บุก (White spot arum)
ภาษาอังกฤษ เรียก คอนยัก (Konjac) เป็นต้นไม้ประเภท Amorphohpallus ลำต้นนำมาทำแกงส้ม หรือลวกจิ้มน้ำพริก เอาหัวบุกมาฝานเป็นแว่น ปิ้งหรือย่างไฟเป็นขนมบุก ซึ่งจะมีรสหวาน ในประเทศไทยมีบุกไข่ (A.muelleri Blume) และบุกคางคก (Apacolifilus Nicolson) ส่วน Konjac เป็นบุกลูกพระอาทิตย์ หรือ White spot arum.
บุก เป็นพืชพื้นเมืองของไทยมักขึ้นในที่ชื้น ลำต้นมีลายขาว ๆ มีหนามเล็ก ๆ มียางซึ่งหากถูกแล้วจะคัน หัวบุกมีขนาดใหญ่ เนื้อมีสีขาวอมเหลือง ละเอียดเป็นเมือกลื่น เรากินบุกกันทั้งใบและหัว หัวบุกมีแป้งประมาณร้อยละ 67 มีโปรตีนร้อยละ 5-6 สารแป้งที่อยู่ในหัวบุกเรียกว่า แมนแนน (mannan) เมื่อสารนี้ถูกทำให้แตกตัว จะได้กลูโคสกับแมนโนส หรือที่เรียกกันว่า กลูโคแมนแนน (glucomannan) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาลกลูโคสในระบบทางเดินอาหาร และยังช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือด
คนไทยนำหัวบุกมาทำอาหารหลายอย่างทั้งของคาว และของหวาน แต่ต้องต้มในน้ำเดือดเสียก่อน เพื่อไม่ให้เป็นเมือก ก้านของใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ เมื่อลอกเอาเยื่อออกแล้วใช้ต้มจิ้มน้ำพริก หรือนำมาแกงได้ เส้นชิราตากิที่ใส่ในสุกี้ยากี้ญี่ปุ่นก็ทำมาจากแป้งหัวบุก แต่ญี่ปุ่นเรียกแป้งนี้ว่า คอนนิยักกุ (konnyaku)
เกร็ดน่ารู้!
เส้นบุก ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหัวบุกหรือที่เรียกว่าหัวกระบุก มีแบบเส้นใสและเส้นผสมสาหร่ายทะเลเพื่อเพิ่มคุณค่าอาหาร สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารจานอร่อยได้หลายจาน รวมถึงอาหารจานมังสวิรัติด้วย
เส้นบุก เป็นอาหารที่มีเส้นใยสูง เมื่อนำมาทำเป็นยำมังสวิรัติจึงเป็นอาหารสุขภาพชั้นยอดอีกจาน และยังเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักอีกด้วย เพราะป็นอาหารที่ให้พลังงานต่ำ อาหารจานนี้จึงเป็นอาหารมื้อเย็นได้อย่างดี
เส้นบุก ก่อนนำมายำ ต้องลวกก่อน การลวกต้องรอให้น้ำเดือดจัดจึงใส่เส้นบุก จะได้เส้นบุกที่นุ่ม และการทำน้ำยำ สัดส่วนของน้ำมะนาวและซีอิ๊วขาวต้องเท่าๆ กัน รสชาติจะกลมกลืนกัน ไม่เปรี้ยวหรือเค็มจนเกินไป
ที่มา
https://www.thaigoodview.com/library/studentshow/st2545/5-4/no01/book.html
https://naichef.50megs.com