ท่ามกลางอากาศที่ร้อน และแสงแดดที่แผดเผาเปรี้ยงๆ ซึ่งอาจทำให้หลายคนตาลายเมื่อต้องออกจากที่ร่มไปเผชิญหน้ากับแสงแดดและอุณหภูมิที่สูงลิบในช่วงเที่ยงวัน ซึ่งผลที่ตามมาก็อาจทำให้หลายคนมีสภาวะขาดน้ำเมื่อตากแดดนานๆ โดยไม่ได้รับการชดเชยน้ำที่สูญเสียไป จนถึงขั้นเป็นโรคลมแดด หรือที่เรียกว่า ฮีทสโตรก ซึ่งเป็นอันตรายที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีและในเวลาที่ทันท่วงที
การระมัดระวังไม่ตากแดด ไม่อยู่ท่ามกลางแดดจ้านานๆ หรือไม่อยู่ในสถานที่ที่อบอ้าว ไม่มีอากาศถ่ายเทก็สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคลมแดดได้ส่วนหนึ่ง และอีกวิธีที่จะลดความเสี่ยงก็คือการทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอโดยการออกกำลังกาย
"การออกกำลังกายเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดอยู่แล้ว การออกกำลังกายไม่ว่าอย่างไรก็ดีต่อสุขภาพทั้งนั้นเพราะทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่การจะเป็นลมแดดหรืออาการอ่อนเพลียต่างๆ เมื่อเจอแดดนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย อย่างบางคนอาจจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และไปอยู่กลางแดดแม้จะไม่นานแต่ก็อาจทำให้เป็นโรคลมแดดได้เช่นเดียวกัน" ดร.วิโรจน์ ปองธนพิสิฐ (เภสัชศาสตร์ชีวภาพ) ไวรัสวิทยาและจุลชีววิทยาโมเลกุล ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายเมื่อถามถึงวิธีการป้องกันการเป็นโรคลมแดดในสภาวะอากาศร้อนเช่นนี้
ส่วน "โรคหวัดแดด" ที่มักได้ยินและได้เห็นกันบ่อยในระยะนี้ เดี๋ยวคนนั้นเป็นหวัด เดี๋ยวคนนี้เป็นหวัด
ดร.วิโรจน์อธิบายว่า การเป็นหวัดในหน้าร้อนไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวล ที่ควรจะให้ความระมัดระวังกลับเป็น "แบคทีเรีย" มากกว่า โดยเฉพาะแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในทางเดินอาหาร ที่มักจะระบาดในหน้าร้อน ซึ่งอาจทำให้เป็นโรคทางเดินอาหารจำพวกท้องเสียหรือท้องร่วงได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากเชื้อจำพวกไวรัสที่ไม่พบการระบาดในหน้าร้อน เนื่องจากไวรัสจะระบาดในสภาวะอากาศเย็น จึงมักจะพบการระบาดในหน้าหนาว
แต่การที่เกิดอาการไข้ขึ้นในคนที่ตากแดดหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งนานๆ นั้น ดร.วิโรจน์บอกว่า น่าจะเป็นเพราะการที่ตากแดดนานๆ แล้วทำให้ร่างกายอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลให้ไวรัสโจมตีจึงทำให้มีอาการไข้ขึ้นมา ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการระบาดของไวรัสแต่อย่างใด
คนไข้บางคนนั้น เมื่อไปหาหมอแล้วจะต้องถูกเก็บเนื้อเยื่อหรือสารคัดหลั่งในส่วนต่างๆ ไปตรวจสอบหาไวรัส เพื่อที่ว่าคุณหมอจะได้รักษาได้อย่างถูกต้อง แต่เมื่อกินยารักษาตัวไปสักระยะอาการกลับไม่ดีขึ้นก็จะบอกว่าคุณหมอให้ยาผิด หรือรักษาไม่ถูกวิธีบ้าง
ซึ่งความจริงนั้นการตรวจหาไวรัสในแต่ละตัวนั้นต้องใช้เวลา ใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์มากมาย โดยการตรวจสอบนั้นบางครั้งอาจไม่ครอบคลุม ตรวจพบเพียงตัวเดียวทั้งๆ ที่ยังมีไวรัสอีกหนึ่งตัว แต่ไม่แสดงผลเพราะไม่มีปฏิกิริยากับอาหารที่ใช้เพาะไวรัส หรือสารเคมีที่ใช้ทดสอบ จนทำให้แพทย์ไม่สามารถรักษาได้อย่างถูกต้อง และนำมาสู่ความล้มเหลวในการรักษา
ดร.วิโรจน์บอกว่า ปัจจุบันนั้นมีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบไวรัสได้ทีละ 18 ตัว พร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้มีความแม่นยำเที่ยงตรงมากขึ้น โดยผลที่ออกมานั้นมีความจำเพาะของไวรัสสูงถึง 98 เปอร์เซ็นต์
ดร.วิโรจน์อธิบายเพิ่มเติมว่าเครื่องตรวจไวรัสนี้มีข้อดีคือ
- ลดระยะเวลาในการตรวจหาไวรัส เพราะสามารถตรวจได้พร้อมกันถึง 18 ตัว
- ลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากการตรวจแต่ละครั้งต้องใช้เครื่องมือทีละชุด การตรวจได้หลายชนิดพร้อมกันจึงถือว่าลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก
- ไม่สิ้นเปลืองตัวอย่างในการทดสอบ ซึ่งข้อนี้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้ที่ตรวจไวรัสในระบบสมอง เพราะต้องใช้การเก็บตัวอย่างจากน้ำในไขกระดูกสันหลัง และการจะเก็บตัวอย่างได้ต้องใช้วิธีเจาะเข้าไปที่หลังของผู้ป่วย หากเป็นเมื่อก่อนจะเก็บตัวอย่างได้ทีละเล็กน้อยเท่านั้นและเมื่อทดสอบไปแล้วต้องการตัวอย่างเพิ่มก็ต้องเจาะใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บตัวหลายครั้ง แต่เมื่อใช้วิธีการเพิ่มตัวอย่างแล้วทำให้ไม่ต้องเจาะหลังผู้ป่วยหลายรอบก็สามารถทดสอบหาไวรัสได้หลายชนิด
- สามารถตรวจ co inflexion หรือ ตรวจหาการติดเชื้อในเวลาเดียวกันได้มากกว่า 1 ชนิด เพราะเมื่อก่อนตรวจได้ทีละชนิด แล้วเมื่อบางครั้งตรวจทางห้องปฏิบัติการพบไวรัสตัวนี้แล้วก็รักษาเฉพาะตัวนี้ โดยที่ไม่รู้เลยว่ายังมีไวรัสอีกหนึ่งชนิดที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้การรักษาของแพทย์ผิดพลาดได้
ซึ่งนับเป็นเรื่องดีที่วงการแพทย์บ้านเรามีการพัฒนาขึ้นโดยมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์เข้ามาช่วยให้การตรวจวิเคราะห์ผลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแม่นยำขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือเป็นผลดีต่อผู้ป่วยเองที่ไม่ต้องทนทรมานกับอาการป่วยที่รักษาอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น อันเนื่องมาจากการวิเคราะห์หาต้นตอไม่พบ
ปัจจุบันนั้นมีโรงพยาบาลเพียงสองแห่งในประเทศไทยเท่านั้นที่มีเครื่องตรวจไวรัสชนิดนี้อยู่คือ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช
แหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/28138