ภาษาชอง เป็นภาษาในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยเปียริก ใกล้เคียงกับภาษาสมราย ใช้พูดในหมู่ชาวชองใน ระยอง จันทบุรี และตราด มีผู้พูดทั้งหมด 5,500 คน ในกัมพูชามี 5,000 คน ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาระหว่างจังหวัดจันทบุรีของไทยกับจังหวัดโพธิสัตว์ของกัมพูชา ในไทยมี 500 คนในจังหวัดจันทบุรีและตราด ชื่อสถานที่ใน 3 จังหวัดนี้หลายแห่งมาจากภาษาชอง เช่น ระยอง มาจากภาษาชอง "ราย็อง" แปลว่าประดู่ ภาษาชองต่างพื้นที่กันมีความแตกต่างกันบ้าง แต่สำหรับชาวชองแล้ว ถือว่ายังพอสื่อสารกันได้
ตัวอักษร
เดิมทีภาษาชองไม่มีตัวอักษรสำหรับเขียน เนื่องจากเป็นภาษาที่ใช้พูดเท่านั้น แต่ในภายหลังก็มีการกำหนดให้ใช้อักษรไทยบางตัวเขียนภาษาชอง ซึ่งกำหนดโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล แล้วสะกดตามอักขรวิธีของภาษาไทย (การอ่านตามที่เขียนอาจไม่ถูกสำเนียงตามต้นฉบับ อย่ายึดถือเป็นแหล่งอ้างอิงจนกว่าจะได้ยินสำเนียงจากเจ้าของภาษา)
พยัญชนะ
- พยัญชนะต้นใช้อักษรไทยดังนี้: ก ค ง จ ช ซ ญ ด ต ท น บ ป พ ฟ ม ย ร ล ว อ ฮ
- พยัญชนะสะกดใช้อักษรไทยดังนี้: -ก -ง -จ -ญ -ด -น -บ -ม -ย -ว -ฮ
ตัวอย่างศัพท์ภาษาชอง
สำเนียง ต.พลวง จ.จันทบุรี ตัวอย่างคำศัพท์ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างภาษาชองสำเนียง ต.พลวง จ.จันทบุรี
- โตด แปลว่า หัว
- กะล่าง แปลว่า หู
- จึ่ม แปลว่า คน, มนุษย์
- อูน แปลว่า พ่อ
- เม่อ แปลว่า แม่
- เจวนิ๊ แปลว่า ไปไหน
- อินต็องท่อแซ แปลว่า ที่บ้านทำอะไร
สำเนียง ต.ตะเคียนทอง จ.จันทบุรี
- กะปาว คือ ควาย
- แหลก คือ ไก่
- ตา คือ เป็ด
- แซ คือ นา
- ยาง คือ เต่า
- ปรีง คือ น้ำมันเชื้อเพลิง
- ปึ๊ด คือ น้ำมันประกอบอาหาร
- ตั๋ก คือ ใหญ่
- ตั๋กโป คือ ใหญ่โต
- แจง คือ แหวน
- ชึ่ม คือ คน
- อูน คือ พ่อ
- เม่ คือ แม่
- เคน คือ ลูก
- เคนมฺล๋อ คือ ลูกชาย(วัยรุ่น)
- เคนแหล้ง คือ ลูกสาว(วัยรุ่น)
- เคนซา คือ ลูกสะใภ้
- เคนฮาย คือ ลูกเขย
- ลึง คือ พี่
- โบด คือ น้อง
- ดูง คือ มะพร้าว, บ่อน้ำ
- หฺน้อง คือ ภูเขา
- พรี่ คือ ป่า
- มู้จ คือ ผี
- ซู้จ คือ มด
- ซี คือ งู
- ชอ คือ หมา
- ชี้ม คือ นก
- หฺช้ก คือ หมู
- วา คือ ลิง
- จั๊ง คือ สีดำ
- เง่ย คือ สีแดง
- โพร่ง คือ สีขาว
- ต๊อง คือ กลัว
- อิน คือ กู ฉัน ผม บุรุษที่ 1 ปัจจุบันมักใช้ว่า ชัน แทน เพราะสุภาพกว่าคำนี้ใช้แทนตัวผู้มีอายุน้อยกว่าพูดกับผู้ใหญ่
- ญั่ง คือ เรา เป็นเอกพจน์ บุรุษที่ 1
- แฮง คือ เรา เป็นพหูพจน์ บุรุษที่ 1
- ผู้ คือ เธอ คุณ บุรุษที่ 2
- ดั๋ก คือ เขาคนนั้น บุรุษที่ 3
- ไพ่ คือ มัน บุรุษที่ 3
- กะปิ๊ คือ อะไร
- หอบ คือ กิน รับประทาน (ใช้สำหรับข้าวเจ้าที่หุงสุกแล้วแบบข้าวสวยเท่านั้น)
- ชา คือ กิน ดื่ม ทุกอย่างนอกเหนือจากข้าวเจ้าที่หุงสุกแล้วแบบข้าวสวย
- ยา คือ แมงป่อง
- นาย คือ ช้าง
- ยานาย คือ แมงป่องช้าง ตัวอย่างประโยค ชันท่อนยานายทูด ฉันถูกแมงป่องช้างต่อย
- โหด คือ ตาย
- หม่ะโหด คือ ฆ่า
- หม่ะฮาม คือ เลือด
- หม่ะ คือ ฝน
- หม่า คือ เข็ม
- ฮาย คือ ข้าวเปลือก
- ฮายฮฺมีบ คือ ข้าวเหนียวเปลือก
- โค คือ ข้าวสาร
- โคฮฺมีบ คือ ข้าวเหนียวที่เป็นข้าวสาร
- ปล็อง คือ ข้าวหุงสุก
- ปล็องฮฺมีบ คือ ข้าวเหนียวหุงสุก
- เคิ่ด คือ เจ็บ, ป่วย
- ชั๊บ คือ จับ
- ชั๊บเคิ่ด คือ จับไข้, เป็นไข้
- กา คือ ปาก
- กอก คือ คอ
- ชุ่ย คือ ก้น
- ตูด คือ จมูก, จุด (ไฟ)
- ล่าง คือ หู, ทราย
- โม่ย คือ 1 ใช้เมื่อนับ
- โม่ะ คือ 1 ใช้เพื่อบอกจำนวน เช่น ชึ่มโม่ะหนั่ก คือ คนหนึ่งคน
- พ่าย คือ 2
- เพ้ว คือ 3
- โพ้น คือ 4
- พรัม คือ 5
- ตอง คือ 6
- นู่ย คือ 7
- ตี คือ 8
- ช่าย คือ 9
- ร่าย คือ 10
- ต็อง คือ บ้าน
- เน้ม คือ ต้น (ไม้)
- อูด คือ ไม้
- เน้มอูด คือ ต้นไม้
- ปางอูด คือ ดอกไม้
- ปรั๊ก คือ เงินก้อน (เงินจำนวนมาก)
- มาด คือ ทอง
- ปรั๊กมาด คือ เงินทอง
- ม่าย คือ อย่า (ห้าม)
- มาย คือ แม่ม่าย, พ่อม่าย
- ขา คือ รู้, ทราบ
- อิ้ คือ ไม่
- อีน คือ มี
- อิ้อีน คือ ไม่มี
- ท็อม คือ ลุง, ป้า
- มฺรา คือ น้า, อา
- ชุนหฺนาบ คือ ปลูกต้นกล้า
- ต๊อกหฺนาบ คือ ถอนกล้า
- จอยแซ คือ ไถนา
- เทือกแซ หรือ เริ่ดแซ คือ คราดนา
- ถู่งฮาย คือ ดำนา
- จูดฮาย คือ เกี่ยวข้าว
- ตัวอย่างประโยค
- วั่นอันผู้หอบปล็องเฮ๊ยโด คือ วันนี้คุณกินข้าวหรือยัง
- หมู่แฮงก้อแป็นช่องแซ้มยังซาเหฺลาะ คือ พวกเราก็เป็นคนไทยเหมือนกันนะ
- ฉ่องแฮงม่องช่องแซ็มก้อแป็นชึ่มยังซา คือ คนชองเรากับคนไทยก็เป็นคนเหมือนกัน
- ม่ายท่ออึ้ดช่องซุ๋กดั๋กหฺพึเหลาะ คือ อย่าทำให้ชาวบ้านเขาเอือมระอานะ
- "โจทอมจีเรี่ยนปริญญาโทแฮะห์ เพ่ยเรี่ยนปาหนีฮ์ " คือ หลานป้าจีเรียนปริญญาโทเหรอ เขาเรียนที่ไหนหล่ะ
ปัจจุบันภาษาชองกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต คนเฒ่าคนชาวแก่เสียดายที่ภาษาชองจะสูญหายไป ปัจจุบันมีชาวชองอาศัยถิ่นฐานเดิม ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ(ปัจจุบันมีแหล่งที่พูดกันมากที่สุดในตำบลตะเคียนทอง) จังหวัดจันทบุรี ประมาณ 6,000 คน แต่ที่พูดได้มีเพียงประมาณ 500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนวัยรุ่นชาวชองนั้นอายที่จะพูดภาษาดั้งเดิมประจำชาติพันธุ์ของตน
ขณะนี้มหาวิทยาลัยมหิดล พยายามจะฟื้นฟูโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบันทึกเสียง และถอดภาษาพูดเป็นภาษาเขียน ให้โรงเรียนบ้านคลองพลูสอนภาษาชองให้กับลูกหลานชอง แทรกเป็นหลักสูตรท้องถิ่นในช่วงชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ภาษาชอง