้อหน้า-หลัง มีคันบังคับเลี้ยว และมีที่ห้ามล้อ แต่ก็ต้องใช้เท้าประคองวิ่งเหมือนกัน Baron Darl de Drais de Sauerbrun จึงได้ชื่อว่าเป็น “บิดาของจักรยาน” มาจนทุกวันนี้ ขณะที่ชาวอียิปต์เชื่อว่า จักรยานพัฒนามาจากความคิดของบรรพบุรุษพวกเขา โดยมีภาพเขียนโบราณที่ขุดพบเป็นหลักฐานอ้างอิง ส่วน เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ก็เคยออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่มีลักษณะคล้ายจักรยานในปัจจุบัน ใช้วิธีทุ่นแรงด้วยโซ่และรอก ซึ่งก้าวหน้ามากในยุคนั้น และในปี 2382 จักรยานคันแรกซึ่งมีลักษณะสมบูรณ์ก็สร้างเสร็จ โดย เคิร์กแพทริก แม็คมิลแลน (Kirkpatrick Macmillan) ช่างตีเหล็กชาวสก็อต มีตัวถังหรือเฟรม (Frame) ทำด้วยเหล็ก ล้อหน้าหลังขนาดต่างกันหุ้มยาง มีบันไดสำหรับถีบ จากนั้นจักรยานก็ได้รับการพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ ในแถบยุโรป จนปัจจุบันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ทำให้จักรยานกลายเป็นพาหนะที่มีหลากหลายประเภท ทั้งรถจักรยานใช้งานทั่วไป “จักรยานถนน” หรือ “เสือหมอบ” (Rode Bike) "จักรยานเสือภูเขา” (Mountainbike) "จักรยานไฮบริด” (Hybrid Bike) "จักรยานทัวริง” (Touring Bike) "จักรยานแทนเด็ม” (Tandem Bike) ฯลฯ วัสดุในการผลิตก็มีอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ ไม้ไผ่ หวาย (ในเวียดนาม) เหล็กธรรมดา ๆ โครโมลี (Chomoly) อลูมิเนียม สแกนเดียม คาร์บอนไฟเบอร์ ไปจนถึง ไททาเนียม (Titanium) มีเกียร์ให้ใช้ถึง 30 เกียร์ คาดกันว่าทั่วโลกมีจักรยานไม่ต่ำกว่าพันล้านคัน นิยมใช้กันมากในประเทศแถบยุโรป อเมริกา และเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม