กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม รวมทั้งระบบการขนส่งที่ดี เหตุผลหลักที่เหล่านักท่องเที่ยวต่างพากันเลือกกรุงเทพฯ เป็นสถานที่แรกก็คือ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย และเหตุผลอีกประการ ที่ถือเป็นเสน่ห์ของเมืองไทยก็คือ ความเป็นกันเองของคนไทยรวมถึงวัฒนธรรมอันดีงาม คนไทยเป็นคนมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทังนี้เพราะได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว ทำให้คนไทยต่างนับถือกันและกัน อยู่ร่วมกันอย่างพี่น้อง และนี่ก็ทำให้นักท่องรู้สึกอบอุ่นใจและปลอดภัยเหมือนกันการได้อยู่ท่ามกลางญาติสนิทมิตรสหาย
คมนาคม
รถยนต์ กรุงเทพมหานครเป็นจุดเริ่มต้นของถนนหลักของประเทศไทย ได้แก่ ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1) ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3) ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4)
รถไฟ การเดินทางด้วยรถไฟสามารถทำได้ โดยมีสถานีรถไฟต้นทางสามแห่งคือ
- สถานีรถไฟกรุงเทพ (โดยทั่วไปคนนิยมเรียกว่า สถานีรถไฟหัวลำโพง) สำหรับเดินทางไปยัง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ตอนล่าง
- สถานีรถไฟธนบุรี สำหรับเดินทางไปยัง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันตก
- สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ สำหรับเดินทางเลียบปากอ่าวไทยไปยังปากน้ำท่าจีน และปากน้ำแม่กลอง
รถไฟฟ้ามหานคร หรือ รถไฟฟ้า BTS เป็นระบบการขนส่งที่รวดเร็วและปลอดภัย โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทางด้วยกันคือ เส้นทางสุขุมวิท (สถานีอ่อนนุช-สถานีหมอชิต) และเส้นทางสีลม (สถานีสะพานตากสิน-สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ) โดยราคาค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง 10-40 บาท และเพื่อความประหยัด นักท่องเที่ยวสามารถซื้อบัตรโดยสารประเภท 30 วัน ราคา 250 บาท (10 เที่ยว) หรือบัตร 1 วัน ราคา 100 บาท (ไม่จำกัดจำนวนเที่ยวและระยะทาง) สามารถใช้บริการของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว บีทีเอส ได้ที่สถานีสยาม สถานีนานา และ สถานีสะพานตากสิน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 - 20.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2617-7340
รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ รถไฟใต้ดิน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทางที่สะดวกและรวดเร็ว โดยมีจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีหัวลำโพง สิ้นสุดปลายทางที่สถานีบางซื่อ ผ่านทั้งหมด 18 สถานี และอัตราค่าโดยสารจะอยู่ระหว่าง 10-15 บาท (ในช่วงทดลองอัตราค่าโดยสาร) รถไฟฟ้ากรุงเทพเปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00-24.00 น.ของทุกวัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-2264-5200
รถโดยสารประจำทางของ ขสมก. มีไว้รองรับผู้ใช้บริการจำนวนมาก อีกทั้งยังมีราคาถูก คือตั้งแต่ราคา 7 บาทตลอดเส้นทาง รถโดยสารปรับอากาศ (สีน้ำเงิน) อัตราค่าโดยสาร ราคาเริ่มต้นจะเริ่มที่ 11 บาท ส่วนรถโดยสารปรับอากาศยูโร (เหลือง-ส้ม) ราคาเริ่มต้น จะเริ่มที่ 12 บาท รถโดยสารปรับอากาศไมโครบัสอัตราราคา 25 บาทตลอดเส้นทาง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 184 หรือ 0-2246-0973 นอกจากนี้แผนที่เส้นทางเดินรถสามารถหาซื้อได้จากร้านขายหนังสือทั่วไป ส่วนแผนที่กรุงเทพนั้นสามารถขอรับได้ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
รถโดยสารประจำทางหรือรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ สำหรับเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีสถานีหลักอยู่ที่
- สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ(จตุจักร) สำหรับเดินทางขึ้นเหนือ ไปภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
- สถานีขนส่งเอกมัย สำหรับเดินทางไปภาคตะวันออก
- สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ หรือ สถานีขนส่งสายใต้(พระปิ่นเกล้า) สำหรับเดินทางลงใต้ ไปภาคใต้ และภาคตะวันตก ในอนาคตอัน จะมีการย้ายการรับส่งผู้โดยสารจาก สถานีขนส่งสายใต้(พระปิ่นเกล้า) ไปยัง สถานีขนส่งผู้โดยสารบรมราชชนนี (กำลังก่อสร้าง) ตั้งอยู่ที่หัวมุมถนนบรมราชชนนี และ ถนนพุทธมณฑลสาย 1 แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน
รถแท็กซี่ รถแท็กซี่ที่ประจำอยู่ที่สนามบินและโรงแรมจะมีการกำหนดอัตราราคาที่แน่นอน ส่วนแท็กซี่ที่ให้บริการทั่วไปจะมีมิเตอร์เป็นตัวบอกระยะทางและค่าโดยสารโดยอัตโนมัติ ราคาเริ่มต้นที่ 35 บาท ในระยะ ในระยะ 2 กิโลเมตรแรก กิโลเมตรต่อไปจะราคา 4.50 บาท ไปจนถึง 10 กิโลเมตรแรก จากนั้น 20 กิโลเมตรขึ้นไป จะคิดกิโลเมตรละ 5.50 บาท (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรด้วย)
รถตุ๊กตุ๊ก มีชื่อเรียกทางราชการว่า รถสามล้อเครื่อง นิยมใช้ในการเดินทางในระยะที่ไม่ไกลมากนัก ค่าโดยสารนั้นผู้โดยสารสามารถตกลงต่อรองกันก่อนได้
เรือโดยสาร ในการเดินทางโดยเรือนั้น นักท่องเที่ยวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบถึงลักษณะของเรือประเภทต่างๆ เพื่อความสะดวกและการกำหนดระยะเวลาในการเดินทาง เส้นทางของเรือโดยสารที่แล่นในแม่น้ำเจ้าพระยาคือนนทบุรี-กรุงเทพฯ โดยเริ่มจากท่าน้ำนนท์ฯ และหมดระยะที่ท่าเรือสะพานตากสิน (สาธร)
เครื่องบิน การเดินทางทางอากาศ ปัจจุบันใช้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ โดยเปิดใช้เมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา03.00 น โดยก่อนหน้านั้น การเดินทางทางอากาศได้ใช้สนามบินดอนเมือง (สนามบินกรุงเทพ) ซึ่งเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ.2457
อาณาเขตและการปกครอง
กรุงเทพมหานครมีลักษณะเป็นเขตการปกครองพิเศษ (หนึ่งในสองเขต อีกแห่งคือ พัทยา) ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นนครหลวง มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้ง และเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารงาน อยู่ในตำแหน่งตามวาระคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง และมีการแต่งตั้งปลัดกรุงเทพมหานครร่วมบริหารงาน การดำเนินงานมีสภากรุงเทพมหานครที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงทำงานร่วมด้วย
เขตการปกครองในกรุงเทพมหานครแบ่งออกเป็น 50 เขตการปกครอง คือ พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ปทุมวัน สัมพันธวงศ์ บางรัก ยานนาวา สาธร บางคอแหลม บางซื่อ ดุสิต พญาไท ราชเทวี หัวยขวาง ดินแดง ประเวศ สวนหลวง จตุจักร ลาดพร้าว หนองจอก ลาดกระบัง ธนบุรี คลองสาน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางพลัด จอมทอง ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ หนองแขม พระโขนง บางนา คลองเตย วัฒนา บางเขน สายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางกะปิ วังทองหลาง บึงกุ่ม คันนายาว สะพานสูง มีนบุรี คลองสามวา ภาษีเจริญ บางแค บางขุนเทียน บางบอน ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา
อาณาเขต คือ ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสมุทรปราการ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครปฐม
ผู้ว่าราชการคนปัจจุบัน คือ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และปลัดกรุงเทพมหานครคนปัจจุบันคือ คุณหญิงณฐนนท ทวีสิน
ตราของกรุงเทพมหานคร เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ พระหัตถ์ทรงสายฟ้า ผู้ทรงออกตรานี้คือ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (สมัยเมื่อยังเป็นจังหวัดพระนครนั้นใช้ตราพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นตราประจำจังหวัด)
ต้นไม้ประจำกรุงเทพมหานคร คือ ต้นไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina)
คำขวัญของกรุงเทพมหานคร : ช่วยชุมชนแออัด ขจัดมลพิษ แก่ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์
ประวัติ
กรุงเทพฯ เดิมเรียกชื่อกันว่า เมืองบางกอก ครั้นต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นเมืองหลวงใหม่แทนกรุงธนบุรี โดยทรงประกอบพิธีตั้งเสาหลัก เมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 เสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2325 แล้วพระราชทานนามพระ นครนี้ว่า "กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์มหินทรายุ- ธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยะวิษณุกรรม- ประสิทธิ์" ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนนามตรงบวรรัตนโกสินทร์ เป็น "อมรรัตนโกสินทร์"
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514 รัฐบาลได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 รวมจังหวัดพระนครและธนบุรีเข้าด้วยกัน เรียกชื่อว่า "นครหลวง กรุงเทพธนบุรี" หลังจากนั้นได้มีประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 334 วันที่ 14 ธันวาคม 2515 ปรับปรุงการปกครองใหม่และ เรียกชื่อใหม่เป็น "กรุงเทพมหานคร" แต่นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า "กรุงเทพฯ" ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นศูนย์กลางทางด้านการปกครอง การคมนาคมขนส่ง การค้าพาณิชย์ การสื่อสาร ฯลฯ กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ 1,568.737 ตารางกิโลเมตร
สภาพภูมิอากาศ
ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมประจำฤดูที่พัดผ่าน แบ่งได้เป็น 3 ฤดูดังนี้ ฤดูฝน (พฤษภาคม-ตุลาคม) ฤดูหนาว (พฤศจิกายน-มกราคม) และฤดูร้อน (กุมภาพันธ์-เมษายน) โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด-สูงสุดประมาณ 25-35 องศาเซลเซียส
สถานที่ท่องเที่ยว
สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว พระที่นั่งอนันตสมาคม ตึกใบหยก 2 (ตึกระฟ้า สูงอันดับที่ 26 ของโลก) นอกจากนี้แหล่งชอปปิ้งต่างๆ ได้แก่ ตลาดนัดจตุจักร มาบุญครอง สยามสแควร์ เยาวราช และแหล่งร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ ถนนข้าวสาร พิพิธภัณฑ์ต่างๆในกรุงเทพ ได้แก่ ท้องฟ้าจำลอง นอกจากนี้ในกรุงเทพมหานครยังมีพื้นที่สีเขียวมากมาย สำหรับพักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งใช้ออกกำลังกายและพบปะสังสรรค์ ซึ่งได้แก่ สวนหลวง ร.9 สวนเบญจสิริ สวนลุมพินี สวนจตุจักร เป็นต้น
ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บริเวณ ถนนราชดำเนิน และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จะมีการจัดแต่งประดับไฟเพื่อเฉลิมฉลองอย่างสวยงาม