ลูกเห็บ (Hail) เกิดขึ้นได้อย่างไร
ลูกเห็บ คือ ก้อนน้ำแข็งที่เกิดจากกระแสอากาศแรงในเมฆจะพาหยดน้ำฝนขึ้นไปแข็งตัวในระดับสูงเกิดเป็นก้อนน้ำแข็ง ก้อนน้ำแข็งก็จะถูกพอกตัวใหญ่ขึ้น ในที่สุดก็จะตกลงมาเป็นลูกเห็บ บางทีอาจมีขนาดใหญ่เท่าลูกเทนนิส
คนที่เคยเห็นลูกเห็บตกครั้งแรกมักจะตื่นเต้น รู้สึกสนุกสนานอยากเก็บไว้ในมือ ลูกเห็บเป็นเม็ดน้ำแข็งตกลงมากับฝน เม็ดเล็กขนาดเม็ดข้าวโพดก็มี ขนาดใหญ่เท่าหัวแม่มือก็มี ร่วงจากท้องฟ้าลงมาตกกระทบหลังคาบ้านเสียงดังกราว
ในฤดูร้อน ถ้ามีฝนฟ้าคะนอง มักจะมีลูกเห็บตกลงมาเมื่อฝนเริ่มตก บางครั้งเมื่อฝนตกมากราวใหญ่ ก็มีลูกเห็บตามมาให้เราตกใจ เพราะไม่ได้คาดหวังมาก่อน เม็ดน้ำแข็งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมมันมากับพายุ
ลูกเห็บเกิดจากที่สูงมากจากพื้นโลก กระแสลมแรงพัดพาเม็ดฝนขึ้นไปในกลุ่มเมฆที่ฟ้าคะนอง ในที่สูงอากาศเย็นมากทำให้เม็ดฝนแข็งตัว ยิ่งขึ้นไปสูงยังมีเกร็ดหิมะเข้ามาเกาะเม็ดน้ำแข็ง ครั้นตกลงมาอีกส่วนล่างของกลุ่มเมฆซึ่งเย็นน้อยกว่าด้านบน ความชื้นเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็ง แล้วกระแสลมก็พัดเอาเม็ดน้ำแข็งกลับขึ้นไปด้านบนของกลุ่มเมฆอีก ที่อุณหภูมิความชื้นรอบ ๆ เม็ดน้ำแข็งพอกเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เม็ดน้ำแข็งก็โตขึ้นอีกนิด
เม็ดน้ำแข็งลอยสูงแล้วตกลงมา วนซ้ำไปมาหลายครั้งในกลุ่มเมฆ ในขณะเดียวกันเม็ดน้ำแข็ง สะสมความชื้นที่ด้านล่าง ซึ่งต่อไปจะแข็งตัวในที่สูงเย็น ด้วยกระบวนการเช่นนี้ เม็ดน้ำแข็งก็ใหญ่ขึ้นทุกที เมื่อใดที่มันใหญ่กว่ากระแสลมพายุจะพยุงมันไว้ได้ มันก็จะตกจากอากาศลงยังพื้นดิน เรียกว่า ลูกเห็บ ถ้าเราทุบก้อนลูกเห็บโต ๆ ที่เพิ่งตกถึงพื้นให้แตกครึ่ง เราจะเห็นภายในลักษณะเป็นวงชั้นน้ำแข็ง ซึ่งแสดงถึงการก่อเกิดลูกเห็บ
รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง - หิมะ - น้ำค้าง - หมอก - ฝน - พายุฤดูร้อน - เมฆ - น้ำค้างแข็ง- เหมยขาบ
- แม่คะนิ้ง
ที่มา
https://www.school.net.th/library/create-web/10000/science/10000-2846.html