เทศกาลบั้งไฟของชาวอีสาน เกิดขึ้นในเดือนหก เทศกาลนี้เป็นงานสำคัญของชาวอีสานตั้งแต่อดีต เป็นการแสดงสัญลักษณ์ของการบอกเตือน และเป็นพิธีกรรมขอฝน ความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าแห่งฝนที่มีความสัมพันธ์กับการเพาะปลูก เทศกาลบุญบั้งไฟจะเกิดขึ้นก่อนฤดูทำนา เพื่อเป็นการบูชาเทพเจ้าแห่งฝน มีชื่อว่าพระยาแถน มีตำนานว่าสมัยก่อนพุทธกาลพระพุทธเจ้าเสวยชาติ เป็นเจ้าชายคางคก หรือชื่ออีสานว่าพระยาคันคาก ซึ่งมีหน้าตาอัปลักษณ์ ผิวพรรณดั่งคางคก แต่มีสีเหลืองดุจทองคำ ซึ่งเป็นผู้ที่มีจิตใจเมตตาปราณีต่อมนุษย์และสัตว์ พระยาแถนได้ทราบข่าวจึงเกิดความอิจฉา เพราะเมื่อก่อนคนเคยไปนับถือพระยาแถนแต่ต่อมาคนหันไปให้ความนับถือพระยาคันคาก จึงเกิดความอิจฉาไม่ยอมให้ฝนตกลงบนโลกมนุษย์เป็นเวลา 8 ปี 8 เดือน ทำให้มนุษย์และสัตว์เกิดความเดือดร้อนและล้มตายจำนวนมาก ผู้ที่รอดชีวิตมาได้จึงรวมตัวกันต่อสู้กับพระยาแถน มนุษย์รวมมือกับพระยานาคาเพื่อทำสงครามกับพระยาแถน ผลสุดท้ายพระยานาคาก็ต้องพ่ายแพ้และบาดเจ็บ ต่อมาพระราชาแห่งผึ้งก็มาทำสงครามกับพระยาแถนอีก แต่ก็พ่ายแพ้เช่นกัน หลังจากนั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็เกรงกลัวพระยาแถน ในที่สุดเจ้าชายคางคกก็วางแผนเพื่อสู้กับพระยาแถน โดยเริ่มจากขั้นแรก ส่งปลวกออกไปกัดกินดาบและอาวุธของพระยาแถน ขั้นที่สองส่งเจ้าชายแมงป่องไปกัดพระยาแถนและบริวาร ซึ่งแมงป่องจะซ่อนตัวอยู่ในเสื้อผ้าและกองฟืนของพระยาแถน ขั้นที่สาม เจ้าชายคันคากเดินทางออกไปสู้รบพร้อมกับบริวารซึ่งในขณะนั้นกองทัพของพระยาแถนอ่อนแอเนื่องจากถูกแมงป่องกัด เจ้าชายคางคกนั่งไปบนหลังช้างและต่อสู้กับพระยาแถน ในที่สุดพระยาแถนก็ปราชัย จึงยอมตกลงทำสนธิสัญญาสงบศึกกับพระยาคันดาก ๓ ข้อดังนี้
- พอถึงเดือนหกของทุกปีมนุษย์ต้องจุดบั้งไฟขึ้นท้องฟ้าเพื่อเป็นสัญญาณบอกให้พระยาแถนทราบว่าถึงเวลาส่งฝนลงมายังโลกแล้ว(ในตำนานบางท้องถิ่นว่าให้แห่สัญญาลักษณ์เพศชายและหญิงเพื่อแสดงให้พระยาแถนทราบว่ามนุษย์มีความอุดมสมบูรณ์เพื่อรักษาเผ่าพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไป)
- เมื่อมีเสียงร้องของกบเป็นสัญญาณบอกว่าฝนตกแล้วเมื่อฝนตกลงมามนุษย์พร้อมที่จะปลูกข้าว
- เมื่อมีเสียงคนเป่าโวตหรือเสียงธนูอยู่บนว่าวที่ลอยอยู่บนท้องฟ้าเป็นสัญญาณบอกว่าถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้วให้หยุดปล่อยฝนหรือปล่อยให้น้อยลง