ประเพณีแห่ธงตะขาบเป็นกุศโลบายที่แสดงออกถึงความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตายและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษโดยมีศาสนาเป็นตัวเชื่อมประสานความเชื่อ อีกทั้งเป็นการกำหนดกิจกรรมที่รวบรวมผู้คนของสังคมให้ร่วมแรงร่วมใจกันทางหนึ่ง
ที่มาของธงตะขาบ
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงรำลึกถึงพระมารดาซึ่งดับขันธ์ขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวโลก พระองค์ปรารถนาที่จะโปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ซึ่งเป็นธรรมชั้นสูง จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และแสดงธรรมดังกล่าว จนพระมารดาได้สำเร็จพระโสดาปัตติผลเบื้องต้น เมื่อการแสดงพระธรรมเทศนาครบ ๓ เดือน (หนึ่งไตรมาส) พระมารดาบรรลุธรรมชั้นพรหมวิหารสุขากาโม ส่วนเทพทั้งหลายที่ได้มีโอกาสฟังธรรมในครั้งนี้ก็พาบรรลุโสดาปัตติผล เช่นกัน
เมื่อครบไตรมาสแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จกลับมายังมนุษยโลก เมื่อวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปี ในครั้งนั้นได้มีมวลเทพพระอินทร์ พระพรหม ได้เนรมิตให้เกิดเป็นบันไดเงิน บันไดทองรองรับ บ้างก็ถือเครื่องสูงอันประกอบด้วยราชวัตร ฉัตร ธง และเครื่องดนตรี ดีด สี ตี เป่า มาประโคม ส่วนมวลมนุษย์ในโลกที่เลื่อมใสในพระองค์ต่างพากันดีใจ นำอาหารมาใส่บาตร แต่เนื่องด้วยจำนวนคนที่ไปใส่บาตรนั้นมจำนวนมากไม่สามารถนำอาหารเข้าไปถึง พระองค์ได้จึงทำเป็นข้าวต้มมัดเล็กๆ แล้วโยนใส่บาตร จึงเกิดเป็นประเพณีใส่บาตรข้าวต้มลูกโยนตั้งแต่ครั้งนั้นมา
ความสำคัญ
เพื่อบูชาและเฉลิมฉลองเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์เทวโลก ใน งานฉลองงานบุญการกุศล ชาวรามัญจะใช้เสาหงส์และธงตะขาบคู่กัน
"หงส์" เป็นสัญลักษณ์ของรามัญประเทศ มีตำนานที่เล่าขานกันมาดังนี้
หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ ๘ ปี ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เสด็จมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองสะเทิม ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นเนินดินกลางทะเล เมื่อน้ำงวดสูงได้ประมาณ ๒๓ วา ครั้งน้ำเปี่ยมฝั่งพอน้ำกระเพื่อม บนเนินดินนั้นมีหงส์ทอง ๒ ตัวเล่นน้ำอยู่ ตัวเมียเกาะอยู่บนหลังตัวผู้ เนื่องจากเนินดินที่ยืนอยู่มีขนาดเล็กเพียงนิดเดียว พอที่หงส์ยืนได้ตัวเดียว ว่ากาลสืบไปภายหน้า เนินดินที่หงส์ทองทั้งสองเล่นน้ำนี้จะกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นมหานครมีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง และศาสนาของพระองค์จะเจริญรุ่งเรืองขึ้น ณ ที่นี้
ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ๑๐๐ ปี เนินดินกลางทะเลใหญ่นั้นก็ตื้นเขินขึ้นจนกลายเป็นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ มีพระราชบุตรของพระเจ้าเสนะคงคา ทรงพระนามว่าสมลกุมาร และวิมลกุมาร เป็นผู้รวบรวมไพร่พลตั้งเป็นเมืองขึ้น เป็นอันว่าเมืองหงสาวดี ซึ่งมอญเรียกว่า อองสาแวะตอย ได้เกิดขึ้น ณ ดินแดนที่มีหงส์ทองลงเล่นน้ำอยู่นั่นเอง ดังนั้นชาวมอญในหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ของประเทศแต่นั้นมา
ดังได้กล่าวแล้วว่า คนมอญนั้นมีชีวิต จิตใจ และความเป็นอยู่ผูกพันอยู่กับพุทธศาสนา จึงสร้างเสาหงส์ตั้งตระหง่านอยู่หน้าวัด เป็นการแสดงว่าวัดนั้นเป็นวัดมอญ
พิธีกรรม
ธงตะขาบแต่เดิมเป็นธงกระดาษ ต่อมาเปลี่ยนเป็นผ้า ปัจจุบันใช้เชือกเป็นเส้นขอบผูกขวางคั้นด้วยซี่ไม้ไผ่เป็นช่วง ๆ ใช้เสื่อผืนยาวปิดทับแทนผ้าหรือกระดาษเป็นลำตัว ปลายไม้ที่ยื่นสองข้างทุกซี่ประดับด้วยช้อนผูกห้อยแทนขา สลับกับพู่กระดาษเพื่อความสวยงาม หัวและหางสานผูกด้วยโครงไม้ปิดกระดาษสี จะทำกี่ตัวแล้วแต่กำลัง จากนั้นจะทำการแห่ไปที่วัด เมื่อถึงก็จะขึงธงไว้กับต้นเสาในศาลา จากนั้นพระจะนำสายสิญจน์มาวงรอบธง แล้วจึงทำพิธีถวายธงตามด้วยการสรงน้ำพระ เสร็จแล้วจึงนำธงไปชักขึ้นแขวนบนเสาหงส์
ช่วงเวลาจัดงาน
จัดงาน วันที่ 12-14 เมษายน ของทุกปี
สถานที่จัดงาน
บริเวณวัดพิมพาวาส ในเขตอำเภอบางปะกง ฉะเชิงเทรา
แหล่งที่มา : https://wiki.moohin.com/wiki/ประเพณีแห่ธงตะขาบ