
วันน้ำของโลก (World Day for Water หรือชื่อที่ไม่เป็นทางการคือ World Water Day) ตรงกับวันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี
แม้ว่าพื้นที่ 2 ใน 3 ของโลกจะเป็นน้ำ แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มที่พบได้ในทะเลและมหาสมุทร คิดเป็นร้อยละ 97.5 ส่วนอีกร้อยละ 2.5 เป็นน้ำจืด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกาและกรีนแลนด์ รวมไปถึงน้ำใต้ดินที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ด้วย แหล่งน้ำจืดที่นำมาดื่มกินและนำมาใช้ประโยชน์ จึงได้มาจากทะเลสาป อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ และสำธาร ซึ่งมีจำนวนเพียงร้อยละ 0.26 ของน้ำจืดที่มีอยู่ทั้งหมด และน้ำจืดในปริมาณดังกล่าว ยังมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในสภาพปนเปื้อนและมีสารพิษ ต้องทำการบำบัดก่อนนำมาใช้อีกด้วย ในปัจจุบัน มีประชาชนเกือบ 1,400 ล้านคน ทั่วโลก ที่ขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับบริโภคและป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคอหิวาตกโรค ท้องร่วง ไข้รากสาดน้อย และโรคพยาธิต่างๆ เป็นต้น
โรคเหล่านี้มีสาเหตุมาจากการบริโภคอาหารหรือน้ำที่ไม่สะอาด รวมทั้งมีสาเหตุมาจากพาหะนำโรค เช่น ยุง ซึ่งเป็นผลให้ในแต่ละปีมีประชากรเสียชีวิตประมาณ 5.3 ล้านคน หากไม่มีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างจริงจังแล้ว จะส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต จากการบริโภคน้ำที่ไม่าละอาดมีจำนวนมากขึ้น อย่างไรก็ตามแม้จะมีความพยายามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างเร่งด่วน แต่จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณ 6 พันล้านคน ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต
องค์การสหประชาชาติ ได้ตระหนักปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ในปี ค.ศ.1992 จึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์น้ำของโลก" (world day for water) โดยในแต่ละปีจะมีหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติรับผิดชอบในการจัดงาน
วัตถุประสงค์ของการจัดงาน
1. เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและปัญหาการขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค
2. เพื่อเพิ่มพื้นที่อนุรักษ์น้ำในรูปแบบต่างๆ
3. เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลของแต่ละประเทศและหน่วยงานเอกชนได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์น้ำให้มากขึ้น
นอกจากนั้น องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดนโยบายการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน 5 ประการได้แก่
1. การจัดการให้พื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่แตกต่างกันได้มีโอกาสใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน
2. การอนุรักษ์แหล่งน้ำ โดยพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อแหล่งน้ำ
3. การควบคุมดูแลการใช้น้ำจากแหล่งต้นน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำของแหล่งปลายน้ำ
4. การจัดการกับปัจจัยอื่นๆ โดยดูแลปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
5. การจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม
ในปี ค.ศ.1998 ที่ผ่านมา ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เช่น จีน บังกลาเทศ และอินเดีย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดหัวข้อการรณรงค์วันอนุรักษ์น้ำของโลก ในปี ค.ศ.1999 นี้ว่า "Everyone Lives Downstream" หรีอ "ชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำ" ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ตามการดำรงชีวิตของมนุษย์ ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของน้ำ และปัญหาของแหล่งน้ำที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ของมนุษย์ในวงกว้าง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดงาน ได้แก่ โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (UNEP)
นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อการ รณรงค์ วันอนุรักษ์น้ำของโลก ในปี ค.ศ.2000 ไว้ว่า " Water for the 21" หรือ "น้ำเพื่อศตวรรษที่ 21" โดยมีองค์การยูเนสโกเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดงาน และในปี ค.ศ.2001 หัวข้อการรณรงค์ ได้แก่ "Water and Health" หรือ "น้ำและสุขภาพ" และหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดงาน ได้แก่ องค์การอนามัยโลก
บรรณานุกรม
วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓.
ข้อมูลโดย : กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด
https://www.lib.ru.ac.th/journal/mar/mar22-WorldDayForWater.html