พระสุพรรณกัลยา หรือ พระสุวรรณกัลยา หรือ พระสุวรรณเทวี ชาวพิษณุโลกถวายพระเกียรติยศว่าเป็นผู้เสียสละเพื่อประเทศชาติ แม้ในพงศาวดารไทยจะไม่ได้กล่าวถึง มีเพียงปรากฎอยู่ในเอกสารพม่า คือ คำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงหาวัด กองทัพภาคที่ ๓ ได้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐาน ไว้ ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่ให้ๆกับพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ
พระสุพรรณกัลยาทรงเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กับ พระวิสุทธิกษัตรี เป็นพระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ประสูติเมื่อวันเสาร์ ปีมะเส็ง พุทธศักราช 2065 ณ พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก (บริเวณที่ตั้ง โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ในปัจจุบัน)และเจริญพระชนม์ เมืองพิษณุโลก ในหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่าเล่าว่า เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในคราวสงครามช้างเผือก ได้ยกเข้ามาทางสุโขทัยและเข้าโจมตีเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ได้ปรึกษาขุนนางข้าราชการแล้ว เห็นว่าขืนสู้ต่อไปก็ย่อยยับ นำความทุกข์ยากมาสู่ปวงชนจึงให้ยอมแพ้ ในครั้งนั้น พระเจ้าหงสาวดีได้ให้พระเอกาทศรถ อยู่รักษาเมืองพิษณุโลก พระสุพรรณกัลยา กับพระนเรศวรนั้นให้ตามเสด็จในกองทัพหลวงด้วย ให้พระมหาธรรมราชาเป็นทัพหน้า ยกเข้ามากรุงศรีอยุธยา ส่วนในคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว พระเจ้าบุเรงนองได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยาและได้นำตัวสมเด็จพระมหินทร์ พร้อมด้วยสมเด็จพระนเรศวรและ “พระปกพระพี่นางพระนเรศวร์…พระเอกาทศรถนั้น ให้ไว้เป็นเพื่อนพระบิดา” แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่า พระสุพรรณกัลยานั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชส่งตัวไปเป็นพระชายา เป็นตัวประกันแทนสมเด็จพระนเรศวร เพื่อให้มาช่วยราชการ ซึ่งในปีนั้นเอง สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก เข้าใจว่าสมเด็จพระนเรศวรและพระสุพรรณกัลยาน่าจะเสด็จไปหงสาวดี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๑๐๘ ในคราวสงครามช้างเผือกเพราะเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชผู้ครองเมืองพิษณุโลกยอมสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าบุเรงนองแล้ว ตามธรรมเนียมการควบคุมเมืองประเทศราชนั้น ถ้ามีราชโอรสและราชธิดาจะต้องส่งไปเป็นตัวประกันราชโอรสขึ้นเมืองก็จะถูกเลี้ยงดูอย่างดีเพื่อปลูกจิตสำนึกบุญคุณข้าวแดงแกงร้อน เมื่อเจริญพระชนม์ก็จะถูกส่งกลับคืนประเทศครองราชสมบัติแทนราชบิดา ส่วนราชธิดานั้นก็จะแต่งตั้งให้เป็นมเหสีหรือพระราชชายาตามความสำคัญของเมืองขึ้น พม่าใช้ประเพณีนี้สืบมาจนกระทั่งถึงรัชสมัยพระเจ้าสีป้อ ( Thebaw) กษัตริย์องค์สุดท้ายซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามินดง ทางราชสำนักไทยก็ใช้เช่นกรณีสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอเจ้าดารารัศมีจากพระเจ้าเชียงใหม่แล้วแต่งตั้งเป็นพระราชชายาเป็นต้น
หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าได้กล่าวถึงพระสุพรรณกัลยาต่อไปว่า เมื่อไปถึงหงสาวดีแล้วพระเจ้าหงสาวดีได้ตั้งให้เป็นพระมเหสีและได้ประสูติราชธิดาหนึ่งองค์ ในตอนที่สมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จหนีกลับจากกรุงหงสาวดีนั้นได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระพี่นางแจ้งความที่จะเสด็จหนีกลับกรุงศีอยุธยาด้วย พระสุพรรณกัลยาได้ตรัสตอบว่า “บัดนี้พี่มีบุตรด้วยพระเจ้ากรุงหงสาวดีแล้ว จะหนีไปอย่างไรได้ พ่อจงกลับไปเถิด” ตรัสแล้วจึงอวยชัยให้พรว่า “ขอให้น้องเราไปโดยสิริสวัสดิ์ อย่าให้ศัตรูหมู่ปัจจามิตรย่ำยีได้ แม้ใครจะคิดร้ายก็ขอให้พ่ายแพ้แก่เจ้า เจ้าจงมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรูกู้บ้านกู้เมืองคืนได้ดังปรารถนาเทอญ” พระนเรศวรได้ฟังดังนั้นแกล้งตรัสตอบเป็นที่ล้อพระพี่นางเธอว่า “รักผัวมากกว่าญาติ” แล้วก็ทูลลากลับมาสู่ที่ตำหนักชักชวนมหาดเล็กที่สนิทไว้เนื้อเชื่อใจและมีฝีมือเข้มแข็งได้หกสิบคน แล้วก็ถอยหนีออกจากเมืองหงสาวดี
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรหนีออกจากกรุงหงสาวดี ทางพม่าก็ให้พระมหาอุปราชยกกองทัพติดตามมาถึงเมืองสุพรรณบุรี ได้ต่อสู้กันพม่าพ่ายแพ้ยับเยิน พระมหาอุปราชสิ้นพระชนม์ในสนามรบ กองทัพพม่าแตกพ่ายกลับไป พระเจ้ากรุงหงสาวดีทรงพระพิโรธต่อเหตุการณ์ในครั้งนั้นมากรับสั่งให้เอาแม่ทัพนายกองที่แพ้กลับมาในครั้งนั้นใส่คาย่างไฟให้ตายสิ้นแต่ก็ยังไม่คลายพิโรธ ได้เสด็จไปสู่ตำหนักพระสุพรรณกัลยาเอาพระแสงดาบฟันพระสุพรรณกัลยากับพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ ในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวถึงเรื่องการเสด็จหนีกลับของสมเด็จพระนเรศวรไว้คล้ายคลึงกัน ต่างกันเฉพาะเรื่องที่มีพระราชธิดากับพระเจ้าหงสาวดีเป็นพระราชโอรสมิใช่พระราชธิดา “ พระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระโกรธยิ่งนักก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐานจึงเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศวร์นั้นประทมอยู่ให้พระราชโอรสเสวยนมอยู่ในพระที่ พระเจ้ากรุงหงสาวดีจึงฟันด้วยพระแสงก็ถูกทั้งพระมารดา และพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ถึงแก่พิราลัยไปด้วยกัน”
จากเอกสารคำให้การทั้งสองเล่มนี้ ต่อมาทางจังหวัดพิษณุโลกได้นำเอาพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรตอนเสด็จประทับที่หงสาวดีซึ่งเกี่ยวพันกับพระพี่นางสุพรรณกัลยามาแสดงเป็นละครใหญ่ในงานประจำเมืองของจังหวัดพิษณุโลกอยู่เสมอทำให้ชื่อพระพี่นางเป็นที่เคารพชื่นชมว่าเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อประเทศชาติแม้นพระชนม์ชีพของพระองค์ที่ถูกสังหารอันเนื่องจากการกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวรราชอนุชา
สถานที่สักการะ
- พระอนุสาวรีย์ พระสุพรรณกัลยาณี ณ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (กองทัพภาคที่ 3) อำเมือง จังหวัดพิษณุโลก
- พระบรมรูป พระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ณ วัดลาดสิงห์ ตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุม จังหวัดสุพรรณบุรี
- พระรูป ณ พระตำหนักสมเด็จพระนะรศวรมหาราช วัดดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
- พระเจดีย์ ณ วัดบ้านน้ำฮู อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เชื่อกันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างถวายพระสุพรรณกัลยา และภายในพระเจดีย์ ได้บรรจุเส้นพระเกษาของพระพี่นางฯไว้ด้วย
ข้อมูลจาก : https://aco.psru.ac.th/400year/prasupan2.htm