การปะทะอารมณ์
เมื่อมีความโกรธแล้วคุณเรียนรู้ที่จะยับยั้งอารมณ์โกรธได้ก็คงจะเป็นเรื่องดี แต่โชคร้ายที่หลายๆ สถานการณ์นั้นมีคนตกอยู่ในภาวะอารมณ์โกรธสองคนหรือมากกว่านั้น
ความจริงแล้วเมื่อมีคนโกรธมากกว่าหนึ่งคน วิธีที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการปะทะอารมณ์ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หลีกเลี่ยงการสาดใส่อารมณ์เข้าหากัน
แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์ใดก็ตาม ขอให้เราเป็นฝ่ายตั้งสติยับยั้งอารมณ์โกรธไว้ ปิดปากของเราให้สนิท อย่าพูดจาใดๆ ก็ตามที่ภาวะอารมณ์โกรธนั้นสั่งให้พูดออกไป
เราจะต้องเป็นฝ่ายยอมให้ผู้ปะทะอารมณ์ของเราแสดงความเห็นและความรู้สึกต่างๆ ออกมาให้หมด อย่าไปเถียง อย่าไปค้านไปแทรกแซงเขา เมื่ออีกฝ่ายระบายความโกรธออกมาเราสามารถไถ่ถามได้บ้างบางคำ เพื่อซักไซ้ถึงความรู้สึกของเขาและแน่นอนว่าในที่สุดเมื่อเขาพูดจนหมดโดยที่เราไม่คิดโต้แย้งเลยนั้น อาจจะทำให้เขาคลายความโกรธได้เร็วยิ่งขึ้น และยังทำให้เราได้รู้ถึงความรู้สึกและความคิดในด้านต่างๆ ของเขาอีกด้วย
เมื่อปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามแสดงอารมณ์โกรธและพูดออกมาให้มากที่สุดแล้ว เราต้องพยายามประคองระดับอารมณ์ของเราให้เยือกเย็นลง อย่าคิดยั่วยุให้เขาโกรธเพิ่มขึ้นเด็ดขาด แทนที่จะกระตุ้นให้เขาโกรธยิ่งขึ้น เราสามารถตำหนิเขาอย่างตรงไปตรงมาโดยปราศจากอารมณ์ได้ว่า เขากำลังพูดซ้ำอยู่เรื่องเดียวโดยไม่เข้าประเด็นสักทีว่าเขาต้องการอะไร
เราสามารถเตือนฝ่ายตรงข้ามได้ว่าให้ใช้เหตุผล ให้พูดในสิ่งที่อยากพูด อย่าใช้อารมณ์ อย่าขุดเรื่องเก่ามาพูด การตักเตือนเขาโดยปราศจากอารมณ์เช่นนี้อาจจะทำให้การปะทะกันด้วยอารมณ์โกรธกลายเป็นการโต้แย้งและถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล และคลายความรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้
เคล็ดลับสำคัญในข้อนี้คือ อย่าปะทะอารมณ์กันด้วยความโกรธ อย่าโต้แย้งเมื่อเขาพูดได้เพียงไม่กี่คำ อย่าแทรกแซง อย่ายั่วยุ แต่จงฟังอีกฝ่ายให้จบ ขณะที่ควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองไว้แล้วก็พูดจากันต่อไปด้วยเหตุด้วยผลมากขึ้นและลดอารมณ์โกรธให้น้อยลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือเทคนิคบริหารอารมณ์ โดยเกรียงชัย เหรียญวิริยะกุล
ที่มาข้อมูล villagefund.or.th
ที่มารูปภาพ bloggang.com