ประวัติ
นายชวน หลีกภัย เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ ที่ตำบลท้ายพรุ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
จบการศึกษาระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนตรังวิทยา จังหวัดตรัง แล้วเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนศิลปศึกษาแผนกจิตรกรรมและประติมากรรม (เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) และได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ สำเร็จเป็นนิติศาสตร์บัณฑิต เมื่อปี ๒๕๐๕ และสอบได้เนติบัณฑิตไทย ในสมัยที่ ๑๗ ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ ปี ๒๕๒๘ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี ๒๕๓๐
นายชวน หลีกภัย เริ่มงานอาชีพทนายความที่สำนักงานทนายความ ช.ชนะสงคราม หลังสำเร็จการศึกษาและเบนเข็มมาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดตรัง เมื่อปี ๒๕๑๒ ได้รับเลือกตลอดมาจนปัจจุบันรวม ๑๑ สมัย คือปี ๒๕๑๒, ๒๕๑๘, ๒๕๑๙, ๒๕๒๒, ๒๕๒๖, ๒๕๒๙, ๒๕๓๑, ๒๕๓๕ (๒สมัย), ๒๕๓๘, ๒๕๓๙ ในงานการเมืองเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาผู้แทนราษฎร
เริ่มด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมในปี ๒๕๑๘ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๑๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปี ๒๕๒๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปี ๒๕๒๔ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปี ๒๕๒๕ - ๒๕๒๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปี ๒๕๒๖ - ๒๕๒๙ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปี ๒๕๒๙ - ๒๕๓๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปี ๒๕๓๑ - ๒๕๓๒ รองนายกรัฐมนตรี ปี ๒๕๓๒ - ๒๕๓๓ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี ๒๕๓๓
นอกจากตำแหน่งทางการเมือง นายชวน หลีกภัย ยังเข้ารับตำแหน่งอื่นๆ อีกดังนี้ เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์พิเศษแผนกนิติเวช คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๕ พรรคการเมือง ๕ พรรค อันประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคมและพรรคเอกภาพ ได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้นายชวน หลีกภัย ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายชวน หลีกภัย ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๐ ของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๓๕ การดำเนินการตามนโยบายที่สำคัญที่รัฐบาลนี้เน้นเป็นพิเศษ (ในช่วงนั้น) ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ การกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและชนบท ซึ่งเน้นการกระจายรายได้กระจายโอกาส และกระจายอำนาจในการปกครองตนเองให้กับท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลซึ่งมีนายชวนหลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงปี ๒๕๓๕ ถึงกลางปี ๒๕๓๘ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของการดำเนินการตามนโยบายจัดหาที่ดินทำกินให้กับราษฎรให้เฉพาะกรณีการออกเอกสารสิทธิที่เรียกว่า ส.ป.ก. ๔ - ๐๑ ปัญหานี้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนในที่สุด ได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๘ ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ต่อมาเมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี ๒๕๓๙ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จนกระทั่งวิกฤติการณ์ด้านเศรษฐกิจ ทำให้พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้รัฐบาลของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ สิ้นสภาพลงด้วย
นายชวน หลีกภัย ในฐานะที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน โดยได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของประเทศไทยที่ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ ๒
ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายชวน หลีกภัย สิ้นสุดลง เนื่องจากมีพระบรมราชโองการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
สมัยที่ ๑
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๐ : ๒๓ กันยายน ๒๕๓๕ - ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๘
สมัยที่ ๒
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๓ : ๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ - ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓