เมื่อได้ยินว่าการแพ้อาหารทำให้อ้วนได้ หลายคนคงอาจจะไม่เชื่อได้ว่าเป็นไปได้อย่างไรเพราะมีแต่ความรู้ที่ว่าการกินเยอะกินมากทำให้อ้วน แต่ไม่เคยได้ยินว่าความอ้วนจะเกิดจากการที่กินอาหารบางประเภทที่ร่างกายแพ้แล้วจึงทำให้อ้วน นี่คือคำตอบที่ว่าทำไมหลายคนพยายามที่จะลดอาหาร ไม่กินเยอะ ไม่กินข้าว ไม่กินขนม และพยายามทำอยู่หลากหลายวิธีแต่น้ำหนักก็ไม่สามารถลดลงได้
เมื่อพูดถึงคำว่าการแพ้อาหาร เรามักจะเข้าใจว่าเป็นอาการตอบสนองของร่างกายที่แสดงออกมาเช่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย เป็นผื่นหรือลมพิษขึ้นตามตัวหลังจากกินอาหารบางประเภทเช่น ถั่วลิสง ปลาทะเล อาหารทะเล ข้าวสาลี อาหารหมักดอง สารเติมแต่งในอาหารและสารถนอมอาหาร ซึ่งการแพ้ประเภทนี้จะอาศัยเวลาไม่นานไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่เกินหนึ่งวันก็จะแสดงอาการแพ้ออกมาให้เห็น แต่การแพ้อีกแบบหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้คือการแพ้ในระยะยาวคือต้องอาศัยเวลาช่วงหนึ่งอาจเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี จึงจะแสดงให้เห็นการแพ้ออกมา เช่นการแพ้อาหารแล้วทำให้อ้วนเป็นต้น
อาหารที่ทำให้เกิดการแพ้และส่งผลทำให้อ้วนที่พบบ่อยมากที่สุดคือนมและผลิตภัณฑ์ของนม โดยที่บางคนอาจบอกว่าไม่ได้ดื่มนมแต่ในความเป็นจริงของอาหารที่เรากินกันในปัจจุบันนี้มีส่วนผสมของนมอยู่มากไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบที่เป็นนมที่เห็นได้ชัดเช่น นมสด นมผง นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ไอศกรีม และอาหารที่มีส่วนผสมของนมเป็นส่วนประกอบเช่นขนมปัง ขนมประเภทเบเกอรี่ (มัฟฟิน เค้ก คุ้กกี้) ชีส เนย และช็อกโกแลต เป็นต้น โดยปกติแล้วในร่างกายของคนเราปกติจะมีแบคทีเรียทั้งที่ดีและไม่ดีอาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร โดยแบคทีเรียที่ดีจะทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ขับสารพิษออกจากร่างกาย สารที่มีอยู่ในนมจะไปทำปฎิกิริยากับแบคทีเรียในลำไส้โดยไปเร่งให้แบคทีเรียประเภทที่ไม่ดีก่อตัวเพิ่มมากขึ้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายขาดความสมดุลย์ และทำให้เกิดการอักเสบขึ้นภายในลำไส้และส่งผลให้ระบบการย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติไป ซึ่งทางการแพทย์สามารถตรวจสอบได้โดยการตรวจทางห้องปฎิบัติการจะพบว่าผู้ที่อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาก ๆ นั้นจะพบว่าค่าของเลือดที่เป็นตัวบ่งบอกการอักเสบของร่างกายมีค่าที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักปกติ
วิธีการทดสอบดูว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อ้วนจากการแพ้อาหารหรือไม่นั้น คือลองงดอาหารที่มีส่วนผสมของนมและผลิตภัณฑ์จากนมออกจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวันสัก 2-3 อาทิตย์ หากพบว่าน้ำหนักลดลงก็แสดงว่าร่างกายของคุณมีการแพ้อาหารประเภทนม จึงควรที่จะหลีกเลี่ยงหรือรับประทานแต่น้อย และศึกษาจากฉลากโภชนาการดูว่าอาหารที่เลือกซื้อมีนมเป็นส่วนผสมอยู่หรือไม่ โดยบางครั้งอาจไม่เขียนว่านมผง นมสด อาจอยู่ในชื่ออื่นเช่น แล็กโทส (lactose) เคซีน (casein) เวย์ (whey) ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงเช่นกัน
ขอขอบคุณ ผู้จัดการ Online /ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล
ที่มาข้อมูลและภาพ facebook.com/ProDenProfessional