ย้อนเวลาไปกับนาฬิกาโบราณ (กรุงเทพธุรกิจ)
เวลาแต่ละวินาทีที่ผ่านไป ล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ในตัวเอง และสิ่งหนึ่งที่จะช่วยบอกคุณค่า ของเวลาที่ผ่านมาได้ดีก็คือ นาฬิกา
นาฬิกาที่ปรากฏอยู่บนข้อมือ นาฬิกาตั้งโต๊ะ หรือนาฬิกาแขวนผนัง ย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการบอกเวลาที่ถูกต้องแม่นยำ นาฬิกาเป็นสมบัติที่จะเพิ่มมูลค่าได้ก็ต่อเมื่อมีคุณสมบัติที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเรื่องความสวยงามหรือกลไก เพราะเสน่ห์ที่แตกต่างเมื่อวันเวลาผ่านไป จึงเกิดกลุ่มผู้สนใจและสะสมนาฬิกาเป็นจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกิดจากความรักของ ดิลก มหาดำรงค์กุล ผู้ซึ่งมีความผูกพันกับนาฬิกามาเป็นเวลายาวนาน เริ่มตั้งแต่ประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมนาฬิกาอยู่บนบาทวิถีแถวสามแยก มีเพียงโต๊ะรับซ่อมนาฬิกาเพียงตัวเดียว จนกระทั่งวันนี้เขาสามารถสร้างและขยายเครือข่ายธุรกิจได้ใหญ่โตภายใต้ชื่อ "กลุ่มศรีทองพาณิชย์"
นาฬิกาส่วนใหญ่ไม่มีข้อมูลบอกว่าผลิตเมื่อใด หรือมาจากที่ไหน เนื่องจากบางเรือนได้รับหรือซื้อต่อๆ กันมา การออกแบบจัดวางจึงดูเอาตามความเหมาะสม เรือนไหนที่พอจะมีประวัติอยู่บ้างก็จะมีป้ายเขียนคำอธิบายติดไว้ข้างๆ เช่น นาฬิกาที่หายากมากในเมืองไทย คือ นาฬิกาหน้าปัดตราประจำพระองค์รัชกาลที่ 5 มีคำบรรยายไว้ว่า
"ผลิตขึ้นในประเทศอังกฤษ ราว ค.ศ.1885-1905 ประกอบด้วยระบบการเดินและตีบอกเวลา หน้าปัดระบุชื่อ ห้างรัตนมาลา เป็นผู้นำเข้ามาจำหน่าย โดยขอพระบรมราชานุญาตทำตราประจำพระองค์รัชกาลที่ 5 ประทับไว้บนหน้าปัดกระเบื้อง ซึ่งผลิตขึ้นในจำนวนจำกัด นักสะสมมักเรียกว่า "ตราแผ่นดิน" ปัจจุบันหาดูยาก"
สมัยก่อนนาฬิกาแต่ละเรือนจะไม่มียี่ห้อ คนไทยจึงนิยมตั้งชื่อกันเอาเอง บางชื่อนำมาจากแหล่งที่ซื้อ หรือบางเรือนก็ตั้งตามลักษณะที่โดดเด่น เช่น นาฬิกากระสือ เป็นนาฬิกาแขวนผนัง ด้านล่างมีตุ้มห้อยลงมา ไม่มีกล่องปิดคล้ายกับไส้ของกระสือ ส่วนบนที่เป็นตัวเรือนนาฬิกาจึงเปรียบเป็นหัว เมื่อลูกตุ้มแกว่งไปมาดูคล้ายกับไส้ของกระสือนั่นเอง
อีกเรือนที่น่าสนใจ คือ นาฬิกาตาเหลือก ชื่อนี้มีที่มาจากตุ้มของนาฬิกาเป็นรูปพระอาทิตย์ เมื่อมีการแกว่งไปมา ตาที่อยู่ตรงพระอาทิตย์ก็จะเหลือกขึ้นลงตามการแกว่งของตุ้ม นาฬิกาบางเรือนมีคุณสมบัติพิเศษที่ผู้ทำได้คิดประดิษฐ์มาเป็นอย่างดี ซึ่งไม่ได้มีแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้พิการทางสายตาด้วย เช่น นาฬิกาปารีส เป็นนาฬิกาตั้งพื้น ทรงสูงใหญ่ นำมาจากฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1928 ผู้พิการทางสายตาจะสามารถทราบเวลาจากนาฬิกาเรือนนี้ โดยจะตีบอกเวลาทุกๆ 15 นาที และตีอีกครั้งเมื่อครบชั่วโมง
นาฬิกาเลขไทย มีหน้าปัดเป็นกระเบื้อง เขียนเป็นเลขไทยแต่สั่งทำจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติให้ความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมี นาฬิกาแดด เป็นนาฬิกาโบราณยุคแรก นาฬิกาย่ำรุ่งย่ำค่ำ มีเพียงเรือนเดียวในประเทศไทย และนาฬิกาพกขนาดเล็กเท่าเม็ดกระดุม
เรียกว่าเกือบทุกชนิดของนาฬิกาโบราณที่มีอยู่ในประเทศ ถูกเก็บสะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แม้แต่นาฬิกาของบุคคลสำคัญระดับประเทศ เช่น นาฬิกาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 หรือนาฬิกาของประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็จัดแสดงไว้ที่นี่เช่นกัน
ด้วยความรักที่มีต่อนาฬิกา และความตั้งใจที่จะให้ประชาชนทั่วไป ได้รับความรู้เอกลักษณ์เฉพาะของนาฬิกาแต่ละเรือน ดิลกจึงเปิดพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ เขาว่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรคงต้องมาพิจารณากันอีกทีว่า นาฬิกาจำนวนเกือบพันเรือนเหล่านี้ อาจจะส่งมอบให้กับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หรือเก็บไว้ให้ลูกๆ หลานๆ ได้ช่วยดูแลให้คงคุณค่าต่อไป
พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณเปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันจันทร์-เสาร์ เวลา 9.00-18.00 เว้นวันนักขัตฤกษ์ ซึ่งนอกจากจะเปิดให้เข้าชมแล้ว ที่พิพิธภัณฑ์ยังมีบริการรับซ่อมนาฬิกาทุกชนิด ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ นาฬิกาข้อมือ หรือนาฬิกาโบราณ เพียงแต่ว่าต้องนำอะไหล่มาให้ครบ เพราะนาฬิกาโบราณบางรุ่นหาอะไหล่มาแทนไม่ได้
เรียกว่า มาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้แล้วจะไม่รู้สึกเสียเวลาเปล่าเลย...
และด้วยความรักในนาฬิกานี้เอง เป็นเหตุผลให้ดิลกเริ่มเก็บสะสมนาฬิกา การเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกทวีปในโลกทำให้เขาได้พบนาฬิกาแปลกตามากมาย เมื่อสะสมนานเข้า นาฬิกาที่มีอยู่ก็เพิ่มจำนวนขึ้น กระทั่งวันหนึ่งฝันของเขาก็เป็นจริง โดยการตั้งพิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณแห่งแรกของประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคารเลอคองคอร์ด พลาซา บนถนนรัชดาภิเษก นาฬิกาในพิพิธภัณฑ์มีจำนวนมากถึง 800 เรือน ทั้งที่เป็นนาฬิกาสมัยใหม่ และนาฬิกาโบราณ โดยเรือนที่เก่าที่สุดน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เลยทีเดียว
ขอบคุณ : https://www.school.net.th/schoolnet/article/read.php?article_id=573