ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนทั่วโลก จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อันสืบเนื่องมาจากปัญหา Sub Prime ในอเมริกา ซึ่งมีทีท่าว่าจะลุกลามไปฝั่งยุโรป ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ แต่ครั้นจะไปฝากเงินทิ้งไว้ที่ธนาคารเพื่อรอจังหวะกลับไปยังตลาดหุ้น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ก็ค่อนข้างต่ำ กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) ถือเป็นแหล่งพักเงินที่น่าสนใจ เราจึงน่าจะมาทำความรู้จักกองทุนตลาดเงินว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง
กองทุนรวมตลาดเงิน คือ กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและมีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถามหรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี กองทุนรวมตลาดเงิน มีนโยบายการลงทุนที่คล้ายคลึงกับ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำสุด เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง เนื่องจากตราสารที่กองทุนไปลงทุน ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เงินฝากธนาคาร ตั๋วเงินระยะสั้นของสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ระยะสั้นของภาคเอกชน ที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี ถึงแม้การลงทุนในกองทุนตลาดเงินมีความเสี่ยงต่ำ แต่กลับให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร อีกทั้งสำหรับบุคคลธรรมดายังได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีจากกำไรที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนอีกด้วย โดยผลตอบแทนของกองทุนส่วนใหญ่ (ย้อนหลัง 3 เดือน) อยู่ที่ระหว่าง 2.7-3.1% ต่อปี เปรียบเทียบกับดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ 0.75%
ขณะที่ถ้าเทียบกับกองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) แล้ว กองทุนตลาดเงินจะมีจุดเด่นตรงที่สร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ โดยมูลค่าหน่วยลงทุน (NAV) ในแต่ละวันจะไม่ผันผวน เนื่องจาก Duration (อายุเฉลี่ยของพอร์ตกองทุน) ค่อนข้างสั้น ทำให้เวลาคำนวณตามราคาตลาด (mark to market) ผลตอบแทนจะไม่ผันผวนมากนัก แต่กองทุนตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) จะเป็นการลงทุนในตราสารระยะกลางและระยะยาว ซึ่งตราสารเหล่านี้เมื่อมีปัจจัยต่างๆเข้ามา เช่นการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยจะกระทบกับผลตอบแทนได้ เป็นผลให้ NAV มีความผันผวน ซึ่งบางครั้งอาจติดลบได้
ปัจจัยในการคัดเลือกกองทุนที่จะลงทุน
- ตราสารที่ลงทุน นโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน บางกองเน้นลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ภาครัฐ ขณะที่บางกองทุนต้องการเพิ่มผลตอบแทนโดยลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มเติมเข้ามาด้วย ซึ่งแน่นอนสิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงด้าน Credit risk ที่สูงขึ้นกว่ากองทุนประเภทแรก ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องพิจารณาบริษัทที่ออกตราสารที่กองทุนเข้าไปลงทุนด้วย ว่ามีความมั่นคง และน่าเชื่อถือเพียงใด โดยอาจพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารต่างๆ ที่กองทุนเข้าไปลงทุน
- ค่าธรรมเนียมในการจัดการที่ บลจ. เรียกเก็บมีผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนสุทธิ (Net return) ที่นักลงทุนได้รับ เนื่องจากตราสารที่แต่ละกองทุนเข้าไปลงทุนไม่ได้มีความแตกต่างกันมาก ประกอบกับอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ไม่ได้สูงมาก หาก บลจ.ใดที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูง ทำให้อัตราผลตอบแทนสุทธิ (Net Return) ที่นักลงทุนได้รับจะต่ำกว่า บลจ.ที่เรียกเก็บต่ำ (ปัจจุบัน บลจ. เรียกเก็บที่ระหว่าง 0.1%-1%ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ)
- ขนาดกองทุนที่เหมาะสม หากกองทุนมีขนาดเล็กเกินไป อาจจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง กรณีที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนรายใหญ่ไถ่ถอนการลงทุนในกองทุนออกไป ขณะที่กองทุนที่มีขนาดใหญ่เกินไปอาจมีปัญหาในการหาตราสารที่มีคุณภาพดีมาลงทุนได้
ขณะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งที่เปิดให้บริการชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านกองทุนตลาดเงินแล้ว เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นจะไปตัดเงินจากบัญชีกองทุนตลาดเงินของนักลงทุนท่านนั้นแทนการตัดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์แบบเดิม ที่ทำเช่นนี้ได้เนื่องจากสภาพคล่องของกองทุนตลาดเงินสูงใกล้เคียงกับเงินฝากออมทรัพย์ เพราะเมื่อทำรายการขาย นักลงทุนจะได้รับเงินในวันถัดไป (T+1) ขณะที่นักลงทุนขายหุ้นก็จะนำเข้าบัญชีกองทุนตลาดเงินอัตโนมัติ ซึ่งช่วยเพิ่มผลตอบแทน ดีกว่าไปทิ้งไว้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์
นอกจากกองทุนตลาดเงินที่ลงทุนในประเทศแล้ว บลจ.หลายแห่งได้เพิ่มทางเลือกต่อนักลงทุนโดยการออก กองทุนรวมตลาดเงินที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF Money market fund) ซึ่งมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศ ทั้งในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์สเตอร์ลิง และเงินสกุลยูโร ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินในต่างประเทศ ซึ่งกองทุนดังกล่าวเหมาะสมกับผู้ที่วางแผนส่งบุตรหลานไปเรียนต่อต่างประเทศ และผู้มีธุรกิจทางการเงินกับต่างประเทศแถบยุโรป และอเมริกา รวมถึงนักลงทุนที่หวังลงทุนระยะสั้น สามารถสับเปลี่ยนการลงทุนในสกุลเงินต่างๆ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามนักลงทุนต้องสามารถรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการลงทุนในกองทุนดังกล่าวมีโอกาสขาดทุนได้
โดย คุณปรารถนา ไวทยวรรณที่มา TSI Investment Wiki
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.tsi-thailand.org/
https://www.set.or.th/