ปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชิวิต สังคม สิ่งแวดล้อม ทำให้เราอดเป็นห่วงอนาคตของลูกหลานไม่ได้ว่าจะเป็นอยู่กันอย่างไร มีทักษะมากมายที่ต้องเรียนรู้และจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ แต่เชื่อไหมครับ หนึ่งในทักษะที่สำคัญในศตวรรษนี้ที่คนส่วนใหญ่มองข้ามไป คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเราหรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า empathy
empathy ที่ว่านี้มีทั้งทางอารมณ์ (emotional empathy) คือ รู้สึกได้เองว่าผู้อื่นรู้สึกหรือคิดอย่างไร เช่น เห็นคนอื่นโดนยุงกัดเราก็รู้สึกคันไปด้วย และทางปัญญา (cognitive empathy) คือ คิดได้ว่าผู้อื่นรู้สึกหรือคิดอย่างไร อันนี้ต้องอาศัยจิตสำนึกด้วย empathy จึงไม่เพียงทำให้เราอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจเพื่อสังคมที่สงบสุขเท่านั้น แต่การรู้ว่าผู้อื่นคิดอย่างไรยังนำไปสู่ความสำเร็จ เช่นที่เราเห็นตัวอย่างของสตีฟ จอบส์ ที่ไปนั่งในความคิดผู้บริโภคจนสามารถสร้างสรรค์นวตกรรมที่เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนทั่วโลกมาแล้ว มีผู้ถึงกับกล่าวว่า empathy เป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำในยุคปัจจุบันต้องมี แต่ดูเหมือนเป็นสิ่งที่เหือดหายไปในสังคมปัจจุบัน
ดนตรีสร้าง empathy
มีหลายวิธีที่คุณพ่อคุณแม่จะอาศัยดนตรีมาเสริมสร้าง empathy ให้ลูก
- การเต้นเคลื่อนไหวไปกับบทเพลง หรือการเล่นดนตรีร่วมกัน โดยเฉพาะดนตรีที่มีการสื่อสารด้วยท่วงทำนองระหว่างผู้เล่น ล้วนมีส่วนกระตุ้นการทำงานของเซลกระจกเงา
- การสร้างประสบการณ์สุนทรียศาสตร์ผ่านการฟังดนตรีที่หลากหลาย ทั้งเร็ว ช้า เศร้า สนุก สอดคล้องไปกับการแสดงออกทางอารมณ์ ให้พัฒนาความไวของตัวรับสัญญาณความรู้สึกของลูก รวมถึงประสบการณ์จากประสาทสัมผัสด้านอื่นๆ ให้เขาได้รู้จักถึงความหลากหลาย เปรียบเทียบอารมณ์ความรู้สึกจากการฟังเพลงกับสิ่งที่คุ้นเคยหรือสี
- การฟังเพลงและหัดวิจารณ์เพลงตามความคิด ความรู้สึก ด้วยคำถามง่ายๆ แต่เปิดกว้าง เช่น ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกอะไร คิดถึงอะไร เพื่อเป็นการฝึก cognitive empathy ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ถึงความรู้สึกของผู้อื่นๆ
(ล้อมกรอบ) ดนตรีเปิดหัวใจ
กิจกรรมดนตรีง่ายๆ ที่คุณพ่อ คุณแม่นำไปใช้กระตุ้นเซลกระจกเงา
- เปิดดนตรีที่มีจังหวะหลากหลายทั้งช้า เร็ว แล้วเคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง
- ใช้เครื่องเคาะจังหวะคนละชิ้นแล้วผลัดกันเล่นคนละท่อนบ้าง เล่นพร้อมกันบ้าง
- ฟังเพลงแล้วคุยกันถึงความรู้สึกจากการฟังเพลง หรือถามเชื่อมโยงถึงสิ่งที่จับต้องได้
- สะสมบทเพลงที่หลากหลายจังหวะ อารมณ์ เพื่อนำมาเปิดให้ลูกได้ฟัง และได้สัมผัสถึงอารมณ์ที่หลากหลาย (ระมัดระวังความเหมาะสมของเนื้อหา และหลีกเลี่ยงบทเพลงที่มีความรุนแรง ก้าวร้าว หรือล่อแหลม)