การที่คนเราไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของตัวเองถือเป็นโรคด้วยหรือ?
ถ้าเป็นเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่นับเป็นโรคหรอกแต่บางคนเป็นเอามากๆ ขนาดต้องไปผ่าตัดหรือแก้ไขรูปร่างหน้าตาตัวเองซ้ำๆ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร แต่ก็ไม่พอใจสักที ทำให้ยิ่งเครียดหรือเศร้ายิ่งขึ้นบางคนถึงขั้นอยากตาย แบบนี้ถือว่าเป็นโรคทางจิตเวชเรียกโรคนี้ว่า Body Dysmorphic Disorder หรือเรียกว่า Body Dysmorphia ก็ได้
โรคนี้เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่นกับรูปลักษณ์ของตนเอง คิดไปเองว่าน่าเกลียด ไม่น่าดู ระแวงว่าคนอื่นๆ จะไม่ชอบเขา รังเกียจเขา ทำให้เขาสูญเสียโอกาสและความมั่นใจมาก บางคนถึงขั้นหลีกหนีสังคมและระแวงผู้คน ไม่มีความสุขในชีวิตเลย อาการเด่นชัดอย่างหนึ่งก็คือเขาจะชอบส่องกระจกมากส่องบ่อยๆ ครั้งละนานๆ และไม่มีความสุขเลยเพราะในขณะส่องกระจกเขาก็จะพยายามหาคำยืนยันว่ารูปร่างหน้าตาเขาไม่น่าดูจริงๆ
โรคนี้พบได้ทั้งชายและหญิง แต่พบในหญิงได้มากกว่ามักกังวลเรื่องใบหน้า โดยเฉพาะขนาดของจมูก คาง หูรองลงมาก็ เรื่องผม หน้าอก อวัยวะเพศ
ในผู้หญิงที่เป็นโรคนี้มักจะไปปรึกษาและรักษากับแพทย์ผิวหนัง ทันตแพทย์ หรือหาหมอศัลยกรรมตกแต่งเพื่อผ่าตัดส่วนที่เขาคิดว่าไม่สวย แต่แม้จะทำอย่างไรก็ไม่พอใจอยู่ดี บางรายทำผ่าตัดซ้ำๆ ทำให้ได้รับผลข้างเคียงหรือผลลัพธ์ออกมาน่าเกลียดมากขึ้นก็มี
สิ่งที่เขานิยมทำการผ่าตัดเช่น Face Lift ตัด-เสริมจมูก เสริมเต้านม ผ่าตัดเปลือกตา ผ่าตัดใบหู ผ่าตัดกราม-ฟัน ผ่าตัดเอาไขมันหน้าท้องออก รวมทั้งการฉีดยาหรือใช้เลเซอร์หลายๆ อย่างซ้ำๆ แต่แม้จะทำหลายๆ อย่างหลายๆ ครั้งก็ยังไม่พอใจอยู่ดี และไม่มีความสุข
พวกนี้มักไม่มาพบจิตแพทย์หรอก เพราะเขาไม่คิดว่าเขามีปัญหาทางจิต แต่เขาคิดว่าปัญหาของเขาคือ การที่เขามีรูปร่างหน้าตาไม่ดี เขาจึงไม่พอใจและอยากแก้ไขโดยวิถีทางต่างๆ ส่วนใหญ่แพทย์ที่รักษาเขาจะแนะนำมาหาจิตแพทย์ หรือญาติที่เข้าใจก็จะพามา
พวกนี้จะต่างจากพวกมีบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) เพราะพวกหลงตัวเองจะหลงคิดว่าเขาสวยหรือหล่อเหลือเกิน ทั้งๆ ที่แลดูปกติธรรมดา ถ้าจะทำศัลยกรรมตกแต่งบ้างก็ไม่กังวลซ้ำซากและไม่ทุกข์เท่าผู้ป่วยโรคดังกล่าว กลับรู้สึกเป็นสุขด้วยซ้ำ
ผู้ป่วยด้วยโรคนี้มักพบร่วมกับอาการทางจิตเวชอื่นๆด้วย เช่น โรคซึมเศร้า วิตกกังวล จิตเภท หรือโรคกลัวสังคม (Social Phobia) ย้ำคิดย้ำทำ ระแวง ฯลฯ บางคนถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพราะทนรับสภาพความคิดที่ผิดปกติของตนเองไม่ได้ในเรื่องการรักษานั้น คนไข้ต้องพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและแยกโรคให้ถูกต้อง
การรักษามีทั้งการใช้ยาร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavior Therapy) หลายคนอาการดีขึ้นบทความวันนี้คงจะทำให้คนที่หมกมุ่นกับการอยากแลดูสวย (หล่อ) และไม่เคยพอใจตัวเองสักที จนเกิดเป็นความทุกข์เรื้อรัง ได้ใส่ใจตัวเองหรือหาทางรักษาทางจิตเวชเสีย ไม่ใช่จะผ่าตัดทั้งตัวเพื่อให้ได้รูปร่างสวยงามดังใจนึก ญาติก็ต้องรับรู้ เข้าใจ และเห็นใจด้วย
ที่มาข้อมูล vcharkarn.com/varticle/43642