คนที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะเป็นเวลานาน ๆ บ่อยครั้งเข้าก็มักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดหลังขึ้นได้ บางคนก็พึ่งยาแผนปัจจุบันที่หาซื้อตามร้านขายยาทั่วไปมาช่วยรักษาอาการ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่หันไปใช้บริการ "นวดแผนโบราณ" ซึ่งนอกจากจะนวดเพื่อผ่อนคลายแล้ว ยังมีการนวดเพื่อบำบัดรักษาอาการปวดได้อีกด้วย
นิเวศน์ บวรกุลวัฒน์ แพทย์แผนไทยประยุกต์ กลุ่มงานการนวดไทย สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้ความรู้เรื่องการนวดเพื่อรักษาอาการปวดหลังว่า โดยทั่วไปอาการปวดที่ต้องนวดบำบัดรักษามี 2 ระบบด้วยกัน คือ ปวดกล้ามเนื้อ บริเวณที่พบบ่อย คือ คอ บ่า ไหล่ หลัง และปวดข้อ บริเวณที่พบบ่อย คือ ต้นคอ ข้อไหล่ ข้อตะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า
สำหรับอาการปวดหลังนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการนั่งทำงานนาน ๆ แบบไม่ค่อยได้ขยับตัว ก็จะปวดหลังแถวบริเวณบ่า รวมทั้งการนั่งเก้าอี้ที่ไม่สมดุล โยกเยกได้ เพราะเมื่อนั่งทิ้งน้ำหนักไปเต็มที่ร่างกายของเราจะเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นร่างกายจะพยายามปรับให้ตรงจึงต้องมีการดึง ซึ่งการดึง การเกร็งตัวจะทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ รวมไปถึงอาการปวดหลังที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น มอเตอร์ไซค์ล้ม ตกบันได ก็ทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ทั้งสิ้น
"อาการปวดหลังสามารถรักษาให้หายได้โดยการนวด วิธีแรกสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยจะต้องมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า นมไม้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการนวดตนเองได้ ท่าที่ใช้นวด คือ ให้นอนหงาย ตะแคงข้างเล็กน้อยแล้วนำนมไม้สอดเข้าไปบริเวณหลังที่ปวดแล้วค่อย ๆ เอนหลังทับนมไม้ จากนั้นชันเข่าข้างที่ปวดหลังขึ้น ทำอย่างนี้ค้างไว้อึดใจหนึ่ง จากนั้นค่อยขยับนมไม้ไปทีละจุด ๆ เหมือนกับการนวดด้วยมือ แต่การนวดด้วยมือที่บริเวณหลังผู้ต้องการนวดไม่สามารถทำได้เอง จำเป็นต้องใช้นมไม้เป็นอุปกรณ์ช่วยนวด ข้อระวังในการใช้นมไม้นวดหลัง คือ อย่าวางนมไม้บริเวณแนวกระดูกสันหลังเพราะอาจทำให้อาการปวดหลังเป็นมากกว่าเดิมเพราะร่างกายจะกดทับลงมาทั้งหมด"
วิธีต่อมาคือ ในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์นมไม้ สามารถใช้ลูก ๆ หลาน ๆ อายุไม่เกิน 10 ปี ร่างกายปกติไม่อ้วนเกินไป หรือเด็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม เพราะถ้าน้ำหนักมากกว่านี้จะทำให้หลังรับน้ำหนักมากเกินไปอาจทำให้มีอาการปวดมากกว่าเดิมได้ วิธีการนวด คือ ผู้ต้องการนวดนอนคว่ำแล้วให้เด็กขึ้นไปเดินบนแผ่นหลังโดยเดินขนานกับกระดูกสันหลังทั้ง 2 ข้าง เดินขึ้น-ลง สลับกันไป ทำอย่างนี้ประมาณ 10 นาที ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยทำให้เส้นคลายตัว ลดอาการปวดหลังได้
ในกรณีที่มีผู้นวดให้ จะใช้วิธีการนวดแบบราชสำนัก เพราะเป็นวิธีการนวดที่ปลอด ภัย มีจุดกดที่ชัดเจน วิธีการนวดคือ ให้ผู้ต้องการนวดนอนตะแคงแล้วกดจุดกดลงไปที่หลัง ตะโพก และขาด้านใน เป็นจุดหลัก แต่ก่อนที่จะนวดกดจุดเฉพาะ ผู้นวดจะนวดท่าพื้นฐานก่อน
ซึ่งวิธีนวดแบบนี้จะเป็นการคลายกล้ามเนื้อโดยรอบให้เลือดไปเลี้ยงได้ดีขึ้น อาการปวดหลังก็จะดีขึ้นด้วย เพราะว่าเลือดมีความร้อนส่วนหนึ่ง ความร้อนจะทำให้เส้นเอ็น กล้ามเนื้อคลายตัวได้ ประกอบกับเลือดมีสารต่าง ๆ ที่จะไปช่วยย้ายหรือนำของเสียออกมา ถ้ามีการหมุนเวียนเลือดเมื่อไหร่ของเสียก็จะถูกนำออกมา ของดีก็จะเข้าไปแทน ซึ่งการปวด การตึง การขัด ทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้เกิดอาการปวดขึ้นและจะปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการรักษาเกิดขึ้น
นอกจากการนวด ควรทำท่าบริหารร่วมด้วย เพื่อให้อาการปวดหายเร็วขึ้น โดยนอนหงายเท้าเหยียดตรงแล้วยกศีรษะขึ้นมองปลายเท้าตัวเองนิ่งไว้อึดใจหนึ่ง ทำอย่างนี้ เช้าเย็น 10 ครั้ง
รวมทั้ง ท่ายืนเขย่ง โดยถ้าปวดหลังบริเวณด้านซ้ายให้ยกขาขวาขึ้นประมาณ 90 องศา แล้วก็ค่อย ๆ เขย่งยกปลายเท้าซ้ายขึ้น ท่านี้ต้องมีที่จับมิเช่นนั้นอาจล้มได้ เขย่งอยู่อึดใจหนึ่งแล้วเอาลง ทำอย่างนี้ 10 ครั้ง เช้า-เย็น ก็จะช่วยลดอาการปวดหลังได้เช่นกัน
อีกท่าหนึ่งซึ่งเป็นท่าฤาษีดัดตนที่ดัดแปลงมา มีชื่อว่า ชูหัตถ์วาดแขน ท่านี้ก็เป็นอีกท่าหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ วิธีการคือ เริ่มจากการชูมือขึ้นเหนือศีรษะ จากนั้น ประสานมือโดยให้มือทั้งสองจับกัน ต่อมากางมือทั้งสองข้างออกข้างลำตัว และลดระดับมือลงมาจับที่บริเวณเอว กำมือทั้งสองแล้วค่อย ๆ เอาเข้าหากันนำมาวางไว้บริเวณด้านหลังที่ปวด แล้วกดหรือขยี้ไปที่เอวหรือบริเวณที่ปวด ซึ่งท่านี้จะเป็นการบริหารร่างกายตั้งแต่หัวไหล่ ไปถึงเอว ทำอย่างนี้ประมาณ 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น อาการปวดหลังก็จะค่อยดีขึ้นตามลำดับ
การเตรียมตัวก่อนนวด นิเวศน์ กล่าวว่า ห้ามรับประทานอาหารก่อนนวดเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพราะเวลานวดจะเพิ่มการไหลเวียนไปที่จุดที่โดนนวด จะทำให้ท้องอืด เพราะอาหารไม่ย่อย รวมทั้งหลังนวดไม่ควรดื่มน้ำเย็นหรืออาบน้ำเย็นทันที เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นมีการหด เกร็งตัวถ้าโดนความเย็นมาก ๆ ส่งผลให้อาการปวดหลังกลับมาเป็นอีกได้ ควรรอประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงไปแล้วจึงอาบน้ำได้ และไม่ควรไปยกของหนักหลังนวดใหม่ ๆ เพราะการนวดทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว เมื่อไปยกของหนักอาจทำให้กระดูกเคลื่อนที่ได้
เมื่อมีอาการปวดหลัง อย่ารอให้อาการปวดเกิดขึ้นมาก ๆ แล้วค่อยรักษา เพราะอาการปวดหลังหากเป็นไม่มาก สามารถนวดรักษาด้วยตนเองได้
แหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/27946
|นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง
|นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง หมายถึง, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง คือ, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง ความหมาย, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง คืออะไร
|นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง หมายถึง, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง คือ, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง ความหมาย, |นวด| แก้ปวดหลังกดจุด คลายเส้น ทำได้ด้วยตนเอง คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!