รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยคนนั่งภายในรถยนต์เสี่ยงได้รับพิษแร่ใยหิน จากการใช้งานเบรคและครัชของรถ
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่มีการเหยียบเบรคหรือครัชองรถยนต์ ผู้ที่นั่งอยู่ในรถจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอักเสบ มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งเยื่อบุช่องท้อง มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่ รวมถึงโรคทางระบบหายใจ โรคผิวหนัง และอาการผื่นคัน
ทั้งนี้ เพราะเบรคและครัทช์ผลิตขึ้นจากแร่ใยหิน และแร่ใยหินจะทำอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มากที่สุดเมื่อถูกทำให้เกิดฝุ่น ดังนั้นทุกครั้งที่มีการเหยียบฝุ่นแร่ใยหินจะฟุ้งกระจายในอากาศและเข้าสะสมในร่างกายจนทำให้เกิดโรคได้ในที่สุด
นพ.นพพร กล่าวว่า แร่ใยหินมีความอันตรายขั้นร้ายแรงจนกระทั่งกว่า 50 ประเทศทั่วโลกต้องประกาศยกเลิกใช้อย่างสมบูรณ์ ส่วนในประเทศไทยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา รับรองยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินแล้ว
"แม้จะเป็นวัตถุอันตรายและห้ามนำเข้าแต่ไทยยังคงเป็นประเทศอันดับ 3 ในเอเชียที่ใช้แร่ใยหินมากที่สุด รองมาจากจีนและอินเดีย จึงขอให้รัฐบาลจริงจังต่อปัญหานี้และปฏิบัติตามมติดังกล่าว" นพ.นพพร กล่าว
นางมัวรีน เบอร์มิ่งแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่สัมผัสกับแร่ใยหินไม่ว่าในปริมาณเท่าใดก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โดยทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตหลายพันคนจากสาเหตุเพียงแค่สัมผัสกับแร่ใยหินผ่านวัสดุก่อสร้าง
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศจุดยืนต่อแร่ใยหินร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้แก่
- หยุดการใช้แร่ใยหินทุกชนิดไม่ว่าจะมากจากแหล่งใด
- สนับสนุนให้ใช้วัสดุทดแทนที่ปลอดภัยกว่า
- ป้องกันการสัมผัสกับแร่ใยหินที่มีอยู่เดิมและในระหว่างการรื้อทิ้งด้วยการวัดค่าละอองแร่ใยหินในอากาศซึ่งต้องควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้
- ยกระดับการตรวจวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูเยียวยาทางสังคมและการแพทย์ให้กับผู้ป่วยเนื่องจากแร่ใยหิน ตลอดจนจัดทำระบบทะเบียนผู้ที่เคยหรือในปัจจุบันต้องสัมผัสกับแร่ใยหิน