ปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตประเทศกัมพูชา บริเวณที่ติดกับผามออีแดงของประเทศไทย โดยตัวปราสาทหันหน้ามายังด้านที่ติดกับประเทศไทย ดังนั้น การเข้าชมปราสาทในทางบก จึงต้องใช้เส้นทางที่ผ่านผามออีแดงของประเทศไทยเท่านั้น
จากหลักฐานที่ปรากฏในจารึก แสดงว่าเขาพระวิหารแห่งนี้ เป็นศิวะสถานสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 และต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ก็ได้มีการสร้างเสริมเพิ่มเติมโดยลำดับ จนสำเร็จในรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ให้บันทึกคำประกาศของทางราชการ ไว้บนแผ่นศิลาจารึกด้วย
สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1545-1593) ราวพุทธศตวรรษที่ 16 ทรงสถาปนาให้เขาพระวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่เรียกกันว่า กมรเตงชคตศรีศิขเรศวร เพื่อหลอมรวมคนพื้นเมืองซึ่งมีทั้งจาม ขอม ส่วย ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระบบความเชื่อเดียวกัน ปราสาทเขาพระวิหารจึงเป็นศูนย์กลางความเชื่อ เป็นศูนย์รวมแห่งพิธีกรรมการนับถือบรรพบุรุษของชนพื้นเมือง มีการอุทิศถวายที่ดิน ข้าทาส วัตถุสิ่งของแด่ปราสาทเขาพระวิหารปราสาทเขาพระวิหารจึงเป็นแหล่งจาริกแสวงบุญของทั้งกษัตริย์ขอมโบราณและกลุ่มคนพื้นเมืองบริเวณเขาพระวิหารซึ่งเดิมมีชื่อว่า กุรุเกษตร สันนิษฐานว่าปัจจุบันคือพื้นที่ อ. กันทรลักษ์ อ. ขุขันธ์ จ. ศรีสะเกษ
ปราสาทเขาพระวิหารเปรียบดังวิหารสวรรค์ของผู้คนในดินแดนเขมรต่ำและในเขตพนมดงเร็ก ปราสาทเขาพระวิหารนี้มีลำตราวเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติร่วมกันของชุมชน ยอดเขาพระวิหารถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่ออำนาจที่นอกเหนือธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่งของชนพื้นเมือง ก่อนจะมีการสถาปนาให้สถานที่แห่งนี้เป็น ศรีศิขรีศวร ที่ประดิษฐานศิวะลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ ตามคติความเชื่อในลัทธิเทวราชาของขอม
แม้ว่าตัวปราสาทจะถูกสร้างโดยกษัตริย์ขอม แต่ทางขึ้นปราสาทและภวาลัยหันหน้ามาทางทิศเหนือสู่เขตอิสานใต้ของประเทศไทย แสดงถึงการเป็นที่สักการะของผู้คนในแถบนี้ และสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศสำหรับผู้คนในดินแดนเขมรต่ำ มีทางขึ้นที่สูงชันมาก อยู่ทางด้านตะวันออกของปราสาททางช่องแคบที่เรียกว่า ช่องบันไดหัก ปราสาทเขาพระวิหารได้เป็นศูนย์กลางความเชื่อในระดับลัทธิเทวราชและเป็นศูนย์รวมแห่งพิธีกรรมการนับถือบรรพบุรุษของผู้คนในท้องถิ่น มีการอุทิศถวายเทวสถานด้วยที่ดิน ข้าทาส วัตถุสิ่งของที่ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนรอบปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง ในบริเวณใกล้ๆปราสาทพระวิหารยังมีสถานที่น่าสนใจคือภาพแกะสลักนูนสูงที่ผามออีแดง และสถูปคู่ อันเป็นโบราณสถานรูปทรงแปลกตาตั้งอยู่คู่กันสองหลัง
ปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้ เดิมเคยอยู่ในความดูแลของไทย และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน เป็นโบราณวัตถุสถาน ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พุทธศักราช 2483 ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พุทธสักราช 2505 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนไปอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของประเทศกัมพูชา ตามคำพิพากษาของศาลโลก และยังคงเป็นของกัมพูชาอยู่สืบมาจนถึงปัจจุบัน
++ ปราสาทเขาพระวิหาร ++
++ อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ++
++ คดีเขาพระวิหาร ++
ที่มา
https://www.oceansmile.com/E/Srisaket/Khoapravihan.htm