ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โรคบนเตียง, โรคบนเตียง หมายถึง, โรคบนเตียง คือ, โรคบนเตียง ความหมาย, โรคบนเตียง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
โรคบนเตียง

     เวลานอน คือ เวลาแห่งการพักผ่อนหลังจากที่ร่างกายของเราได้ใช้งานมาตลอดทั้งวัน และการนอนหลับนอกจากจะทำให้ร่างกายได้หยุดพักแล้ว ยังเป็นเวลาที่ร่างกายจะได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอต่าง ๆ ทั้งยังช่วยสร้างพลังงานขึ้นใหม่ โดยสังเกตได้จากเวลาเราตื่นนอนหลังจากที่ได้นอนอย่างเต็มที่แล้ว เราจะรู้สึกสดชื่นและมีเรี่ยวแรงมากขึ้น ดังนั้นใครก็ตามที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน จึงมักจะไม่สดชื่น อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย ไร้เรี่ยวแรง เจ็บป่วยบ่อยและบางรายอาจเป็นมากถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิตเลยก็มี 
     เมื่อการนอนเป็นสิ่งสำคัญแก่ร่างกาย เราก็ควรต้องให้ความสำคัญกับมันอย่างมากเช่นกัน บางคนให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส เข้าโรงยิม เล่นโยคะ ให้ความสำคัญกับการกินดื่ม เลือกกินแต่ของดี ๆ แพง ๆ แต่พอถึงเวลานอนกลับไม่นอน หรือพอมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนก็ไม่ใส่ใจจะรักษา เพราะคิดว่าไม่สำคัญ จึงเกิดเป็นโรคภัยต่าง ๆ ตามมามากมาย ดังนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญและควรรู้ว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหรือโรคที่เกิดได้จากบนเตียงนั้นมีอะไรบ้างและมีผลเสียแก่ร่างกายอย่างไร เพื่อเราจะได้หาทางป้องกันและรักษาต่อไป 
โรคบนเตียง มีอะไรบ้าง 
     1. อาการนอนไม่หลับ โดยปกติแล้วคนเราควรต้องนอนวันละ 8 ชั่วโมง แต่สำหรับเด็กทารกอาจต้องนอนมากถึง 16 ชั่วโมง ในขณะที่คนสูงวัยอาจนอนเพียงวันละ 5 ชั่วโมงเท่านั้นก็รู้สึกว่าเพียงพอแล้ว การนอนอย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งในทางตรงกันข้ามหากเรานอนไม่พอแล้วจะทำให้มีปัญหาต่าง ๆ ตามมา ทั้งมีอาการง่วง อิดโรย อ่อนแรง ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดศีรษะ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายเติบโตช้า แก่ง่าย ตายเร็ว การอดนอนหรือนอนไม่หลับจึงเป็นการทำร้ายตนเองซึ่งมีผลเสียพอ ๆ กับการติดยาเสพ ติดหรือดื่มสุรายาเมาเลยทีเดียว 
     การนอนไม่หลับเกิดได้หลายสาเหตุ ทั้งความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบพบเจอและความเครียดจากสิ่งแวดล้อม ทั้งเกิดจากความวิตกกังวลต่าง ๆ เกิดจากการอดหลับอดนอนมาหลายวันที่เรียกว่าตาค้าง หรือเกิดจากการมีโรคประจำตัว ซึ่งยาบางชนิดที่รับประทานอาจทำให้ไม่ง่วง เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง 
การรักษาอาการนอนไม่หลับ โดยหลักควรพยายามรักษาโดยไม่ใช้ยาแต่ให้พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเราเอง เป็นต้นว่า 
  • นอนให้เป็นเวลาเดียวกันทุกคืน เพื่อร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ว่าเมื่อถึงเวลานี้แล้วเราจะต้องนอนพักผ่อน 
  • ไม่กินอาหารก่อนนอนเพราะจะทำให้ไม่สบายตัวและไม่ดื่มน้ำมากเพราะอาจต้องลุก เข้าห้องน้ำบ่อย งดดื่มกาแฟหรือชา หากอยากกินอะไรสักอย่างก่อนนอนควรเป็นนมอุ่น ๆ สักแก้วก็เพียงพอแล้ว และนมมีแคลเซียมและมีกรดอะมิโนที่ชื่อว่า ทริปโตแฟนช่วยให้นอนหลับสบาย 
  • ปิดไฟนอน 
  • หาที่นอนและหมอนที่เหมาะกับสรีระของร่างกายซึ่งไม่ควรแข็งหรืออ่อนเกินไปจะ ทำให้นอนไม่สบายตัวและปวดเมื่อยร่างกาย 
  • จัดห้องให้สะอาดและโล่ง ไม่ควรมีของมากมายในห้องนอนเพราะจะทำให้อึดอัดและอากาศไม่ถ่ายเท 
  • ออกกำลังกายอย่างพอดีจะทำให้ร่างกายผ่อนคลายหลับสบายขึ้น 
     หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้น เช่น นอนไม่หลับหลายคืนติดต่อกัน ไม่ควรไปซื้อยานอนหลับมาใช้เอง แต่ให้ไปรักษากับแพทย์โดยตรงจะเป็นผลดีและปลอดภัยที่สุด 
      2. อาการนอนกรน นอกจากจะเป็นที่สร้างความรำคาญแก่ผู้ร่วมห้องนอนแล้ว สำหรับตัวผู้ป่วยเองก็เดือดร้อนไม่แพ้กันเพราะไม่ต่างอะไรกับการนอนไม่หลับ เนื่องจากร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ทั้งยังเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่น ๆ ตามมาอีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ออกซิเจนในเลือดแดงลดต่ำ และยิ่งใครมีอาการมากอาจถึงขั้นหยุดหายใจชั่วขณะจึง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 
การนอนกรน เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ 
  • อายุที่มากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อต่าง ๆ หย่อนยาน โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอทำให้ลิ้นไก่ ตกไปบังทางเดินหายใจ 
  • ความอ้วน ทำให้ไขมันที่อยู่บริเวณคอซึ่งมีมากไปกดทับช่องคอให้แคบลงและไขมันที่อยู่ บริเวณหน้าท้องทำให้กระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้การหายใจติดขัด 
  • ดื่มสุรา ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงซึ่งส่งผลให้ทางเดินหายใจอุดตันและสมองขาดออกซิเยนหรือสูบบุหรี่ ทำให้การทำงานของระบบทางเดินหายใจเสื่อมและแคบลง ทั้งทำให้คอหอยอักเสบเพราะมีการระคายเคือง 
  • โรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ไซนัส เยื่อบุจมูกอักเสบ หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไฮโปไทรอยด์ คือภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายต่ำ หรือโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ต่างๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม 
การรักษาอาการนอนกรน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 
  • นอนในท่าทางที่สบายหรือนอนตะแคงข้าง ไม่ควรนอนหงายเพราะทำให้ลิ้นตกไปด้านหลังชิดกับผนังช่องคอทำให้เกิดการอุดตัน 
  • ลดความอ้วน จะช่วยให้ขนาดของช่องคอเพิ่มมากขึ้นจึงทำให้อากาศไหลผ่านลงสู่ปอดได้สะดวก ขึ้น ซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนมีมากขึ้น 
  • ออกกำลังกาย 
  • งดสุรา ช่วยให้การหยุดหายใจจากการที่ทางเดินหายใจอุดตันลดลง ทำให้นอนกรนลดลง 
  • เลิกสูบบุหรี่ทำให้ผนังคอลดการอักเสบลงและช่วยให้เสมหะที่มีมากลดลงเช่นกัน จึงทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น 
     นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถรักษาทางการแพทย์ได้โดยอาจใช้เครื่องช่วยหายใจ Nasal CPAP ซึ่งเครื่องนี้จะทำให้ช่องทางเดินหายใจที่แคบกว้างขึ้น หรือหากอาการหนักกว่านั้นอาจต้องผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาทางเดินหายใจอุดตัน
     3. อาการนอนละเมอ เป็นอาการที่เกิดในช่วงที่ร่างกายมีสติสัมปชัญญะต่ำอย่างเช่นในเวลานอน ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากความเหนื่อยล้าของร่างกาย ความเครียดหรือความวิตกกังวลต่าง ๆ การพบเห็นสิ่งที่ทำให้ฝังอยู่ในใจ เช่น เห็นภาพการต่อสู้ เห็นภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือไปทำกิจกรรมอะไรมาแล้วยังนึกถึงสิ่งนั้นอยู่ก่อนจะนอนหลับไป เช่น ไปเล่นกีฬามา ไปดูคอนเสิร์ตมา 
     ซึ่งลักษณะของอาการคือมีการเคลื่อนไหวร่างกายหรือมีการกระทำต่าง ๆ ในขณะที่ไม่รู้สึกตัว ซึ่งการนอนละเมอทำให้เกิดผลเสียได้มากมาย ทั้งต่อร่างกายเนื่องจากร่างกายพักผ่อนได้ไม่เต็มที่และเหน็ดเหนื่อยจากการที่ได้ไปทำอะไรต่าง ๆ มา ผลเสียต่อการงานเพราะเมื่อร่างกายพักผ่อนไม่เต็มที่ก็จะมีอาการง่วง อ่อนเพลีย ขาดสมาธิในการงานและการเรียน และผลเสียด้านอื่น ๆ เนื่องจากเราไม่รู้ว่าเราทำอะไรลงไปบ้างขณะนอนละเมออยู่ เช่น อาจไปทำร้ายใครหรือด่าใครเข้าก็ได้ 
การรักษาอาการนอนละเมอ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 
  • อย่ากระตุ้นตนเองด้วยการทำกิจกรรมที่ตื่นเต้นหรือโลดโผนเกินไป 
  • งดการนอนกลางวัน เพื่อถึงเวลานอนกลางคืนจะได้หลับสนิทอย่างเต็มที่ 
  • จัดห้องนอน ที่นอนและหมอนให้สบาย และไม่ควรเปิดไฟนอนเพราะจะรบกวนการนอน 
  • เปิดเพลงเบา ๆ เพื่อผ่อนคลาย 
  • ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย นึกถึงเรื่องที่ทำให้มีความสุข 
      4. โรคไหลตาย คือโรคที่ทำให้เสียชีวิตอย่างกะทันหันเพราะหัวใจเต้นผิดจังหวะร้ายแรง ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากสารโปแตสเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ทำให้การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ หัวใจจึงเต้นผิดจังหวะทำให้เสียชีวิต หรืออาจเกิดจากมีความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจแต่ไม่รู้จึงไม่ได้รักษามาก่อน เมื่อมันแสดงอาการร้ายแรงขึ้นมาทำให้เสียชีวิตไปแบบไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัวเลยก็ได้ 
      การรักษาโรคไหลตายทำได้ยาก เพราะอย่างที่ทราบคือมันเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ไม่รู้มันจะเกิดเมื่อไหร่ แต่ทางที่ดีคือการป้องกันโดยหมั่นดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและตรวจเช็คร่าง กายโดยเฉพาะการทำงานของระบบหัวใจไว้บ้างก็ดี เผื่อว่ามีอาการผิดปกติจะได้รักษาไว้ก่อนก็น่าจะทำให้สบายใจได้เปลาะหนึ่ง 
      โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นกับคนเราได้เสมอไม่เว้นแม้แต่เวลานอน ดังนั้น เราควรต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองทั้งยามปกติและยามอยู่บนเตียงนอนด้วย เพื่อว่าชีวิตของเราจะได้พ้นจากโรคภัยหรืออาการทรมานทั้งหลาย และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสันต์ตลอดปีหน้าฟ้าใหม่นี้   
แหล่งที่มา : https://www.healthcorners.com/2011/read_article.php?category=generalhealth&id=5009

โรคบนเตียง, โรคบนเตียง หมายถึง, โรคบนเตียง คือ, โรคบนเตียง ความหมาย, โรคบนเตียง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu