ดนตรี เป็นสิ่งสร้างสรรค์จรรโลงโลก เป็นมรดกของชนชาตินั้น ๆ ทุกชนชาติ ทุกภาษาย่อมมีดนตรีเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมันเอง บ้างก็เอาไว้ ขับกล่อม เอาไว้ผ่อนคลายความตึงเครียด ไว้เป็นสื่อเป็นตัวแทนในสิ่งต่าง ๆ เป็นหน้าเป็นตา ของเมืองนั้น ๆ และใช้ในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วย ซึ่งดนตรีมีวิวัฒนาการและสะสม ภูมิปัญญาของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีคลาสสิก ดนตรีแจ๊ส ดนตรีบ๊อบแม้กระทั่งดนตรีต่าง ๆ ในโลกนี้ก็ตาม ล้วนมาจากพื้นฐานทางดนตรีด้วยกันทั้งสิ้น ดนตรีจึงเป็นภาษาสากล ที่สามารถทำให้มนุษย์เราทุกชนชาติเข้าใจกันและกันได้ ผู้ที่สามารถเข้าใจดนตรีได้เป็นอย่างดี และลึกซึ้ง ย่อมได้เปรียบบุคคลอื่น ทั้งในด้านการคบหาสมาคมกับผู้อื่นและด้านสติปัญญา เพราะวิชาดนตรีสามารถกล่อมเกลาจิตใจคนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นดนตรีของชนชาติใด ๆ ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีคุณประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น
มนุษย์เราเริ่มแรกตั้งแต่มีชีวิตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบในรูปแบบต่าง ๆ นั้นสามารถผ่านเข้าสู่ระบบของร่างกาย โดยผ่านสื่อที่ซึมซาบเข้าสู่กระบวนการของสมอง ซึ่งตัวเราเองได้สัมผัสและเข้าใจได้โดยง่ายนั่นก็คือ เสียงดนตรี ดังคำที่ว่าดนตรีเป็นภาษาที่คนทั่วโลกเข้าใจได้ตรงกันมากที่สุด ดังนั้น ดนตรีจึงเป็นสื่อที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดตลอดจนความรู้ความบันเทิง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือสามารถขัดเกลานิสัยและ จิตใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ดนตรีจึงจัดเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสื่อสารในเชิงสร้างสรรค์ นับได้ว่าเป็นสื่อสากลที่สามารถติดต่อสื่อสารได้ในระดับที่กว้างขวางและลึกซึ้ง
จากอดีตจนถึงปัจจุบันชีวิตของมนุษย์เรามีความเกี่ยวพันกับดนตรีตั้งแต่แรกเกิดจนตาย ไม่ว่าจะเป็นดนตรีจากเพลงกล่อมเด็ก ดนตรีจากพิธีกรรมทางศาสนา ล้วนแต่มีความจำเป็นทั้งสิ้น ซึ่งมนุษย์ทุกเชื้อชาติทุกวรรณะสามารถฟังและเข้าใจได้โดยไม่ต้องอธิบาย ดนตรียังก่อให้เกิดอารมณ์คล้อยตาม เกิดความสบายใจ ผ่อนคลายความตึงเครียด นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่สะท้อนสังคมเป็นการแสดงออกทางศิลปะ และถ่ายทอดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคมออกมาในรูปของ บทเพลงทั้งทางตรงและทางอ้อม
ดนตรีจัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความละเอียดอ่อน งดงาม และมีคุณค่า ดำรงความเป็นเอกลักษณ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยเป็นที่ยอมรับ และเชื่อถือกันว่าดนตรีเป็นภาษาชนิดหนึ่งของมนุษย์ ชาติใดที่มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ก็มักจะมีดนตรีเป็นของตนด้วย เพราะดนตรีและเพลงร้องเป็นสิ่งที่พัฒนามากันกับภาษาพูดของแต่ละประเทศนั้น ๆ เครื่องดนตรีน่าจะมีลักษณะการเกิดในแนวเดียวกันคือ เริ่มต้นที่การตี เคาะ และการกระทุ้งหรือกระแทก ก่อให้เกิดจังหวะเป็นการเริ่มต้นของดนตรี นอกจากนั้นการเป่าจึงเกิดขึ้นตามมาเพราะคนเราต้องหายใจ จนแม้แต่การพูด การผิวปาก ก็คือการเป่าด้วย และการที่มนุษย์เราใช้ธนูในการล่าสัตว์ เพื่อหาเลี้ยงชีพ การดีดของธนูทำให้เกิดเสียงเป็นจุดเริ่มต้นของการหาวัสดุในการดีด ทำให้เป็นดนตรีหรือเสียงด้วย การตั้งสายที่สูงต่ำต่างกันออกไป จนเกิดเป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด จนเมื่อมนุษย์เราได้ยินเสียงกอไผ่เสียดสีกันเป็นเสียง จึงได้มีการพัฒนาสร้างคันชักสำหรับสีขึ้น ซึ่งก็กลายเป็นเครื่องดนตรีประเภทสีขึ้นมาในที่สุด
ดนตรีพื้นบ้าน ได้สะท้อนถึงขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี วัฒนธรรม สภาพความเป็นอยู่ ความอุดมสมบูรณ์ ความแห้งแล้ง โดยภาพสะท้อนเหล่านี้จะดูได้จาก สำเนียงเพลง บทเพลง ลักษณะของเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจน ซึ่งดนตรีของแต่ละภาคจะมีลักษณะโดยเฉพาะของตนเอง จะมีสำเนียงเพลง ภาษา เอกลักษณ์ และลักษณะเครื่องดนตรีแตกต่างกันออกไปตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เช่น ทางภาคเหนืออากาศหนาวเย็น และเงียบ คนทางภาคเหนือก็จะทำอะไรช้า ๆ แม้กระทั่งคำพูดคำจาของทางภาคเหนือก็จะช้า ๆ เนิบ ๆ พูดเสียงเบา ซึ่งเป็น ผลสะท้อนทำให้เครื่องดนตรีทางภาคเหนือนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่มีลักษณะการเล่นการบรรเลงอย่างช้า ๆ และเครื่องดนตรีก็มีเสียงค่อนข้างเบา ฟังดูเยือกเย็นและอ่อนหวาน ซึ่งมีผลสะท้อน ที่สอดคล้องเช่นเดียวกับภาษาที่ใช้ทางภาคเหนือ และแต่ละลักษณะของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของชนกลุ่มนั้น ๆ โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศเป็นเกณฑ์ และไม่มีขอบเขตที่ตายตัวและแน่นอน เครื่องดนตรีทางภาคเหนือมีลักษณะงดงาม เพราะคน ทางภาคเหนือมีเวลาที่จะประดิษฐ์คิดค้นรูปร่างของเครื่องดนตรีต่าง ๆ มากมาย
ดนตรีทางภาคอีสาน เนื่องจากทางภาคอีสานมีอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง เมื่อถึงเวลาหน้าฝนชาวอีสานต้องรีบทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนไม่มีเวลาที่จะสนุกสนาน มากนัก เครื่องดนตรีจึงไม่สวยงาม ประดิษฐ์ขึ้นอย่างง่าย ๆ และใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ในท้องถิ่น การบรรเลงก็รวดเร็วคึกคัก กระชับและสนุกสนาน แสดงถึงความเร่งรีบ
จากที่กล่าวมาข้างจึงเห็นได้ว่าดนตรีพื้นบ้านจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวโดย เกิดจากภูมิปัญญาของชนชาวอีสาน โดยลักษณะของเครื่องดนตรีจะเกิดขึ้นกับแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกันและได้มีการนำมารวมวงกันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นขอบเขตที่ชี้ลงไปอีกว่าสภาพภูมิประเทศภูมิอากาศแห้งแล้งหรืออุดมบรูณ์ โดยจะสังเกตเห็นได้จากการกำเนิดของเครื่องดนตรีแต่ละประเภท ตัวอย่างเช่น โหวด กำเนิดขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ชี้ให้เห็นถึงความแห้งแล้ง เพราะเสียงของโหวดเมื่อได้ฟังแล้วจะรู้สึกถึงความรันทด หดหู่ใจ และสอดคล้องกับสภาพของดินฟ้าอากาศที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล สภาพดินแตกระแหงแห้งแล้ง อากาศมีความร้อนสูง ยากแก่การเพาะปลูก เป็นเหตุที่ทำให้เครื่องดนตรีมีเช่นนี้ คือ การเข้าไปหาอาหารในป่า หรือ การล่าสัตว์จึงนำเอาไม้ไผ่ชนิดบาง ๆ มาตัดมีความสั้นยาวที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเสียงสูงเสียงต่ำ และนำมาเล่นในยามที่ว่างจากงาน หรือยามที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวอะไร
ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซึ่งประกอบด้วย เครื่องดีด สี ตี เป่า ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้
- เครื่องดีด ได้แก่ พิณ ไหซอง
- เครื่องสี ได้แก่ ซออีสาน
- เครื่องตี ได้แก่ โปงลาง กลองหาง
- เครื่องเป่า ได้แก่ แคน โหวด
ลักษณะของเครื่องดนตรีดังที่จำแนกข้างต้นนี้ ชาวอีสานได้นำมารวมวงและเล่นกัน ในยามว่างงาน และมีความสนุกสนานครื้นเครง ซึ่งเป็นการคลายเครียดอย่างหนึ่งของชาวอีสานที่ได้เสร็จจากการทำงาน
วงโปงลาง เป็นวงที่รวมเอาเครื่องดนตรีทางภาคอีสานมารวมกันไว้ในวงเดียวกัน ซึ่งมี จังหวะ ท่วงทำนอง ลีลา และสีสัน ของเพลงที่แตกต่างกันออกไปจากวงดนตรีชนิดอื่น ๆ โดยมีสัญลักษณ์โปงลางเป็นเอกลักษณ์ และเรียกตามโปงลางว่า "วงโปงลาง” ปัจจุบันการเล่นดนตรีโปงลางเป็นอาชีพมีให้เห็นอย่างมากมายและแพร่หลาย โดยเกิดจากการที่ว่างจากการทำงานจึงได้รวมตัวกันและก่อตั้งวงกันขึ้นมา ซึ่งทำให้มีรายได้เพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ไม่มากก็น้อย ผู้ที่เป็นพ่อและแม่ของชาวอีสานจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของดนตรีพื้นบ้านนอีสาน จึงได้มีการส่งเสริมให้บุตรหลานของตนเข้าเรียนดนตรีและช่วยผ่อนผันค่าใช้จ่ายทางครอบครัวหลังจากที่เสร็จจากการทำไร่ ไถ่นา
แถบภาคอีสานมีการเรียนการสอนดนตรีโปงลางกันเกือบทุกจังหวัด ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ศึกษาและสนใจ ในปัจจุบันมีแหล่งศึกษาสำคัญ ๆ กันอยู่ 2 แห่งใหญ่ ๆด้วยกัน คือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ในปัจจุบัน วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งอบรมสั่งสอนให้ ความรู้ด้านนาฏศิลป์ แก่กุลบุตรกุลธิดาของประชาชน ในจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง ดนตรีพื้นเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปงลางเป็นสาขาหนึ่งที่เน้นและส่งเสริมในเรื่องการเรียน การสอน และการอนุรักษ์เผยแพร่เก่าสาธารณะชนทั่วไป จนเป็นที่ยอมรับกันว่า ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานเป็นที่รู้จักเป็นที่ชื่นชม และเป็นที่รักหวงแหนควรแก่การที่จะดำรงรักษาไว้ให้เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติดังนั้น วงดนตรีโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จึงเป็นวงมาตรฐานที่คน ทั่วไปยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด โดยจะเห็นได้จากการที่มีบุคคลสำคัญมาเยือนจังหวัดกาฬสินธุ์ ทางราชการก็จะจัดให้มีการแสดงวงดนตรีโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ ให้คณะผู้มาเยือนได้ชมอยู่เสมอ สร้างความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง และนอกจากนี้
วงดนตรีโปงลางดังกล่าวยังได้เป็นตัวแทนของจังหวัดกาฬสินธุ์และของประเทศไทยไปแสดง เผยแพร่ในต่างประเทศ มากมายหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น ยุโรป เอเชีย และอเมริกา สร้างความ ชื่นชมให้ชาวต่างประเทศที่นิยมในการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองเป็นยิ่งนัก
ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษาวิจัยสนใจที่จะศึกษาประวัติดนตรีพื้นบ้าน “วงโปงลาง : วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์” และชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างในสมัยอดีตกับสมัยปัจจุบันเพื่อวิเคราะห์ถึงการวิวัฒนาการทางดนตรีที่ดีขึ้น หรือถดถอยลงเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขข้อดีและ ข้อเสียสำหรับการศึกษาและอนุรักษ์สืบต่อไป
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
1. เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
2. เพื่อศึกษาถึงลักษณะการบรรเลงรวมวงของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
3. เพื่อศึกษาถึงความแตกต่างของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. ทราบถึงประวัติความเป็นมาของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
2. ทราบถึงลักษณะการบรรเลงรวมวงของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
3. ทราบถึงความแตกต่างของวงโปงลางวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
ขอบเขตของการศึกษาวิจัย
ศึกษาเฉพาะวงโปงลางของวิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์
วิธีการดำเนินการวิจัย
1. ศึกษาจากหนังสือและเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี จำนวน 5 ท่านคือ
2.1อาจารย์ เปลื้อง ฉายรัศมี
2.2 อาจารย์ ทูลทองใจ ซึ่งรัมย์
2.3 อาจารย์ นิตยา รังเสนา
2.4 อาจารย์ ราชันย์ ฉายรัศมี
2.5 นางสาว นันทนาการ โกศลศาสตร์
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://ponglang.com/
https://sakamula.com/thesis.html