ชื่อ การตีคลี ภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัด หนองคาย
อุปกรณ์และวิธีการเล่น
- ไม้สำหรับตีคลี ทำจากตอไม้ไผ่ขนาดความยาว ๑ เมตร ส่วนปลายของไม้งอนขึ้นเล็กน้อย (คล้ายไม้ฮอกกี้)
- ลูกคลี ทำจากไม้ทองหลางหรือขนุนเพราะมีน้ำหนักเบาสามารถตีให้ไปไกล ๆ ได้โดยกลึงให้กลม ๆ ขนาดลูกมะนาวหรือส้มโอ
- สนามตีคลี ขนาดกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ด้านหลังปักเสาประตูไว้ตรงกลางขนาด ๑ เมตร
- ผู้เล่นแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ๆ ละ ๔-๕ คน
ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะนำเอาลูกคลีมากลางสนาม โดยมีหัวหน้าทีมหรือ "ผู้แทนคลี" เป็นผู้ริเริ่มเล่นเหมือนฟุตบอลฝ่ายใดสามารถตีลูกลงหลุมคลีหรือเข้าประตูฝ่ายตรงข้ามได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ
โอกาสในการเล่นตีคลี
การเล่นตีคลี ส่วนใหญ่มักจะเล่นในฤดูหนาว เนื่องจากเป็นฤดูแล้งและจะเล่นกันในทุ่งนา เป็นการออกกำลังกายก่อนจะลงอาบน้ำ โดยทั่วไปมักจะเล่นในเวลากลางคืน โดยเอาลูกเผาไฟให้ลุกแดง เ มื่อตีลูกคลีก็จะกลายเป็นลูกไฟปลิวไปในสนามมองเห็นได้ชัดเจนและสวยงาม
คุณค่า/สาระ
การตีคลี เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวอีสานนิยมเล่นกันมากตามชนบทสมัยโบราณ มีหลักฐานปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในกฎมณเฑียรบาล มาตราที่ ๑๔ ได้กล่าวถึงสนามคลีว่า "แต่หัวสนามถึงฉานคลีไอยการขุนดาบซ้าย แต่ฉานคลีถึงโรงช้างหล้อไอยการขุดดาบขวา " (กรมศิลปากร ๒๕๒๑ :๓๗) และในมาตราที่ ๓๓ ได้กล่าวถึงข้อบังคับในการเล่นคลีไว้ว่า
"ถ้าทรงม้าคลี แลเรียกขุนหมื่นหัวพัน แลนายม้าจูงเข้าด้วยธินั่งไซ้แลชงโคนนั้นให้ล้วงท้องตัดชายหาง อย่าเอาหน้าม้า ขุนม้านั้นให้แก่หัวเทียมท้ายม้าพระธินั่ง ผู้ใดมิได้ทำตามไอยการแลละเมิดไซ้ โทษศักถ้าดาบ โทษลงหญ้า โทษฆ่าเสีย" (กรมศิลปากร ๒๕๒๑ : ๔๑)
การตีคลีในสมัยโบราณมี ๓ ประเภท คือ
- คลีช้าง ผู้เล่นจะต้องขี่ช้างตี นิยมเล่นกันมากในสมัยอยุธยา
- คลีม้า ผู้เล่นจะต้องขี่ม้าตี นิยมเล่นกันมากในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
- คลีคน ผู้เล่นเดินหรือวิ่งตี การเล่นคลีชนิดนี้จะเล่นได้ ๒ ลักษณะคือ เล่นคลีธรรมดา กับเล่นตีคลีไฟ หรือเอาลูกเผาไฟแล้วนำเอามาตี นิยมเล่นกันมากในชนบทท้องถิ่นภาคอีสาน เช่น หนองคาย นครพนม อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม เป็นต้น