ประวัติ
พลเอก สุจินดา คราประยูร เกิดเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๔๗๖ เวลาประมาณ ๐๓.๓๕ น. ที่จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายจวง กับนางสมพงษ์ คราประยูร สมรสกับคุณหญิงวรรณี คราประยูร (หนุนภักดี)
พลเอก สุจินดา จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนวัดราชบพิธแล้วได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนอำนวยศิลป์จนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๘ สอบเข้าเรียนเตรียมแพทย์ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนได้เพียงปีเดียว จึงไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร และเข้าเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า หลักสูตรเวสท์ปอยต์รุ่นที่ ๕ ตามลำดับ และได้จบหลักสูตรผู้บังคับกองพันทหารปืนใหญ่จากฟอร์ทซิลส์ รัฐโอคลาโฮม่า สหรัฐอเมริกา สำเร็จหลักสูตรเสนาธิการทหารบกรุ่นที่ ๔๔ เป็นอันดับที่ ๑ สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกาจากฟอร์ดลีเวนเวิร์ธ
พลเอก สุจินดา เริ่มเข้ารับราชการทหารตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานยศว่าที่ร้อยตรี เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๒๑ และก้าวหน้าในหน้าที่ราชการ ในตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เจ้ากรมยุทธการทหารบก ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการรองเสนาธิการทหารบก ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกถึงรองผู้บัญชาการทหารบก และวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๓๓ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จนเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๔ จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่งหนึ่ง ต่อจากพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ที่เกษียณอายุ
พลเอก สุจินดา เป็นบุคคลสำคัญในคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติที่เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ จนกระทั่งหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ พรรคการเมือง ๕ พรรค คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลและสนับสนุนให้พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี
พลเอก สุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๙ ของประเทศไทย เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๕ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่ง พลเอก สุจินดา ได้ถูกคัดค้านจากกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศขึ้น พลเอก สุจินดา จึงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยอิสระและเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไทยเป็นการชั่วคราว จนกระทั่งมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๘ ของรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร จึงพ้นจากตำแหน่งไปตามวาระ
ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
คณะรัฐมนตรี คณะที่ ๔๘
๗ เมษายน ๒๕๓๕ - ๙ มิถุนายน ๒๕๓๕