สุพรรณบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีผู้อยู่อาศัยสืบเนื่องกันมากว่า 2,500 ปี จึงมีสถานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์หลายยุคหลายสมัย
"ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง" จังหวัดสุพรรณบุรีก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ โดยศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ถนนไร่ฝ้าย เขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี มีความศักดิ์สิทธิ์และประวัติความเป็นมาน่าสนใจ
เล่ากันว่าเมื่อราว 150 ปีก่อน มีผู้พบเจ้าพ่อหลักเมืองจมดินอยู่ริมศาล ชาวบ้านช่วยกันอัญเชิญขึ้นพร้อมสร้างศาลใหม่ให้ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่กล่าวขาน มีคนเคารพและศรัทธามากมาย ช่วยกันสร้างให้ใหญ่โตขึ้น
สมัยก่อนลือกันว่า "ห้ามเจ้าเข้าเมืองสุพรรณบุรี" เพราะเจ้าพ่อไม่ชอบ และจะทำให้มีอันเป็นไปต่างๆ นานา
ปี พ.ศ.2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เดินทางไปตรวจราชการงานเมือง และได้เข้าไปสักการะเจ้าพ่อ และประทานทรัพย์ก่อสร้างศาลเพิ่มเติม หลังเดินทางกลับไปได้วางแผนให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี พ.ศ.2447 ซึ่งเมื่อพระองค์สักการะทำพลีกรรม และพระราชทานทรัพย์ก่อสร้างเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานสำหรับคนที่มาบูชา สร้างกำแพงแก้วต่อจากตัวศาล เพิ่มเติมเป็นแบบเก๋งจีน หลังจากนั้น ก็ไม่มีการลือเรื่อง ห้ามเจ้าเข้าเมืองสุพรรณบุรีอีก
ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492 ชายหนุ่มชาวจีนตัวเล็กลูกจ้างส่งของทั่วไป อายุ 17 ปี นาม "เต็กเซียง แซ่เบ๊" ปัจจุบันคือ "นายบรรหาร ศิลปอาชา" ได้เล่าถึงเสี้ยวของชีวิตที่เป็นเด็กสุพรรณบุรี ว่า ได้ไปสักการะและตั้งจิตอธิษฐานบนบานศาลกล่าว ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อหางานทำ
สองมือของเต็กเซียงพนมก้มกราบไหว้ขอพรและตั้งจิตอธิษฐาน "หากไปอยู่กรุงเทพฯ ไปทำงานจนมีความเจริญรุ่งเรือง มีฐานะดี จะกลับมาสร้างศาลเจ้าถวายเจ้าพ่อหลักเมืองนี้ให้ใหญ่โต สวยสง่าราศีรวมทั้งจะไม่ลืมบ้านเกิดเป็นอันขาด"
เป็นเพราะคำอธิษฐานดังกล่าวหรือไม่ประการใด หลังเดินทางเข้ากรุงเทพฯ นายเต็กเซียงได้งานทำ มีอาชีพการงานดีขึ้นเป็นลำดับ จากลูกจ้างไต่เต้าก้าวสู่เจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง กระทั่งเข้าสู่เส้นทางการเมือง
และที่สุดก็ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ของประเทศไทย จากสัจจะแรงอธิษฐานและความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง บรรหาร ศิลปอาชา ได้กลับมาพัฒนาเมืองสุพรรณบุรี จนเข้าสู่ความรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี
จากเมืองชนบทท้องทุ่งไร่นาในอดีต พลิกกลับเป็นเมืองสมัยใหม่ที่สมบูรณ์แบบ ด้วยระบบสาธารณูปโภคอย่างครบครัน
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง "บรรหาร" ได้พัฒนาทุกด้านอย่างเป็นระบบ และได้สร้างเสาหลักเมืองมีมังกรพันรอบเสาสูง 2.2 เมตร บริเวณปากทางเข้าศาล มีการตกแต่งวิจิตรสวยงามตระการตา
ส่วนบริเวณศาล มีศาลากลางน้ำ เก๋งจีน 5 ชั้น บ้านร้อแซ่ ในวรรณคดีเรื่องไซอิ๋ว ฮก, ลก, ซิ่ว, เปาบุ้นจิ้น และสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง มีการจัดตกแต่งได้สวยงามและลงตัว
แต่สิ่งต่างๆ ที่ได้พัฒนาขึ้นเหล่านี้ สำหรับคนชื่อ บรรหาร แล้วถือว่ายังน้อยเกินไป กระทั่งได้มีการวางแผนในการจัดสร้าง "มังกรยักษ์" ทำด้วยคอนกรีตทั้งหลัง ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 100 เมตร งบประมาณนับร้อยล้านบาท ซึ่งมีการวางศิลาฤกษ์ไปแล้ว
ตามแผนงานแล้วมังกรยักษ์นี้ ภายในจะเป็นสถานที่จัดแสดงเรื่องราวประวัติศาลเจ้าพ่อ ประวัติเมือง สุพรรณ และประวัติศาสตร์ของจีนตั้งแต่สมัยเมื่อ 5,000 ปี ไล่เรียงตามลำดับราชวงศ์เรื่อยมา จนถึงการหอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาอาศัยแผ่นดินไทย โดยเน้นชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในสุพรรณบุรีเป็นพิเศษ
ซึ่งถ้าสร้างแล้วเสร็จ สถานที่นี้ก็จะเป็นศาลหลักเมืองที่มีมังกรอลังการยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก จะเป็นจุดสนใจดึงดูดผู้คนมาสักการะ ต่อยอดไปถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสุพรรณบุรี
และที่สำคัญที่สุดยังเป็นแหล่งรวมความรักสามัคคีของคนไทยเชื้อสายจีนที่ควรบันทึกจดจำ
ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรีนี้ จะมีงานประเพณีทิ้งกระจาด ที่จัดต่อเนื่องมากว่า 100 ปี เป็นพิธีกรรมของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ที่ต่างชาตินับถือกันมาก โดยจะเริ่มประมาณเดือน 9 ของไทยทางจันทรคติเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน ถือเป็นงานประเพณียิ่งใหญ่ของเมืองสุพรรณบุรี
โดยเชื่อกันว่าเป็นการต่ออายุให้พระพุทธเจ้า โดยจะทำพิธีอุทิศเครื่องอุปโภค-บริโภค เป็นทาน เนื่องจากมีเปรตตนหนึ่งมาบอกพระอานนท์ว่า อีก 3 วัน พระพุทธเจ้าจะสิ้นพระชนม์ หากจะแก้ไขเพื่อให้พระพุทธเจ้ามีอายุยืนยาวขึ้น ต้องทำพิธีทิ้งกระจาดนี้
พระอานนท์จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า และประกอบพิธีเมตตาธรรมด้วยการโปรยทาน งานทิ้งกระจาดจึงเกิดตั้งแต่นั้นมา
ขณะนี้งานทิ้งกระจาดศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี กำลังเริ่มและจะมีต่อเนื่องกันไปจนถึงเดือนตุลาคม 2549 โดยจัดขึ้นที่บริเวณหลังเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี รวมระยะเวลาเกือบ 2 เดือน ส่วนใครอยากทำบุญร่วมกุศลสร้างมังกรยักษ์ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ก็สามารถไปบริจาคได้ เพราะเวลานี้การก่อสร้างเพิ่งจะไปได้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์
*ได้ทั้งบุญกุศลและท่องเที่ยวสนุกใกล้ๆ กรุงเทพฯ ก็ต้องงานนี้แหละ*
แหล่งที่มา : https://board.palungjit.com/f76/มังกรยักษ์-ศาลหลักเมืองสุพรรณ-50814.html
แหล่งที่มาของรูป : https://www.oknation.net/blog/mrtaweesak/2009/04/10/entry-1