การพิจารณาความรุนแรงของน้ำร้อน น้ำมันลวก อาจดูจากอาการของผู้ถูกลวก การลวกที่บาดเจ็บแค่ชั้นของหนังกำพร้าจะมีอาการผิวหนังแดงอาจบวมเล็กน้อย ปวดแสบปวดร้อนบริเวณถูกลวก
การลวกที่บาดเจ็บลึกลงหนังแท้แต่ไม่ทะลุลงไปกว่านี้จะมีอาการผิวหนังแดง มีตุ่มพอง (ตุ่มน้ำ) ผิวหนังเป็นจุดลายๆ จะปวดรุนแรงมากและผิวบวมด้วย
หากเจ็บลึกกว่านี้เกิดในกรณีมีความร้อนสูงมากและสัมผัสอยู่กับผิวหนังนาน เนื้อเยื่อถูกทำลายทั้งหนังกำพร้า หนังแท้ และบริเวณใต้ผิวหนังที่มีเส้นประสาท เส้นเลือด กล้ามเนื้อหรือกระดูกอยู่ ผู้ถูกลวกอาจไม่เจ็บตรงแผล ถ้าเส้นประสาทถูกทำลายหมด อาจเจ็บปวดมากถ้าเส้นประสาทถูกทำลายบางส่วน ส่วนที่เหลือยังส่งสัญญาณความเจ็บปวด ไปสู่สมองให้รับรู้ได้
ในแง่การหายของแผล โดนลวกแล้วกรณีแรกจะหายดีที่สุด เพราะโดนทำลายแค่หนังกำพร้า จึงหายได้รวดเร็ว และไม่มีแผลเป็นครับ กรณีที่สอง หนังแท้ถูกทำลายหายยากขึ้นมาก และปวดมากด้วย แต่ยังดีหน่อยที่เกิดแผลเป็นเล็กน้อย
กรณีสุดท้ายที่รุนแรงและแย่ที่สุด เพราะเนื้อเยื่อถูกทำลายลึกไม่มีเชื้อของผิวหนัง เหลือให้งอกขึ้นมาใหม่ ต้องผ่าตัดเอาผิวหนังบริเวณอื่นมาปลูกแทน และยังไงก็เสียโฉม เป็นแผลเป็น
การปฐมพยาบาลเมื่อถูกน้ำมันลวก
กรณีน้ำร้อนลวก น้ำมันลวกนี้ การช่วยเหลือเบื้องต้นมุ่งเน้น 2 ประการ
1. ยับยั้งความรุนแรง
2. บรรเทาความเจ็บปวด
ยับยั้งความรุนแรง หมายถึงช่วยไม่ให้เนื้อหนังถูกทำลายมากจากความร้อน ที่ได้รับจากน้ำหรือน้ำมัน ก็อย่าให้ผิวหนังสัมผัสกับแหล่งความร้อนนานครับ ถ้าน้ำร้อน หรือน้ำมันเปียกเสื้อผ้าที่สัมผัสกับผิวหนังอยู่ ให้รีบถอดเสื้อผ้าตรงนั้นออกโดยเร็ว ชะน้ำร้อน หรือน้ำมันออกจากผิวหนังโดยเร็ว เช่น เอาน้ำเย็นราดหรือเปิดก๊อกน้ำ ให้น้ำไหลลงบน ส่วนที่ถูกลวก วิธีนี้จะช่วยขจัดแหล่งความร้อนออกไปจากผิวหนังส่วนนั้นได้ดี บรรลุเป้าหมายประการหนึ่งแล้ว
เป้าหมายประการที่สอง บรรเทาความเจ็บปวด ทำยังไงดี ? ครับนี้ก็สำคัญ อาการปวดแสบปวดร้อนนี่หยอกซะเมื่อไรล่ะ ใช้วิธีที่ผมบอกนี่เร็วกว่ากินยาแก้ปวดเยอะเลย ใช้ความเย็นครับ จะเป็นผ้าเย็นๆ ถุงใส่น้ำเย็นหรือเยลแช่เย็นที่ใช้วางหน้าผากลดไข้ก็ได้ วางนาบลงบนบริเวณที่ถูกลวกจะช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนได้ทันทีเชียวล่ะ แถมยังได้ประโยชน์ ช่วยยับยั้งความรุนแรงของการบาดเจ็บได้อีกด้วย เรียกว่า กระสุนนัดเดียวได้นก 2 ตัวเลย
บางคนผมเห็นใช้วิธีเอาน้ำปลาราด มาโรงพยาบาลได้กลิ่นน้ำปลาหึ่งมาทีเดียว บางทีก็เห็นทายาสีฟันโปะขาววอกมาเลย เชื่อว่าถอนพิษความร้อน ซึ่งไม่น่าจะช่วยจริงครับ เพราะไม่มีฤทธิ์หรือสรรพคุณต่อแผลอย่างนั้น ผมแนะนำว่าอย่าใช้เลยครับ ใช้วิธีผมแนะนำเถอะ อย่างน้อยก็ช่วยไม่ให้หมอ พยาบาล ต้องลำบากล้างเอาน้ำปลา ยาสีฟันออกครับ
จะต้องเปิดแผลไหม ?
เรื่องปิดแผลนี่ก็สงสัยกันมาก มีผ้าสะอาดๆ ที่ไม่มีขนคลุมแผลไว้หน่อยก็ดี หรือถ้าไม่มี ก็คงไม่เป็นไรนัก มักใช้เวลาไม่นานก็ไปถึงหมอได้ แพทย์จะพิจารณาความรุนแรง ให้การรักษาแผลที่เหมาะสม รวมถึงการป้องกันบาดทะยักและป้องกันแผลติดเชื้อด้วย เรียกว่ารักษาให้ครบถ้วน กระบวนการเลย อย่าประมาท โดยเฉพาะลวกแถวมือ แถวหน้า อาจมือพิการหรือเสียโฉมได้ หากรักษาไม่ดี
การปฐมพยาบาลโดยใช้สมุนไพร
หากท่ามีการการเจ็บป่วยฉุกเฉิน...สมุนไพรไทยสามารถช่วยปฐมพยาบาลท่านได้
ขนานที่ ๑ ท่านให้เอาน้ำมันมะพร้าว ๒ ส่วน น้ำปูนใส (น้ำปูนแดงกินกับหมาก) ๒ ส่วน น้ำมันยาง ๑ ส่วน นำมาผสมกัน กวนให้เข้ากันเป็นอย่างดีแล้ว ใช้สำลีชุบน้ำยาทาบริเวณที่ถูกไฟลวก หรือถูกน้ำร้อนลวก หรือถูกน้ำมันลวก มีสรรพคุณอย่างชะงัดนักแลฯ (พระครูอาทรสมุทรกิจ จ.สมุทรปราการ)
ขนานที่ ๒ ท่านให้เอาเหล้า ๑ น้ำมันมะพร้าว ๑ น้ำปูนใส (น้ำปูนแดงกินกับหมาก) ๑ ตัวยาทั้ง ๓ อย่างนี้ กำหนดเอาอย่างละเท่าๆ กัน นำมาผสมกวนให้เข้ากันเป็นอย่างดี จนมีลักษณะคล้ายน้ำนมข้น ใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มยาทาบริเวณที่ถูกไฟลวก หรือถูกน้ำร้อนลวก อาการเจ็บปวดแสบร้อนจะพลันหายไปเป็นปลิดทิ้งทันที และใช้เป็นยารักษาบาดแผลให้หายไปอีกด้วย มีสรรพคุณอย่างชะงัดนักแลฯ ขณะที่กวนผสมยา และขณะทายานี้ ท่านให้บริกรรมภาวนาด้วยบทพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ตลอดเวลาจนกว่าตัวยาจะเข้ากันเป็นอย่างดี และจนกว่าจะทายาเสร็จ ขณะทายาพึงทาเบาๆ ระวังอย่าให้หนังกำพร้าถลอก ยาขนานนี้ ใช้เป็นยาดับพิษและรักษาบาดแผลได้ผลดีอย่างชะงัดนักแลฯ ยาขนานนี้ ควรทำเตรียมไว้จำนวนมากๆ เก็บใส่โหลปิดฝาให้มิดชิด เพื่อให้บริการช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงทีแลฯ (พระราชสุเมธาภรณ์ วัดบางหลวง ปทุมธานี)
ขนานที่ ๓ ท่านให้เอาใบชาจีน (ใบชาที่ใช้ชงน้ำร้อน) มากน้อยตามต้องการ นำมาแช่น้ำแข็งหรือแช่น้ำเย็นจัดฯ ให้ใบชาคลี่ออกแล้ว ใช้ใบชานั้นพอกบริเวณที่ถูกไฟลวก หรือถูกน้ำร้อนลวก ทิ้งไว้สักครู่หนึ่ง แล้วแกะออกเปลี่ยนยาพอกใหม่อีก มีสรรพคุณจะดูดพิษปวดแสบร้อนให้พลันหายไป และทำให้ไม่เกิดเป็นบาดแผลอีกด้วย เคยใช้รักษาได้ผลดีอย่างชะงัดมาแล้วฯ (พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดสุวรรณาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร)
การปฐมพยาบาลโดยใช้ว่านหางจระเข้
ว่านหางจระเข้ เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยเลือกวุ้นจากใบที่อยู่ส่วนล่างของต้น ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองออกให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำด่างทับทิม เพราะอาจจะระคายเคืองผิวหนัง และทำให้มีอาการแพ้ได้ (ในบางคน) ขูดเอาวุ้นใส หรือฝานเป็นแผ่นบาง ๆ มาพอกแผล แล้วใช้ผ้าพันแผลที่สะอาดพันทับให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลาในชั่วโมงแรก ต่อจากนั้นทาวันละ 3-4 ครั้ง จนกว่าแผลจะหาย วุ้นว่านหางจระเข้ยังสามารถ ใช้รักษาฝีพุพองได้อีกด้วย เพราะจะช่วยลดการอักเสบของแผล
ข้อควรระวัง
1) ก่อนใช้ว่านหางจระเข้ ควรทดสอบก่อนว่าแพ้หรือไม่ โดยเอาวุ้นทาบริเวณท้องแขนด้านใน ถ้าผิวไม่คันหรือแดงก็ใช้ได้
2) ควรล้างยางสีเหลืองออกให้หมด เพราะจะเกิดอาการระคายเคืองต่อผิวได้
3) วุ้นสดของว่านหางจระเข้ไม่ควรเก็บไว้เกิน 24 ชั่วโมง
ที่มา
https://www.elib-online.com/doctors3/gen_burn01.html
https://www.tdr.chombung.com/modules.php?name=News&file=article&sid=78
https://variety.teenee.com/foodforbrain/3364.html