ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

อักษรและภาษาโบราณ, อักษรและภาษาโบราณ หมายถึง, อักษรและภาษาโบราณ คือ, อักษรและภาษาโบราณ ความหมาย, อักษรและภาษาโบราณ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 2
อักษรและภาษาโบราณ

       รูปอักษร และภาษาที่ใช้อยู่ในเอกสารโบราณ จัดเป็นสิ่งสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ประจำชาติ แสดงให้รู้ถึงวัฒนธรรม อารยธรรมของกลุ่มชนในอดีตที่เคยอาศัยอยู่ ณ แหล่งที่พบเอกสารโบราณเหล่านั้น นอกจากจะเป็นข้อมูลบ่งบอกเรื่องราวในอดีตแล้ว ยังเป็นหลักฐานแสดงถึงพัฒนาการของรูปอักษรที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยอีกด้วย ฉะนั้นการได้พบเอกสารโบราณในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทำให้ทราบถึงอารยธรรมทางด้านการใช้รูปอักษร และภาษาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนั้น ตัวอย่างเช่น ได้พบว่าเอกสารโบราณของไทยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด คือ กลุ่มจารึกที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ รูปอักษรในจารึกเหล่านั้น มีลักษณะเหมือนรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยพระเจ้าศิวะสกันทวรมัน กษัตริย์แห่งราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดียตอนใต้ จึงทำให้ทราบได้ว่ารูปอักษรแบบแรกที่ปรากฏในประเทศไทย คือ อักษรปัลลวะ มีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ภาษาที่ใช้มีทั้งภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ภาษาบาลี และภาษามอญ ตัวอย่างเช่น

  • จารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ได้แก่ จารึกวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง จังหวัดบุรีรัมย์ จารึกบ้านวังไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกหุบเขาช่องคอย จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกช่องสระแจง จังหวัดสระแก้ว
  • จารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต และเขมร ได้แก่ จารึกเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว จารึกศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
  • จารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี ได้แก่ จารึกเยธมฺมา จังหวัดนครปฐม
  • จารึกที่ใช้อักษรปัลลวะ ภาษามอญโบราณ ได้แก่ จารึกวัดโพธิ์ร้าง จังหวัดนครปฐม จารึกฐานพระพุทธรูปยืนวัดข่อย จังหวัดลพบุรี จารึกถ้ำนารายณ์ จังหวัดสระบุรี จารึกวัดมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

จะเห็นได้ว่ารูปอักษรปัลลวะ เผยแพร่ทั่วไปในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศไทย จัดเป็นรูปอักษรร่วมสมัยกับพุทธศิลปะสมัยทวารวดี และเมื่อกาลเวลาผ่านไป รูปอักษรแบบนี้ได้พัฒนาไปเป็นอักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ อักษรขอม และรวมถึงอักษรไทยด้วย

อักษรมอญโบราณ พบหลักฐานการใช้อักษรมอญโบราณ ภาษามอญโบราณ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงตอนบน คือ ดินแดนที่เป็นอาณาจักรหริภุญชัย ในเขตจังหวัดลำพูนปัจจุบัน โดยสืบทอดอารยธรรมมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๗ จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ อารยธรรมมอญโบราณที่หริภุญชัยก็สิ้นสุดลง กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรหริภุญชัย มีพระนามว่า พระยายีบา ได้เสียเมืองหริภุญชัยแก่พระยามังราย ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ ตรงกับรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย

อักษรขอมโบราณ พบหลักฐานการใช้อักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ในบริเวณภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ ของประเทศไทยปัจจุบัน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ แต่จะไม่พบเห็นเอกสารโบราณประเภทจารึกที่ใช้อักษรขอมโบราณ ในแถบภาคเหนือตั้งแต่จังหวัดตากขึ้นไป ทั้งนี้อาจเป็นได้ว่ากระแสอิทธิพลวัฒนธรรมแบบขอมโบราณนี้ไม่แพร่หลายขึ้นไปสู่ภาคเหนือของประเทศไทย หลักฐานทำนองนี้รวมไปถึงโบราณสถาน ที่เรียกว่า ปราสาทหิน ปราสาทอิฐ และพระปรางค์แบบกัมพูชา หรือลพบุรีที่มีอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ แต่ไม่เคยปรากฎอยู่ทางภาคเหนือ หรืออีกนัยหนึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่า ดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยปัจจุบันไม่เคยตกอยู่ในอำนาจการปกครองของอาณาจักรกัมพูชาโบราณ

อักษรขอม ในสมัยต่อจากอักษรขอมโบราณ มีเอกสารโบราณประเภทจารึกใช้อักษรขอม อายุอยู่ในระหว่าง พุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ โดยเฉพาะจารึกที่ปราสาทพระขรรค์ ประเทศกัมพูชา ซึ่งบอกให้ทราบว่า ในช่วงพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น ได้แผ่ขยายอาณาเขตของอาณาจักรออกไปกว้างขวางมาก ส่วนหนึ่งของอาณาจักรได้เข้ามาอยู่ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบัน กล่าวคือ ตลอดภาคตะวันออก ภาคอีสาน ภาคเหนือ ถึงจังหวัดสุโขทัย ภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภาคกลางที่จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดเพชรบุรี กลุ่มเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรกัมพูชาในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ ได้รับอารยธรรมของกัมพูชา ทั้งทางด้านศิลปกรรม รูปแบบอักษร และภาษาไว้ทั้งหมด ปรากฎหลักฐานแผ่กระจายอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ดังนี้

ด้านศิลปกรรม ได้แก่ วัดศรีสวาย จังหวัดสุโขทัย ปราสาทหินวัดกำแพงแลง จังหวัดเพชรบุรี ปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี เป็นต้น

ด้านรูปอักษร และภาษา ได้แก่ กลุ่มจารึกที่ใช้อักษรขอม มีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นว่า จารึกดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ พ.ศ. ๑๗๑๐ จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาเขมรและภาษาไทย จารึกหลังพระพุทธรูปนาคปรก จังหวัดลพบุรี พ.ศ. ๑๗๕๖ จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาเขมร และภาษาไทย และกลุ่มจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้างเพื่อประกาศเรื่องการสร้างโรงพยาบาล ได้แก่ จารึกเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จารึกด่านประคำ จังหวัดบุรีรัมย์ และจารึกปราสาทตาเมียนโตจ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งจารึกด้วยอักษรขอม ภาษาสันสกฤต เป็นต้น
      เมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ คนไทยได้ก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำยม พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัย ได้ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๒๖ ปรากฎหลักฐานลายสือไทยในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งเป็นจารึกอักษรไทย ภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดไม่มีลักษณะตัวอักษรในที่แห่งไหนจะเก่าเท่า ถึงแม้ว่าจะได้พบจารึกอักษรไทยที่คนไทยทำขึ้นจำนวนมากในทุกภาคของประเทศไทย แต่หลักฐานการค้นพบปรากฎว่า จารึกเหล่านั้น มีอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมาทั้งสิ้น และรูปอักษรไทยในอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเรียกว่า อักษรไทยสุโขทัยนั้น ได้เป็นแม่แบบของรูปอักษรไทยทั่วไปในสมัยต่อๆ มา
      เอกสารโบราณที่ใช้อักษรซึ่งวิวัฒนาการมาจากอักษรไทยในจารึกพ่อขุนรามคำแหง ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ พบว่า มีหลักฐานปรากฎอยู่เฉพาะในจารึกทั้งสิ้น จนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา จึงปรากฎหลักฐานในเอกสารโบราณประเภทคัมภีร์ใบลาน และหนังสือสมุดไทย
      อักษรภาษาที่ปรากฎในคัมภีร์ใบลานเป็นอักษรภาษารุ่นเก่า มีทั้ง อักษรไทย ภาษาไทย อักษรขอม ภาษาบาลี และภาษาไทย อักษรธรรมอีสาน ภาษาบาลี และภาษาไทย อักษรไทยน้อย ภาษาไทย อักษรมอญ ภาษามอญ และภาษาบาลี อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี และภาษาไทย ที่พบคัมภีร์ใบลานเก่าที่สุด จารขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๑ ใช้รูปอักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี เรื่องติงสนิปาต เป็นสมบัติของวัดไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ส่วนคัมภีร์ใบลาน จารอักษรขอมภาษาบาลีเก่าที่สุด ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ได้แก่ คัมภีร์ สมนัตปาสาทิกา วินยฏฐกถา (ทุติย) ปาจิตติยวัณณา ฉบับชาดทึบ สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ พ.ศ. ๒๑๕๘

     ส่วนอักษรภาษาที่ปรากฏในหนังสือสมุดไทย เป็นอักษรภาษารุ่นเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลาง มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมิได้มีแต่อักษรไทย ภาษาไทย แต่อย่างเดียว ที่ใช้อักษรภาษาอื่นก็มีบ้างเป็นส่วนน้อย เช่น อักษรขอม ภาษาบาลี อักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลีและภาษาไทย อักษรไทยน้อย ภาษาไทย เป็นต้น หนังสือสมุดไทยเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีหลักฐานในปัจจุบัน พบอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ คือ หนังสือสมุดไทยดำ เรื่อง พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

แหล่งที่มา : https://thrai.sci.ku.ac.th/node/450

อักษรและภาษาโบราณ, อักษรและภาษาโบราณ หมายถึง, อักษรและภาษาโบราณ คือ, อักษรและภาษาโบราณ ความหมาย, อักษรและภาษาโบราณ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu