ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

จูหลิง ปงกันมูล, จูหลิง ปงกันมูล หมายถึง, จูหลิง ปงกันมูล คือ, จูหลิง ปงกันมูล ความหมาย, จูหลิง ปงกันมูล คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
จูหลิง ปงกันมูล

          นางสาว จูหลิง ปงกันมูล หรือ ครูจุ้ย บิดาชื่อ นายสุน ปงกันมูล มารดาชื่อ นางคำมี ปงกันมูล เป็นบุตรคนเดียว เกิดวันที่ 29 เดือน มีนาคม พ.ศ.2522 อายุ 27 ปี ภูมิลำเนาเดิม หมู่ที่ 10 ต.ปงน้อย กิ่ง อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย
 
ประวัติการศึกษา
- ระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านปงน้อย อ.แม่จัน จ.เชียงราย
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนปงน้อยวิทยาคม อ.แม่จัน จ.เชียงราย
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย
- ระดับอุดมศึกษา สถาบันราชภัฏลำปาง อ.เมือง จ.ลำปาง


ผลงานดีเด่นในการรับราชการ

          1. รับพระราชทานรางวัลข้าราชการดีเด่น สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประจำปี 2549 ของ กระทรวงมหาดไทย จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

          2. นางคำมี ปงกันมูล คุณแม่ของครูจูหลิง ปงกันมูล เข้ารับประทานรางวัลแม่ดีเด่น ประจำปี 2549 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2549 ของสมาคมสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

          3. ได้รับโล่จากสมาคมพัฒนาวิชาชีพครูศิลปะแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549

          4. ได้รับโล่จากสโมสรโรตารี่ธนบุรี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 จากสมาคมโรตารี่ธนบุรี

          5. ได้รับโล่คนดีศรีอาชีวะ ประจำปี 2549 จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นายจาตุรนต์ ฉายแสง) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549



ประวัติการรับราชการ-ปัจจุบัน

          นางสาวจูหลิง ปงกันมูล หรือ ครูจุ้ย เริ่มบรรจุเข้ารับราชการโดยการสอบแข่งขันได้ในตำแหน่งครูผู้ช่วยโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2548
 
          วันที่ 19 พฤษภาคม 2549 เวลาประมาณ 12.30 น. ชาวบ้านได้ปิดล้อมจับตัว ครูจูหลิง ปงกันมูล พร้อมครูสินีนาฏ ถาวรสุข เป็นตัวประกันและทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปช่วยเหลือนำตัวครูทั้งสองคนส่งโรงพยาบาลระแงะและได้ส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส แต่เนื่องจากครูจูหลิง ปงกันมูล มีอาการบาดเจ็บอย่างสาหัส จึงได้นำตัวส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
 
          จากการประเมินของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ครูจูหลิง ปงกันมูล มีบาดแผลขนาดใหญ่โดยรอบศีรษะและลำคอ มีรอยช้ำขนาดใหญ่ที่คอและด้านหลังตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีการแตกร้าวและยุบตัวของกะโหลกศีรษะ สมองบวมมาก มีรอยช้ำและเลือดออกที่ก้านสมอง ทางโรงพยาบาลรับตัวครูจูหลิง ปงกันมูล ไว้ดูแลอย่างใกล้ชิด ที่ห้อง ICU ได้ทำแผลและแก้ไขภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และพยุงสัญญาณชีพซึ่งยังไม่ปกติ ต้องใช้ยากระต้นหัวใจให้ทำงาน ใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา เนื่องจากไม่สามารถหายใจได้ ม่านตาขยายมากไม่ตอบสนองต่อแสง ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งว่าสมองไม่ทำงาน โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ระดมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง รักษาครูจูหลิงอย่างเต็มความสามารถ
 
          ครูจูหลิง ปงกันมูล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ รับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โรงพยาบาลได้ให้การรักษาพยาบาลครูจูหลิง ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2549 เนื่องจากอาการของครูจูหลิง ทรงตัวและพ่อแม่ร้องขอเพื่อดูแลและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด จึงได้ย้ายออกจากห้อง ICU ไปยังอาคารเฉลิมพระบารมีชั้น 12 ห้อง 1271 ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2549 และต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2549 ครูจูหลิง ปงกันมูล ได้รับการผ่าตัดสมองอีกครั้ง เนื่องจากแพทย์พบฝีในสมองเป็นจำนวนมาก กำหนดเดิมที่จะย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในต้นเดือนมกราคม 2550 จึงต้องเลื่อนออกไป ต่อมาในเวลา 16.15 น. ของวันที่ 8 มกราคม 2550 ครูจูหลิง ปงกันมูล ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ
 
          วันที่ 9 มกราคม 2550 ศพครูจูหลิง ปงกันมูล เคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์หาดใหญ่ไปยังวัดโคกนาว อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อรับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ต่อมาได้เคลื่อนย้ายโดยเครื่องบิน c 130 ของกองทัพอากาศจากกองบิน 56 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กลับสู่เชียงรายอันเป็นแผ่นดินเกิด ณ บ้านปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย
 
          ครูจูหลิง ปงกันมูล ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทรงติดตามถามอาการอย่างใกล้ชิดและพระราชทานความช่วยเหลือในทุกด้าน ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จเยี่ยมพระราชทางกำลังใจ เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่ได้ประโลมใจให้แก่ครอบครัวผู้สูญเสียและครูไทยทุกคน

ปิดฉากชีวิต ครูจูหลิง นางเอกของคนไทย

โดย ผู้จัดการออนไลน์
ณขจร จันทวงศ์
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

          วันที่ 29 มีนาคม 2522 นายสูน ปงกันมูล ต้องดีใจเป็นที่สุด เมื่อ นางคำมี ปงกันมูล ภรรยาผู้เป็นที่รัก ได้มอบของขวัญล้ำค่าให้แก่เขา เป็นลูกสาวตัวน้อยๆ ทำให้บรรยากาศในบ้านเลขที่ 114 บ้านปงน้อยใต้ ต.ปงน้อย กิ่งอำเภอดอยหลวง จ.เชียงราย อบอุ่นและเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ เธอกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำให้โลกของนายสูน และนางคำมี ผู้เป็นพ่อและแม่ มีความหมายและทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น พลันที่เห็นหน้าลูกสาวที่แสนน่ารัก นายสูน และนางคำมี นึกถึง “จุ้ยหลิน” นางเอกผู้เก่งกล้าในภาพยนตร์จีนกำลังภายในที่ทั้ง 2 ชื่นชอบ จึงไม่ลังเลที่จะนำชื่อนั้นมาปรับใช้และเรียกขานเป็นชื่อลูกสาวแต่นั้นเป็นต้นมา
       
          เด็กหญิงจุ้ย หรือ เด็กหญิง จูหลิง ปงกันมูล เป็นเด็กฉลาดช่างคิด ช่างสังเกต และชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจเลี้ยงดูลูกสาวคนเดียวคนนี้อย่างทะนุถนอม และส่งเธอเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลปงน้อย ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลดอยหลวง
       
          นายนิวัฒน์ หรรษา ครูโรงเรียนอนุบาลดอยหลวง ภูมิใจในตัวลูกศิษย์คนนี้มาก เพราะเธอเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนรวมทั้งยังมีพรสวรรค์ในเรื่องของกีฬา โดยเฉพาะวิ่งแข่งและวอลเลย์บอล ส่วนการวาดรูปนั้นเธอชอบเป็นชีวิตจิตใจ ขณะนั้นไม่มีใครรู้เลยว่า เธอเกิดมาเพื่อสิ่งนี้โดยเฉพาะ ศิลปะคือความสวยงามทั้งรูปธรรมและนามธรรม เด็กหญิงจูหลิง ตั้งใจว่า เธอจะมอบความสวยงามนี้ให้กับเพื่อนมนุษย์ทุกๆ คน
       
          หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เธอได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนปงน้อยรัฐมังคลาภิเษก หรือโรงเรียนดอยหลวงรัฐมังคลาภิเษก ในปัจจุบัน เธอยังคงตั้งใจเรียนสมกับที่พ่อและแม่ทุ่มเทแรงกายทำนาหาเงินส่งเสียให้เรียนหนังสือ โดยใฝ่ฝันว่าจะต้องเรียนให้ได้จนถึงชั้นปริญญาโท เพื่อจะได้ทำงานดีๆ มีเงินมาให้พ่อแม่ใช้ เมื่อทั้งสองแก่เฒ่า ชีวิตของหลายๆ คน ในช่วงนี้จะต้องพบกับการตัดสินใจในทิศทางของชีวิต ว่า จะเดินต่อไปอย่างไร หลังจากจบชั้นมัธยมปีที่ 3 น.ส.จูหลิง ปงกันมูล ก็ตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ในภาควิชาศิลปกรรม สาขาการออกแบบ ที่เธอชื่นชอบ
       
          ส่วนทางบ้านนั้น เมื่อหมดหน้าทำนา ผู้เป็นพ่อก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้กับห้างร้านในเมืองกรุง เพื่อนำรายได้ส่งเสียให้ลูกสาวได้เรียนและทำในสิ่งที่เธอฝัน ส่วนผู้เป็นแม่ก็รับงานทอผ้าหารายได้เสริมเป็นทุนรอนให้ครอบครัวในอีกทาง แรงกายแรงใจของทั้งสองก็ส่งผลให้ลูกสาวเพียงคนเดียวได้รับการเชิดชูให้เป็น “คนดีศรีอาชีวะ” ใน 8 ปีต่อมา
       
          หลังจากเรียนจบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 3 แล้ว เธอได้สอบเข้าเรียนต่อในโปรแกรมวิชาออกแบบประยุกต์ศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏลำปาง เธอได้ร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ นักศึกษาอย่างหลากหลาย ได้ไปเห็นโลกกว้าง ได้ซึมซับเอาความทุกข์และความสุขของเพื่อนมนุษย์ในที่ที่เธอเดินทางไป นำมาถ่ายทอดเป็นภาพเขียนศิลปะที่เธอชื่นชอบ แต่จะถ่ายทอดอย่างไรความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ก็ไม่ได้หมดไป โดยเฉพาะเด็กๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่มีครูไปสอนหนังสือ เธอจึงตัดสินใจเรียนคุรุศาสตร์บัณฑิตเพิ่มอีก 1 ปี และตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องไปเป็นคนหนึ่งที่เข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้

          หลังจากเรียนจบได้เป็นบัณฑิตสมใจ เธอก็เข้าสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู เธอสอบได้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งนั่นหมายถึงเธอมีสิทธิเลือกอย่างเสรีว่าจะไปสอนหนังสือที่ไหน และไม่มีใครคาดคิดว่าเธอจะตัดสินใจเลือกไปสอนหนังสือที่โรงเรียนเล็กๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่สีแดง พื้นที่แห่งความขัดแย้ง พื้นที่แห่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พื้นที่นั้นคือ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งข้อมูลของทางราชการระบุว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นมากที่สุดในรอบปี
       
          แต่จากข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ทำให้เธอพรั่นพรึงแม้แต่น้อย ตรงกันข้ามมันกลับยิ่งเป็นตัวเร่งให้เธอต้องไปที่นั่น เพราะเด็กๆ กำลังรอครูไปสอนหนังสือ ก่อนหน้านี้ เธอบอกว่า เธอชอบศิลปะของภาคใต้ ซึ่งก็หมายถึงเธอชอบชีวิตและจิตใจของภาคใต้ เธอรักภาคใต้ เธอบอกพ่อและแม่ว่าเธอเป็นผู้หญิง คงไม่มีใครทำร้ายผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอ แล้วเธอก็ไปสอนที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ในมือเธอมีดอกไม้ พร้อมที่จะมอบให้กับทุกคนที่นั่น
       
          ตลอดระยะเวลาที่สอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะแห่งนี้ น.ส.จูหลิง ปงกันมูล ทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านศิลปะให้กับเด็กๆ เธอได้ทำตามที่เธอฝัน ได้ทำให้เด็กๆ รู้จักความสวยงาม เธอไม่รู้เลยว่าเธอจะต้องอุทิศมันทั้งชีวิตและวิญญาณ เพื่อที่จะทำให้ผู้ใหญ่ที่นั่น และผู้ใหญ่ในที่อื่นๆ ได้รับรู้และเข้าใจด้วยว่า “ความสวยงาม” ของชีวิตนั้นเป็นอย่างไร
       
          วันนั้นเป็นเวลา 12.10 น.ตรงกับวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 ขณะที่ ครูจูหลิง กับ ครูสิรินาถ ถาวรสุข ออกพบปะผู้ปกครองนักเรียนในช่วงพักเที่ยง เพราะวันนั้นผู้ปกครองเด็กเล็กชั้นอนุบาลไม่ยอมส่งลูกหลานไปโรงเรียน ทั้งสองได้แวะกินข้าวในร้านตรงข้ามมัสยิดประจำหมู่บ้าน หลังจากกินข้าวเสร็จก็เกิดความผิดปกติขึ้นเมื่อมีกลุ่มชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ได้กรูเข้าจับตัวทั้งสองไปกักขังไว้ในที่อาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใกล้มัสยิด พร้อมกับมีการโรยตะปูเรือใบและตัดต้นไม้ขวางทางป้องกันการแย่งชิงตัวจากเจ้าหน้าที่
       
          ทั้งสองมารู้ภายหลังว่าสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านซึ่งเคยเป็นมิตรเปลี่ยนท่าทีมาเป็นศัตรู เนื่องจากช่วงเช้าวันนั้นมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง กว่า 100 นาย บุกเข้าตรวจค้นเป้าหมาย 10 จุด ในพื้นที่ ม.4 ต.เฉลิม อ.ระแงะ พร้อมกับจับกุม 2 ผู้ต้องหาไว้ได้ 2 คนแล้วนำตัวไปสอบสวน
       
          เหตุดังกล่าวทำให้กลุ่มแนวร่วมในหมู่บ้านได้ปลุกระดมให้ชาวบ้านรวมตัวเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวนายอับดุลการิม มาแต กับนายมูฮำหมัด สะแปอิง มือรี แกนนำกลุ่มโจรอาร์เคเคที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตามหมายจับคดีใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเจ้าหน้าที่ชุด รปภ.สถานีรถไฟบ้านลาโล๊ะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และรุมสังหาร 2 นาวิกโยธิน เพื่อแลกกับ 2 ครูสาวที่ถูกจับเป็นตัวประกัน
       
          แม้เธอและเพื่อนครูจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านค่อยๆ พูด ค่อยๆ จากัน แต่ดูเหมือนว่าไฟอารมณ์ เนื่องมาจากความไม่เข้าใจกันได้ลุกโชนขึ้นมาแล้ว คำพูดจากมิตรจึงไม่เป็นผล ประกอบกับมีคนยุยงจนชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงหลายสิบคน ฮือเข้ารุมทุบตีทำร้ายเธอและเพื่อนอย่างบ้าคลั่งอำมหิต แม้ทั้งสองจะอ้อนวอนก็ไม่เป็นผล มือที่เคยถือดอกไม้ จับชอล์ก และพู่กัน คู่นั้นของเธอเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด ภาพความสวยงามของชีวิตที่เธอใฝ่ฝันจะได้เห็น ถูกฉีกทิ้งอย่างไร้ความปรานี
       
          นายฮารง ยูโซ๊ะ ผู้ใหญ่บ้านที่รับการประสานกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปขอร้องให้ชาวบ้านหยุดการกระทำป่าเถื่อน แต่ก็สายไปเสียแล้ว เมื่ออารมณ์ความไม่พอใจทั้งหมดถูกโถมซัดเข้าใส่ร่างครูทั้ง 2 เธอถูกตีจนสมองกระทบกระเทือนไร้สติตั้งแต่บัดนั้น ก่อนถูกนำส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันต่อมา โดยเป็นคนไข้ในพระราชินูปถัมภ์ แห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยอาการป่วยของครูจูหลิง โดยให้ทีมแพทย์ถวายรายงานการรักษาให้ทรงทราบทุกวัน พร้อมกับได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือครอบครัวครูจูหลิงด้วย
       
          ตลอดระยะเวลาที่พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ครูจูหลิงได้รับกำลังใจมากมายจากทุกภาคส่วน แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เธอซึ่งอยู่ในสภาพเจ้าหญิงนิทราฟื้นขึ้นมามีสภาพปกติดังเดิมได้ ย่างเข้าเดือนที่ 8 ทีมแพทย์รายงานว่าสมองของครูจูหลิงไม่สามารถทำงานได้ 100% และหมดโอกาสที่จะฟื้นกลับมามีชีวิตตามปกติ
       
          จนกระทั่งเมื่อเวลา 16.15 น.วันที่ 8 มกราคม 2550 ท่ามกลางสภาพอากาศฝนฟ้าคะนองเหนืออาคารผู้ป่วยโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ครูจูหลิงในสภาพเจ้าหญิงนิทรา ไม่มีเจ้าชายมาจุมพิศ ไม่มีปาฏิหาริย์... เธอจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เพราะอวัยวะภายในล้มเหลวเฉียบพลัน แม้แต่ฟ้าก็ยังร่ำไห้ เพราะเสียดายที่มนุษย์ไม่เห็นค่าในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ฟ้าจึงต้องนำเธอกลับไปอยู่ในที่ที่เธอเคยจากมา โลกใบนี้โหดร้ายเกินไปสำหรับผู้หญิงตัวน้อยๆ อย่างเธอ
       
          แม้ใครจะออกมาบอกว่าเศร้าและเสียใจกับการจากไปของครูจูหลิงมากแค่ไหน แต่คงไม่เศร้าเท่ากับนายสูน และนางคำมี ปงกันมูล ผู้ให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ นี้ ครูจูหลิงจากไปโดยไม่มีโอกาสรับรู้ว่าเธอทำความฝันบางอย่างสำเร็จ ความฝันที่เธอต้องอุทิศทั้งร่างกายและวิญญาณ เธอทำให้คนอีกหลายล้านคนมองเห็นถึงความสวยงามของชีวิต เธอหลับเพื่อปลุกให้ทุกคนตื่น หลับให้สบายเถิดครูจูหลิง นางเอกผู้เก่งกล้าของชาวไทยทุกคน เราจะจดจำชื่อนี้ไว้ ตลอดไป

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
https://kroo.ipst.ac.th
www.hatyaicity.go.th
www.manager.co.th
https://photo.2capsule.com


จูหลิง ปงกันมูล, จูหลิง ปงกันมูล หมายถึง, จูหลิง ปงกันมูล คือ, จูหลิง ปงกันมูล ความหมาย, จูหลิง ปงกันมูล คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu