มีบ้างไหมที่คุณรู้สึกเหนื่อย เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจเสียเต็มประดา จนไม่อยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรทั้งวัน อยากนอนอยู่กับที่เฉยๆ เผื่อจะหายเหนื่อยขึ้นมาบ้าง เหนื่อยแบบนี้ไม่เหมือนกับความเหนื่อยที่เกิดขึ้นหลังวิ่งหรือออกกำลังกายมาใหม่ๆ นะค่ะ แต่หมายถึงอารมณ์เพลียละเหี่ยใจ พาลไม่มีแรงทำอะไรสักอย่าง พอถึงวันหยุดก็จมอยู่กับที่นอนทั้งวัน จนเหมือนคนขี้เกียจ แถมให้คิดอะไรก็คิดไม่ค่อยจะออกเสียด้วย กลายเป็นคนความคิดช้า ไม่กระฉับกระเฉงเหมือนที่เคยเป็น
เชื่อไหมว่าในโลกนี้มีคนที่กำลังมีอาการแบบนี้อยู่อีกเป็นล้านๆ คน จนแทบเหมือนเรื่องธรรมดา แต่มันไม่ธรรมดาหรอกนะค่ะ เพราะลองคิดว่าถ้ามีคนมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียละเหี่ยใจตลอดเวลาแบบนี้เยอะขนาดนั้น แล้วองค์กรหรืองานที่คนเหล่านี้ทำอยู่จะเคลื่อนตัวไปได้ช้าเพียงใด ยิ่งหากมองภาพรวมในระดับประเทศชาติยิ่งแล้วใหญ่ การพัฒนาศักยภาพแขนงต่างๆ อะไรต่อมิอะไรคงเป็นไปได้ช้าพิลึก!
ในทางการแพทย์มองว่าอาการอ่อนเพลียของคนเราที่เกิดขึ้นเสมอๆ นี้ ถือเป็นความผิดปกติของร่างกายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา สาเหตุของความเหนื่อยอ่อนแบบนี้คงจะตอบได้ยากว่าเกิดจากอะไรแน่ เพราะแต่ละคนล้วนมีปัจจัยแวดล้อมแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วมักจะมีเหตุมาจากความเจ็บป่วยไม่สบาย การอดนอน ความเครียด คนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย การทำงานมากเกินไป การรับประทานยาประจำตัว หรือไม่ก็อารมณ์ที่กำลังซึมเศร้าจากแรงกดดันรอบๆ ตัว ยิ่งอยู่ในสภาพสังคมเมืองใหญ่ที่เรามักจะใช้พลังร่างกายกันเกินพิกัด เวลาควรนอนไม่ได้นอน เวลาควรกินไม่ได้กิน เพราะทำงานเกินเวลา หรือเป็นพวกนิยมการปาร์ตี้สังสรรค์ดึกดื่นข้ามวันข้ามคืน พอตื่นเช้าขึ้นมาเลยลุกไม่ไหว เรียกว่าปาร์ตี้กันเพลินเกินเวลาพาให้งานการเสียก็มีอยู่ไม่น้อย พอได้สติขึ้นมาก็รู้สึกเหนื่อยเกินกว่าจะทำอะไรเสียแล้ว
อาการเหนื่อยๆ เพลียๆ นี้อาจรักษาได้ด้วยยาบางอย่าง อย่างเช่น ยาระงับประสาท หรือยานอนหลับ กินให้คลายเครียดนอนหลับสนิท ตื่นมาจะได้มีเรี่ยวแรง แต่ผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ก็อย่างที่พอรู้ๆ กันอยู่ ถ้ากินติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลเสียต่อสุขภาพจิตประสาทแน่ๆ ทางที่ดีกว่า คือการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตเสียใหม่ น่าจะให้ผลที่ดีในระยะยาวกับตัวคุณมากกว่า ลองพิจารณา 8 วิธีที่เราจะแนะนำต่อไปนี้ แล้วนำไปปฏิบัติตามดู คุณอาจจะหยุดความอ่อนเพลียละเหี่ยใจกลับมาเป็นคนใหม่ได้ในเวลาไม่ช้าค่ะ
1.ไปตรวจสุขภาพ ลองนึกๆ ดูว่าที่คุณรู้สึกเหนื่อยๆ นั้นเป็นเพราะเกิดมาจากอาการไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเปล่า เพราะอาการอย่างเช่น เบื่ออาหาร มึนงง หัวหมุนติ้ว ปวดเมื่อยเนื้อตัว งงๆ ลอยๆ จำอะไรไม่ค่อยได้ หรือซึมเศร้า บางทีอาจมาจากโรคที่ทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ หรือบางครั้งยาที่เราจำเป็นต้องกินเข้าไปก็มีผลข้างเคียงทำให้ร่างกายเราอ่อนเพลียได้ เช่นยาประเภทที่มีผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย ยาแก้แพ้ หรือยารักษาอาการติดเชื้อบางประเภท ยารักษาโรคเรื้อรังบางอย่าง ยาระงับประสาทบางตัว อาจทำให้คนที่กินง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งคุณควรจะขอคำแนะนำจากคุณหมอเพิ่มเติมในเรื่องนี้ดูว่ามีวิธีไหนที่จะหลีกเลี่ยงได้บ้าง
2. ให้ความสำคัญกับการนอนหลับเพิ่มขึ้น ในวันหนึ่งๆ คุณควรจะนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย หากคุณนอนไม่หลับหรือนอนไม่พอเป็นประจำ ลองนึกดูว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อการนอนของคุณบ้าง เช่น ชอบเปิดไฟนอน ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือก่อนนอนเป็นนิสัย การทำแบบนี้มักจะเป็นการรบกวนการนอนของคุณโดยไม่รู้ตัว ทางที่ดีควรยกกิจกรรมเหล่านี้ไปทำที่อื่น แล้วก่อนนอนควรทำอะไรที่จะทำให้จิตใจคุณสงบนิ่ง สบาย เช่น อาบน้ำให้สะอาด หรือทำสมาธิสวดมนต์ ไหว้พระ เป็นต้น แล้วเมื่อถึงเวลานอนให้ตรงเข้ามาในห้องนอนเพื่อนอนเพียงอย่างเดียว อ้อ...ควรงดการดื่มกาแฟ หรือแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอนด้วยค่ะ
3. กินอาหารให้เพียงพอกับธรรมชาติของร่างกายต้องการ นอกจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันในปริมาณที่สมดุลแล้ว ยังจำเป็นต้องกินอาหารที่มีวิตามิน และเกลือแร่ที่เพียงพอด้วย ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีกำลังวังชา ไม่กินมากไปจนทำให้อ้วนเดินไม่ไหว หรือกินน้อยไปจนกลายเป็นคนผอมแห้งแรงน้อย เลือกกินให้พอดีๆ ทั้งข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ ก็จะช่วยคุณไม่ให้ไปเสียเงินเพิ่มกับค่าอาหารเสริมต่างๆ ทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นด้วย
4. ดื่มน้ำเปล่ามากๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้วขึ้นไป หลายๆ คนพอจะรู้อยู่ว่าการดื่มน้ำเปล่ามากๆ จะช่วยให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดี ทำให้ผิวพรรณชุ่มชื้น แต่คุณบางคนอาจยังไม่เคยทราบว่าการดื่มน้ำก็ให้พลังงานกับร่างกายได้ด้วยเหมือนกัน เพราะเวลาที่ร่างกายไม่ได้รับน้ำเพียงพอ โดยธรรมชาติจะพยายามปรับตัวทำงานให้หนักขึ้นเพื่อให้ได้น้ำมาใช้ในกระบวนการเผาผลาญอาหารให้กลายเป็นพลังงาน คล้ายๆ กับรถที่ขาดน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ในเวลาที่คุณต้องออกแรงหรือใช้ความคิดมากๆ จนรู้สึกหมดเรี่ยวแรง การได้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำผักคั้นสดๆ สัก 1-2 แก้วจะช่วยทำให้คุณรู้สึกแช่มชื่นขึ้นได้อย่างเห็นผล เพราะทั้งน้ำตาลธรรมชาติและวิตามินในน้ำผัก/ผลไม้จะเข้าไปทดแทนส่วนที่ถูกใช้ไปได้เป็นอย่างดี และหากเป็นไปได้ควรพยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนจะดีกว่า
5. กินอาหารแต่ละมื้อให้อิ่มพอดี หรือแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อยๆ ปริมาณน้อยแต่เพิ่มจำนวนมื้อ คุณลองสังเกตดูเวลาเรากินอาหารเข้าไปเยอะๆ จนอิ่มแปล้นั้น มักจะตามมาด้วยอาการง่วงเหงาเงื่องหงอย ในอีกไม่กี่นาทีต่อมาเสมอค่ะ นั่นเพราะร่างกายใช้พลังงานอย่างสูงไปในการย่อยอาหารจนหมด ดังนั้นการกินอาหารมื้อละน้อยๆ จะช่วยให้ร่างกายใช้พลังงานแต่พอดีๆ แต่ยังช่วยให้ระบบการย่อยของคุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย แถมจะช่วยให้การเผาผลาญอาหารทำได้เต็มที่กว่าเดิมด้วย
6. หายใจลึกๆ ใช้สมาธิจดจ่อกับลมหายใจเข้า-ออก สักติดต่อสักประมาณ 2 นาที จะช่วยให้คุณผ่อนคลายจากอารมณ์เหน็ดเหนื่อย วิตกกังวล เศร้าใจ เสียใจ หรือโกรธ ต่างๆ ได้มาก ซึ่งมีผลให้จิตใจของคุณสงบ สบายขึ้น คุณอาจตั้งสติจดจ่อกับการหายใจแบบนี้ในเวลาที่กำลังทำกิจกรรมอื่นๆ อยู่คนเดียว เช่น ตอนที่รถติดๆ บนถนน ขณะเดินเล่น หรือแม้กระทั่งเวลาซักผ้า ล้างจาน จะช่วยให้จิตใจของคุณมีสมาธิดีขึ้นได้
7. ออกกำลังกายให้มากขึ้น และทำอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายสร้างสารเอ็นดอร์ฟินขึ้นมาในสมองโดยอัตโนมัติ ซึ่งสารนี้จะเป็นสารที่ให้ความรู้สึกเป็นสุข ช่วยคลายความเหนื่อยล้าอ่อนเพลียได้ชะงัด และยังช่วยให้กล้ามเนื้อใช้พลังงานที่ร่างกายเผาผลาญมาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ขนาดที่เหมาะคือออกกำลังกายหนักปานกลางวันละ 30 นาทีอย่างน้อยๆ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ หากคุณเป็นคนหนี่งที่นานๆ จะมีโอกาสออกกำลังกายสักที ควรตั้งต้นเสียใหม่ยังไม่สายเกินไปด้วยการเริ่มต้นออกกำลังจากทีละน้อยๆ ช้าๆ ก่อน เช่น การเดินรอบๆ บ้าน แล้วค่อยๆ เพิ่มระยะทาง ความหนักทีละนิดๆ เช่น เปลี่ยนเป็นวิ่งระยะใกล้ๆ แล้วค่อยเพิ่มระยะทางยาวขึ้น เลือกการออกกำลังกายแบบใดก็ได้ที่ไม่ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยจนทนไม่ไหวเสียก่อน เมื่อคุณได้ใช้พลังงานไปกับการออกกำลังกายแล้วจะช่วยให้คุณนอนหลับได้สนิท ความรู้สึกนึกคิดก็จะแจ่มใสกว่าเดิม
8.อยู่กับปัจจุบันให้ได้ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า หากแบ่งพลังงานที่หล่อเลี้ยงชีวิตเป็น 100 ส่วน ประมาณ 35 ส่วนจะถูกใช้ไปกับการคิดถึงอดีต 35 ส่วนจะใช้กับการคิดถึงอนาคต ที่เหลืออีกเพียง 30 ส่วนจึงจะใช้คิดถึงเรื่องปัจจุบัน ฟังแล้วคงเห็นภาพว่าทำไมเราถึงรู้สึกเหนื่อยกับเรื่องบางเรื่องที่มันผ่านไปแล้วและเราไม่สามารถแก้ไขได้ หรือเหนื่อยกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึงเสียเหลือเกิน ดังนั้นทางออกก็คือ การอยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด เพราะปัจจุบันเท่านั้นที่คุณจะสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ การจดจ่อกับปัจจุบันกาลจะทำให้คุณมีสติรับรู้อันเต็มเปี่ยมทุกขณะจิต มองโลก มองสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ ตามความเป็นจริง และจะช่วยให้คุณตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นมาก เลือกทำในสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหรือหลัง ไม่ลนลาน หรือร้อนรน ทำในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองและคนรอบข้างได้
อ่านจนครบ 8 วิธีแล้ว หวังว่าใครที่มักจะรู้สึกเพลียใจอยู่จนเป็นกิจวัตรน่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นนะค่ะ แถมท้ายอีกหน่อยด้วยวิธีแก้เครียด วิตกกังวล และกลัว ซึ่งมีที่มาเหตุการณ์ต่างๆ ที่คุณประสบพบเจอ ปัญหาชีวิต ปัญหาเศรษฐกิจ ความคิด ความทรงจำ หรือแม้แต่ความผิดหวังจากที่คาดหวังเอาไว้ ทั้งหมดนี้ล้วนก่อความเครียดให้คุณได้ไม่มากก็น้อย นำมาซึ่งอาการข้างเคียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปวดหัว ปวดคอ ปวดตึงที่กล้ามเนื้อไหล่ เหงื่อออกมาก ใจเต้นแรง เป็นต้น วิธีทำใจให้คลายเครียดที่เราอยากแนะไว้ตรงนี้ โดยการ กินอาหารให้ถูกส่วน พร้อมกับ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ อย่างที่พูดถึงไปแล้วข้างต้น
อย่าเก็บปัญหาที่คุณกำลังเครียดอัดอั้นไว้กับตัว ลองปลดปล่อยมันออกมาด้วยการเล่าให้เพื่อนสนิทที่คุณไว้ใจได้สักคนฟัง ปรึกษาเพื่อนถึงปัญหาที่คุณเผชิญอยู่ การปลดปล่อยจะทำให้คุณรู้สึกสบายขึ้น แล้วสติปัญญาแจ่มใสคิดแก้ไขสถานการณ์ก็จะเกิดตามมาไม่เชื่อลองดู
ผ่อนคลายจิตใจ ด้วยการหัวเราะเสียบ้าง การอยู่ท่ามกลางคนอารมณ์ดีจะช่วยคุณได้มากในเรื่องนี้ จะทำให้คุณคลายความเครียดได้ชะงัด ความคิดจะกลับมาแจ่มใส พร้อมหันหน้าสู้ปัญหาอย่างมีสติ
ให้เวลากับกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่คุณชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ ทำงานบ้าน ฯลฯ จะเป็นวิธีผ่อนคลายความเครียดที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ทั้งยังให้คุณมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากปัญหาเดิมๆ เหล่านั้นด้วย เผลอๆ จะช่วยคุณมีทางออกให้กับปัญหาแบบไม่รู้ตัว
ที่สำคัญที่สุดอย่างที่กล่าวไปแล้วคือ การอยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด ค่ะ
ข้อมูลจาก : https://www.kpmax.com/molwebboard/blog/blog.php?module=detail_post&blog_id=2578&blog_name=cop.ubonrat&user_blog_id=89
ที่มา :นิตยสาร Health Today