'ปวดหัวเรื้อรัง' สัญญาณอันตรายโรคเนื้องอกในสมองแม้ว่าอุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมองทั่วโลก จะมีอยู่เพียง 16คน ต่อประชากร 100,000คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับเนื้องอกที่เกิดขึ้นกับอวัยวะอื่นๆ แต่ด้วยการดำเนินโรคที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่มีอาการบ่งชี้ชัดเจนในระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยเนื้องอกในสมองส่วนใหญ่มักรู้ตัวและไปพบแพทย์ในขณะที่เนื้องอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่แล้ว การรักษาจึงทำได้ด้วยความยากลำบากและอาจไม่ได้ผลดีนัก
รศ.นพ.ดร.ยศ นวฤทธิ์โลหะ ศัลยแพทย์ระบบประสาท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า เนื้องอกในสมองอาจไม่ใช่เนื้อร้ายเสมอไป แต่ถ้าปล่อยไว้โดยไม่รักษา มันก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นจนกดแกนสมอง ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกันไปตามแต่ตำแหน่งของการเกิดเนื้องอก ตั้งแต่อาการหน้าชา ตาเหล่ ปากเบี้ยว ทรงตัวลำบาก แขนขาอ่อนแรง มีปัญหาเรื่องการมองเห็น การพูด การได้ยิน หรือมีพฤติกรรมการรับรู้และระดับความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไป ในบางรายที่เนื้องอกเข้าไปอุดตันทางเดินของน้ำในสมองก็จะมีอาการปวดหัวรุนแรงจนถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้
ปัจจุบันแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกในสมองได้ ยกเว้นในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในตำแหน่งอื่นแล้วมีการกระจายของมะเร็งมาที่สมองทางกระแสเลือด หรือเนื้องอกในสมองบางชนิดที่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นสาเหตุจากปัจจัยทางพันธุกรรม มีประวัติการได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ หรือฮอร์โมนเพศ
"เรารู้แค่ว่าเนื้องอกในสมองเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ และจากการศึกษาพบว่าสาเหตุกว้างๆ มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสารพันธุกรรม หรืออาจเป็นผลจากสภาพแวดล้อม ซึ่งการที่ยังไม่รู้สาเหตุนี้เอง จึงเป็นเรื่องยากสำหรับการตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรกๆ โดยมากผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ก็มักมีอาการบ่งชี้บางอย่าง อันเป็นผลจากการที่เนื้องอกเติบโตจนไปกดทับเส้นประสาทบางส่วนแล้ว ถึงจุดนั้นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือ ต้องผ่าตัดเท่านั้น"
ความพิเศษอย่างหนึ่งของการรักษาเนื้องอกในสมอง คือเราต้องใช้วิทยาการทางการแพทย์ทุกอย่างที่มีร่วมกัน ตั้งแต่บุคลากร ซึ่งหมายถึงศัลยแพทย์และทีมงานต้องมีความสามารถสูง และรู้สถานการณ์เท่าทันกันตลอดการผ่าตัด ประกอบกับเครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเพื่อกำหนดตำแหน่งของเส้นประสาทที่อยู่ในก้อนเนื้องอก ซึ่งทำให้แพทย์ลงมือผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ"
ถึงแม้การสังเกตอาการของเนื้องอกในสมองจะทำได้ยาก แต่ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญ ซึ่ง รศ.นพ.ดร.ยศ ทิ้งท้ายว่า ส่วนที่ไม่ใช่เนื้อร้าย อาการบ่งชี้จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ว่าเป็นเนื้องอกชนิดใด โดยทุกชนิดเริ่มต้นที่อาการปวดหัว ซึ่งอาจเป็นร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น อาเจียน ตามัว หูดับ แขนขา อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก
"ลักษณะเฉพาะที่สำคัญที่สุดของเนื้องอกในสมองจะมีเพียงประการเดียวเท่านั้นคือ การปวดหัวเรื้อรัง โดยเฉพาะช่วงเวลาตื่นนอน แล้วอาการจะรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวันโดยที่ยาแก้ปวดก็ไม่ทำให้ดีขึ้น ดังนั้น ใครที่มีอาการปวดหัวติดต่อกันเกินหนึ่งสัปดาห์โดยหาสาเหตุไม่ได้ ควรรีบไปพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อสแกนสมองอย่างละเอียด แล้วรีบรักษาในขณะที่ ก้อนเนื้องอกยังมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก"
แหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/28168