วิวัฒนาการเรือยาวไทย
เรือยาวมรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำเป็นกีฬาชาวบ้านอันสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต อันดีงาม ความผูกพันระหว่างสายน้ำกับชีวิต เรือกับวิถีชีวิตบนพื้นฐานของความศรัทธาเสื่อมใสในคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันนำมาซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของบวร ซึ่งแปลว่า ประเสริฐ อันได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งเป็นองค์กรพื้นฐานของชุมชนชนบทไทยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของชาติ
เรือยาวประเพณีไทยได้มีวิวัฒนาการจากวิถีชีวิตมาสู่ประเพณี และวิวัฒนาการไปสู่ระบบการแข่งขันนานาชาติในปี พ.ศ.2531 อันเป็นทรัพยากรด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่สำคัญจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ไปทั่ว กระทั่งพัฒนาไปสู่การกีฬาในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และระดับประเทศสามารถจำแนกวิวัฒนาการได้เป็น
1. ยุคอดีต แต่ละคุ้มบ้าน คุ้มวัด ในทุกลุ่มน้ำสยามประเทศนิยมหาไม้ตะเคียนนำมาขุดเป็นเรือยาวร่วมการแข่งขัน อันแสดงออกถึงความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ เพื่อสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณมาสู่คุ้มบ้าน คุ้มวัดของตนเอง ช่างขุดเรือที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยที่ควรจารึกไว้ในความทรงจำตลอดไปว่าเป็นบรมครูแห่งภูมิปัญญาช่างไทยในการขุดเรือยาว อาทิ
- ช่างเสริม เชตวัน บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์
- ช่างมา นคร บ้านเกาะหงส์ จ.นครสวรรค์
- ช่างเลิศ โพธิ์นามาศ บ้านหัวดง จ.พิจิตร
- ช่างวัน มีทิม บ้านแหลมทราย อ.หลังสวน จ.ชุมพร
2. ยุคทำสาว เป็นคำฮิตในยุทธจักรเรือยาวทั่วประเทศ เนื่องจากรัฐมีนโยบายปิดป่าเพื่อคืนความสมดุลย์สู่ธรรมชาติ จึงเริ่มนำเรือเก่าเรือแก่มาซ่อมแซมปรับปรุง ตกแต่ง แก้ไขกันใหม่ เรียกว่าทำสาวใหม่ให้มีรูปร่างที่ทันสมัยขึ้น และประสบชัยชนะจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย ซึ่งช่างทำสาวเรืออันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ได้แก่ พระอธิการสมศักดิ์ สุวณโณ วัดสุวรรณราชหงส์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง, ช่างสงวน สูญนภา บ้านเฉลิมอาสน์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หรือช่างเกียรติศักดิ์ อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นต้น ในด้านทีมเรือก็มีมิติใหม่เกิดขึ้น คือ หน่วยราชการที่มีกำลังพลที่ 4 เหล่าทัพส่งกำลังพลมาเล่นเรือเพื่อร่วมรักษาประเพณีชาวบ้าน รวมทั้งเป็นการปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงของหน่วยงาน
3. ยุคเรือลาว นำมาทำสาวไทยภายหลังการแข่งขันเรือยาวเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากอิทธิพลแห่งโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเห็นความ สำคัญของกีฬาชาวบ้าน มรดกวัฒนธรรมแห่งสายน้ำสยามประเทศ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดสดในสนามต่าง ๆ จึงมีภาคเอกชน และหน่วยงานของรัฐตระหนักถึงความสำคัญส่งทีมเรือเข้าร่วมการชิงชัย และธำรงรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำนี้ไว้ จึงมีการแสวงหาเรือโบราณจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว) เข้ามาทำการตกแต่งแก้ไขทำสาวใหม่ด้วยฝีมือของชาวไทยเพราะราคาถูกกว่าเรือไทย เป็นยิ่งนัก
4. ก้าวสู่นานาชาติ และกีฬาแห่งชาติ ปัจจุบันเรือยาวประเพณีเป็นกีฬาทางน้ำบนพื้นฐานของวัฒนธรรมประเพณีที่ได้รับ ความนิยมแพร่หลายจนก้าวสู่การแข่งขันเรือนานาชาติเพื่อส่งเสริมการท่อง เที่ยว และฝีพายแห่งสยามประเทศก็ประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยใน การแข่งขันในน่านน้ำสากลทั่วโลก ประการสำคัญวงการเรือยาวประเพณีได้รับการยอมรับจากวงการกีฬาระดับชาติบรรจุ เข้าชิงชัยเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติโดยการพัฒนารูปแบบให้เหมาะสม กับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปให้ได้มาตรฐานกีฬาสากลทั่วไป
5. ยุคฝีพายมืออาชีพ พาณิชย์แทรกแซง สังคมไทยยุคปัจจุบันเงิน หรือวัตถุดิบ เจริญรุดหน้ากว่าจิตใจตลอดจนภาระกิจในการยังชีพในเศรษฐกิจยุคปัจจุบันส่งผล กระทบก่อให้เกิดความสับสนต่อวิถีชีวิตอันดีงามเป็นยิ่งนัก แต่เดิมการแข่งขันเรือยาวประเพณีจากวิถีชีวิตอันดีงามเพื่อความสามัคคีเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกันตลอดจนเพื่อนำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศแห่งคุ้มบ้านคุ้ม วัดก่อให้เกิดฝีพายมืออาชีพรับจ้างพายเรือด้วยค่าตัวที่สูงส่ง และด้วยอำนาจของเงินตรา บางครั้งทำให้หลงลืมคำว่าประเพณี และวิถีชีวิตอันดีงามของบรรพชนไปอย่างน่าเสียดาย หรือเกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่ผิดจากการจัดการแข่งขันเป็นสิ่งที่พึง สังวรระวังเป็นยิ่งนัก หรือเกิดการเบี่ยงเบนจากคุณงามความดีอันเป็นภูมิรู้ภูมิธรรมของบรรพชนอย่าง แท้จริง
ข้อมูลจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)
https://www.sat.or.th