ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประเพณีผูกเสี่ยว, ประเพณีผูกเสี่ยว หมายถึง, ประเพณีผูกเสี่ยว คือ, ประเพณีผูกเสี่ยว ความหมาย, ประเพณีผูกเสี่ยว คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ประเพณีผูกเสี่ยว

เนื่องจากคนอีสานมีการคบกันอยู่สองระดับ คือ คบกันเป็นเพื่อนฝูงระดับธรรมดาทั่วไป เรียกว่า "เป็นหมู่กัน" และถ้าคบกันในระดับที่สนิทแนบแน่นเป็นพิเศษ มีความรักผูกพันจนถึงขั้นพึ่งพาอาศัยและตายแทนกันได้ เรียกว่า "เป็นเสี่ยวกัน"
 
การได้เป็นเสี่ยวกันนั้น ต้องผ่านขั้นตอนและพิธีผูกเสี่ยวก่อนจึงจะถือว่า "เป็นเสี่ยวแท้" อนึ่งการเป็นเสี่ยวกันนั้น เป็นได้ทั้งชายและหญิง เกิดจากความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน
 
ได้มีคำผะหยาบทหนึ่งกล่าวไว้ให้รู้ถึงสภาพการผูกมิตร และขยายมิตรภาพให้เป็นวงกว้างขวางออกไปของคนอีสานว่า "บ่มีผมให้ตื่มซ้อง บ่มีพี่น้องให้ตื่มเสี่ยวสหาย" แปลว่า ถ้ามีผมน้อยให้หาผมปลอมมาเสริม และถ้ามีพี่น้องจำนวนน้อยต้องผูกเสี่ยวหาสหายไว้เพิ่ม
 
ด้วยเหตุนี้ การผูกเสี่ยว จึงเป็นการเสริมขยายมิตรภาพให้กว้างขวางออกไปของคนในสังคม ยิ่งมีคู่เสี่ยวมากเท่าใดยิ่งทำให้ประชาชนในสังคมนั้นเกิดความรัก ความผูกพันและความเป็นพี่เป็นน้องกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เพราะพ่อแม่ลูกเมียและพี่น้องของเสี่ยวแต่ละคู่จะต้องรักใคร่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เปรียบประหนึ่งเป็นพี่น้องร่วมสายญาติกันทั้งสิ้น
 
ขั้นตอนของการผูกเสี่ยว มีดังนี้
 
ขั้นตอนที่ ๑
การหาคู่เสี่ยว ทำได้สองวิธีคือ
 
๑.คู่เสี่ยวคบหากันเอง เมื่อชายหรือหญิงที่มีรุ่นราวคราวเดียวกัน มีความสนิทสนมกัน รักและถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกัน ก็พร้อมใจตกลงจะเป็นเสี่ยวกันด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย จึงจัดพิธีผูกเสี่ยวเพื่อเป็นการประกาศให้ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงทั้งสองฝ่ายมาร่วมเป็นสักขีพยาน
 
๒.พ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่หาให้ วิธีนี้เกิดจากเมื่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ตลอดจนญาติผู้ใหญ่ไปพบบุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับลูกหลานของตน และมีอายุอยู่ในวัยเดียวกัน เกิดความรักความเอ็นดูจึงทาบทามขอผูกเป็นเสี่ยวให้ลูกหลานของตน ถ้าอีกฝ่ายตกลง ผู้ทาบทามจะใช้ฝ้ายสีขาวผูกมัดมั่นหมายไว้ก่อน ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "แฮกเสี่ยว" จากนั้นจึงจะหาโอกาสให้คู่เสี่ยวพบกัน แล้วจึงจะจัดพิธีผูกเสี่ยวให้ภายหลัง

 
คุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นคู่เสี่ยว
การหาคู่เสี่ยวไม่ว่าจะหาเองหรือพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่หาให้ ผู้ที่จะเป็นคู่เสี่ยวกัน ควรจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
๑.อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน
๒.มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน
 
๓.มีนิสัยใจคอคล้ายหรือใกล้เคียงกัน
 
๔.มีเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ได้
 
ขั้นตอนที่ ๒
 
 
พิธีผูกเสี่ยว จัดให้มีอุปกรณ์ในพิธีเช่นเดียวกันกับการสู่ขวัญ โดยจัด "ขันหมากเบ็ง" และมี "หมอสูดขวัญ" เป็นผู้ทำพิธีให้ คู่เสี่ยวต้องนั่งหมอบหันหน้าเข้าหาขันหมากเบ็ง ซึ่งอีกด้านหนึ่งหมอสูดขวัญจะนั่งทำพิธีเรียกขวัญ (เฮียกขวัญ) ซึ่งห้อมล้อมด้วยญาติพี่น้องและผองเพื่อนทั้งสองฝ่าย ที่มาร่วมพิธีเพื่อเป็นสักขีพยาน
 
หมอสูดขวัญ จะเริ่มพิธีโดยให้คู่เสี่ยวจุดเทียนที่ปักไว้ยอดขันหมากเบ็ง แล้วหมอจะนำไหว้พระจบแล้วหมอสูดขวัญจะกล่าวเชิญเทวดา จากนั้นจึงสวดคำสู่ขวัญจนจบ แล้วหมอสูดขวัญจะนำเอาข้าวเหนียวใส่มือให้คู่เสี่ยวคนละหนึ่งปั้น พร้อมไข่ต้มคนละฟอง กล้วยน้ำว้าคนละใบ และผูกแขน(ความจริงผูกที่ข้อมือ) ให้แก่คู่เสี่ยวเป็นครั้งแรก โดยใช้เส้นด้าย (หรือฝ้าย) ที่วางอยู่ในขันหมากเบ็งมาผูก ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "การผูกเสี่ยว" จากนั้นพ่อแม่พี่น้องรวมทั้งเพื่อนฝูงของแต่ละฝ่าย ก็จะผูกแขนให้คู่เสี่ยวพร้อมทั้งให้ศีลให้พรและบางคนก็ให้โอวาทแก่คู่เสี่ยว ให้ทั้งสองรักกันเกื้อกูลกัน ตลอดจนเคารพนับถือญาติของแต่ละฝ่ายจนตราบเท่าวันตาย ซึ่งตอนนี้เรียกว่า "ขอดเสี่ยว" เสร็จแล้วก็นำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูผู้มาร่วมพิธีผูกเสี่ยวทุกคน
 
ขั้นตอนที่๓
 
การปฏิบัติตนต่อกันของคู่เสี่ยว เมื่อได้เป็นคู่เสี่ยวกันแล้ว คู่เสี่ยวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนต่อกันดังนี้
 
๑.ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในกิจกรรมทุกอย่าง เมื่ออีกฝ่ายตกทุกข์ได้ยาก
 
๒.ให้ฮักแพงกันและเคารพนับถือญาติผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่าย เปรียบประหนึ่งเป็นญาติของตน
 
๓.ให้เป็นดองกัน กล่าวคือ ให้ลูกสาว ลูกชายของแต่ละฝ่ายแต่งงานกัน
 
๔.ร่วมเป็นร่วมตายทั้งในยามทุกข์ และยามสุข
 

ประเพณีผูกเสี่ยว, ประเพณีผูกเสี่ยว หมายถึง, ประเพณีผูกเสี่ยว คือ, ประเพณีผูกเสี่ยว ความหมาย, ประเพณีผูกเสี่ยว คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu