ประเพณีเลี้ยงผี แสดงให้เห็นถึงการรู้จักตอบแทนผู้มีพระคุณ คือ ปู่ย่าตายาย ทำให้ลูกหลานมีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สร้างความสามัคคีระหว่างญาติพี่น้อง
ความสำคัญ
การเลี้ยงผีเป็นสิ่งสำคัญที่ผูกพันกับการดำเนินชีวิตเป็นอย่างยิ่ง โดยเชื่อว่าการเลี้ยงผีจะทำให้ครอบครัวอยู่อย่างเป็นสุข ลักษณะความเชื่อ
การเลี้ยงผี หมายถึงการจัดอาหารคาวหวานไปเซ่นสังเวย ดวงวิญญาณผู้ตาย ณ หิ้งผีปู่ย่าหรือหอผีชาวล้านนาถือว่า เมื่อปู่ ย่า ตา ยาย ตายไปวิญญาณจะวนเวียนมารักษาลูกหลาน ดังนั้นภายในบ้านของชาวล้านนา จึงจัดทำ"หิ้งผีปู่ย่า" ไว้ทุกบ้าน โดยจัดตั้งไว้ที่สูง นิยมจัดตั้งไว้บนหัวนอนของบ้าน สูงจากพื้นกระดานราว ๒ เมตร หิ้งผีปู่ย่านี้ถือว่าเป็นของสูง เด็กๆจะไปเล่นไม่ได้ ผู้อาวุโส หรือพ่อแม่เท่านั้นที่จะเกี่ยวข้องกับหิ้งปู่ย่าได้ นอกจากนี้ชาวชนบทล้านนาบางแห่ง เชื่อว่า ปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้วหลายคนและ เป็นญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน น่าจะอยู่ร่วมกันได้ จึงคิดสร้าง "หอผี" ขึ้น เพื่อให้ผีอยู่ร่วมกัน
พิธีกรรม
การเลี้ยงผี มี ๒ อย่างคือ
- เลี้ยงผีปู่ย่า ทำใน "วันพญาวัน" (วันสงกรานต์) หรือวันปีใหม่ ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี
- เลี้ยงผีหอ นิยมทำกัน ระหว่างเดือนสี่ เดือนหก เดือนเจ็ด
- ทำความสะอาดหิ้ง และหอผี
- บอกกล่าวให้พี่น้องทราบเรื่องการเลี้ยงผี
- ร่วมกันจัดอาหารเครื่องเซ่นสังเวยผี
- พิธีเลี้ยงผี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- เลี้ยงผีปู่ย่า เจ้าของบ้าน (อาวุโส) นำสิ่งของขึ้นสังเวยหิ้ง แล้วกล่าวคำสังเวยผี
- เลี้ยงหอผี
ผู้อาวุโส หรือ พ่ออาจารย์กล่าวคำเชิญ ผีปู่ย่า (บางแห่งเรียกว่าผู้กล่าวหา "เจ้าด้าม" หรือ "พ่อเจ้าด้าม") ทุกคนที่มาร่วมงานจะเงียบสงบ คอยจ้องมองหอผีรอคอยดูว่า เมื่อใดผีปู่ย่าจะมารับของสังเวย มีข้อสังเกตว่า ถ้ามีผีปู่ย่า มารับเครื่องเซ่นสังเวย ให้ดูเปลวเทียนที่เคลื่อนที่ไหวขึ้นลง หรือแมลงที่ไต่ตอมเครื่องเซ่นสังเวย
แหล่งที่มา : https://wiki.moohin.com/wiki/ประเพณีเลี้ยงผี