![ประเพณีถวายสลากภัต](https://s.isanook.com/gu/0/ui/1/8479/263769__31052012041936.jpg?ip/crop/w300/q90/webp)
จุดประสงค์เดิมของประเพณีนี้ คือ การถวายอาหารแด่ภิกษุโดยวิธีการจับสลาก ใช้ในกรณีที่หาอาหารได้ยาก แต่ปัจจุบันแม้จะมีอาหารสมบูรณ์แล้วก็ยังนิยมทำบุญตามประเพณีอยู่ ผลที่ปรากฏคือคนมาร่วมงานทำบุญกันมาก เป็นงานบุญที่รวมคนได้เป็นอย่างดี ได้เห็นฝีมือการตกแต่งต้นสลากภัตที่สวยงาม เป็นการอนุรักษ์ช่างฝีมือพื้นบ้านและชาวบ้านได้สนุกสนานร่วมกัน
ความสำคัญ
เพื่อให้ภิกษุได้มีอาหารฉัน มีกำลังเพื่อการปฏิบัติธรรมวินัย
พิธีกรรม
ความเป็นมาของประเพณีนี้คือ สมัยหนึ่งครั้งพุทธกาลได้เกิดทุพภิกขภัย ชาวบ้านหาอาหารมาถวายพระได้ยาก จึงทูลพระพุทธเจ้าว่าหากมีอาหารจำนวนน้อยไม่เพียงพอที่จะถวายอาหารแด่ภิกษุได้ครบทุกรูปจะถวายโดยให้ภิกษุจับสลากจะได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต จึงเกิดมีประเพณีถวายอาหารแด่ภิกษุโดยวิธีการจับสลาก กรรมวิธีการจัดทำอาจต่างกันตามท้องถิ่น (ภาคเหนือเรียกว่าตานก๋วย, ภาคอีสานเรียกบุญข้าวสาก) แต่มีหลักอยู่ที่การถวายโดยให้ภิกษุจับสลากก่อน ภิกษุรูปใดจับสลากได้ของผู้ใดก็รับอาหารจากผู้นั้น บางแห่งนิยมทำในฤดูกาลที่มีผลไม้ดกและสุก นำมาถวายเป็นสลากภัต ที่นิยมทำในท้องถิ่นสระบุรีคือ สานกระจาดใหญ่ด้วยไม้ไผ่ ประดับกระดาษให้สวยงามนำอาหารหรือเครื่องสมณอุปโภคบริโภคใส่ลงในกระจาดนี้ หากมีฝีมือยิ่งขึ้นไปก็อาจนำไม้ยาวประมาณ ๖ เมตร มาปักกลางกระจาด ทำเป็นฉัตรหลายชั้นขึ้นไปตกแต่งสวยงาม เมื่อถึงวันงานที่กำหนดก็นำกระจาดหรือต้นสลากนี้ไปรวมกันที่วัด นิมนต์พระมาเทศน์อานิสงส์ จบแล้วกล่าวคำถวายสลากภัตและให้ภิกษุจับสลาก ภิกษุจับได้สลากของผู้ใดก็ลงไปรับการถวายที่กระจาดหรือต้นสลากของผู้นั้น ให้พรและเจ้าภาพก็กรวดน้ำ ศิษย์วัดก็นำสลากภัตนั้นกลับวัดของตน
แหล่งที่มา : วิกิพีเดีย