วันผู้ลี้ภัยโลก
วันผู้ลี้ภัยโลก, วันผู้ลี้ภัยโลก หมายถึง, วันผู้ลี้ภัยโลก คือ, วันผู้ลี้ภัยโลก ความหมาย, วันผู้ลี้ภัยโลก คืออะไร
วันผู้ลี้ภัยโลก (World Refugee Day) ตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี สหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น "วันผู้ลี้ภัยโลก" โดยวันนี้เริ่มก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2001 ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีวันผู้ลี้ภัยโลกนี้ แต่ละประเทศจะมีวันผู้ลี้ภัยโลกเป็นของตนเอง เช่น Africa Refugee Day
เริ่มก่อตั้ง
ก่อนหน้าที่จะเริ่มมีวันผู้ลี้ภัยโลกนี้ แต่ละประเทศหรือระดับภูมิภาคจะมีวันผู้ลี้ภัยโลกของตนเอง บางที่ก็จัดเป็นสัปดาห์ผู้ลี้ภัยโลกขึ้นเลยก็มี ที่รู้จักกันกว้างขวางมากที่สุดก็คงเป็น Africa Refugee Day ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทวีปแอฟริกา ที่มีจำนวนประชากรผู้ลี้ภัยอยู่มากที่สุดเลยก็ว่าได้
โดย Africa Refugee Day จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จนที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยกันในสภา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.2000 (resolution 55/76) ที่ประชุมเห็นว่าในปี 2001 เป็นวาระครบรอบ 50 ปีของอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานะของผู้ลี้ภัย ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ.1951 พอดี ทาง Organization of African Unity ก็เห็นด้วยที่จะให้มีวันผู้ลี้ภัยโลกขึ้นให้พ้องกับวันผู้ลี้ภัยของแอฟริกา ในที่สุดที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติก็ประกาศให้วันที่ 20 มิถุนายน ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นไป เป็น World Refugee Day
งานในแต่ละปี
ในทุกปี วันผู้ลี้ภัยโลก จะมีการจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อเฉลิมฉลองให้กับพลังใจที่ยิ่งใหญ่ของผู้ลี้ภัยทุกประเทศในโลก ซึ่งในแต่ละปีจะมีรูปแบบการจัดงานแตกต่างกันไป และจะจัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในแต่ละปีด้วย
ปี 2002
รูปแบบของงานจะเน้นไปที่ผู้ลี้ภัยหญิง โดยเจ้าชายซารูดิน อกา ข่าน ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย สหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 2002 กล่าวไว้ว่า งานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยคือการเลิกทำงาน คือทำงานเพื่อให้ถึงวันที่คำว่าผู้ลี้ภัยจะหายไปจากพจนานุกรมเพราะว่าความรุนแรงต่างๆ ที่ผลักดันให้ผู้คนต้องลี้ภัยได้หมดสิ้นไปแล้วเช่นกัน
ปี 2003
เน้นไปที่เด็กๆ ผู้ลี้ภัย พุ่งความสนใจไปที่ความต้องการและศักยภาพของเด็กๆ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับตนเองและชุมชน เพราะบรรดาเด็กๆ ผู้ลี้ภัยนั้นสามารถช่วยสร้างอนาคตได้ ดังคำกล่าวที่ว่ายุคสมัยของวัยเยาว์ คือยุคสมัยอันรุ่งเรือง - ลอร์ด ไบรอน กวีเลื่องชื่อนิพนธ์ไว้เช่นนั้น แต่น่าเสียใจว่ามีเยาวชนราว 20 ล้านคนทั่วโลกซึ่งยุคสมัยแห่งวัยเยาว์ของพวกเขานั้นเต็มไปด้วยความโหดร้าย ผู้ลี้ภัยในวัยเยาว์ก็เป็นหนึ่งในเยาวชนผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ ความผิดเพียงประการเดียวของเขา คือ เขาเกิดผิดที่และผิดเวลา จึงพบตัวเองอยู่ในฐานะเหยื่อของสงครามและความขัดแย้งที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น
ปี 2004
"To Feel at Home" ให้คนทั่วไปหันมาสนใจกับปัญหาของผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง สามารถสร้างชีวิตใหม่อย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีสำหรับผู้ลี้ภัยที่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนหนีภัยมานั้น มี 3 ทางเลือกในการ "มีบ้าน" คือ ลงหลักปักฐานที่แผ่นดินที่มาอาศัยหลบภัย หรือกลับไปยังประเทศบ้านเกิดเมื่อภัยสงบลง และการเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม
ปี 2005
เสริมสร้างกำลังใจอันยิ่งใหญ่ให้แก่ผู้ลี้ภัย เพราะการจะเป็นผู้ลี้ภัยได้ ต้องอาศัยความกล้าหาญ และความกล้าหาญ เป็นคำนาม หมายถึงความเข้มแข็งทางจิตใจที่จะยืนหยัด เผชิญหน้า และต้านทานอันตราย ต่อความกลัว และความยากลำบาก
ปี 2006
"Keeping the Flame of Hope Alive" หัวข้อในปีนี้สืบเนื่องจากปีที่แล้ว เมื่อมีความกล้าหาญแล้วก็ต้องมีความหวังคอยหล่อเลี้ยงด้วยเช่นกัน ดังคำขวัญต่อไปนี้ "แต่ในทุกย่างก้าวของเส้นทางการลี้ภัย ผู้ลี้ภัยได้พาเอาความหวังอันมั่นคง และไม่มีวันหมดสิ้น ด้วยความหวังว่าจะรอดชีวิต จะมีปัจจัย 4 เพื่อการดำรงชีวิตรอด จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และความหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้สร้างชีวิตใหม่ ผู้ลี้ภัยต่อสู้เพื่อทุกความเป็นไปได้" ซึ่งถูกคิดขึ้นเพื่อจะทำให้ผู้ลี้ภัยนั้นมีความหวัง
ปี 2007
มีคำกล่าวว่า "ขอให้พวกเราอย่าลืมว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า เราบางคนอาจจะต้องไปยืนเคาะประตูบ้านของคนแปลกหน้าเพื่อขอความช่วยเหลือและที่พักพิง เราควรจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย เช่นเดียวกับที่เราหวังว่าเราจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อประสบเคราะห์กรรมเช่นนั้น"
ผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยเราก็มีผู้ลี้ภัยอยู่มากถึง 140,000 คนเลยทีเดียวค่ะ ส่วนใหญ่จะอยู่แถวชายแดนไทย-พม่า
แหล่งที่มา : https://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/วันผู้ลี้ภัยโลก
วันผู้ลี้ภัยโลก, วันผู้ลี้ภัยโลก หมายถึง, วันผู้ลี้ภัยโลก คือ, วันผู้ลี้ภัยโลก ความหมาย, วันผู้ลี้ภัยโลก คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!