ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 หมายถึง, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 คือ, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 ความหมาย, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540

พระราชดำรัส พระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2540

          ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่มาให้พร. เวลาได้ผ่านมาอีกหนึ่งปี.  ปีนี้มีความคล้ายคลึงกับปีที่แล้ว และในหนังสือเล่มนี้ (ทรงชี้ในหนังสือพระราชดำรัสปี ๒๕๓๙) มีหลักฐานอยู่.  พูดว่าเหล่าพี่ๆ ก็ได้มาให้พร ซึ่งทำให้สามารถผ่านอีกหนึ่งปีโดยสวัสดิภาพ.  เมื่อปีที่แล้ว ได้พูดว่าคนที่จะจำเรื่องราวเมื่อหลายปีมาแล้ว อาจจะหายาก.  แล้วก็พูดถึงว่ามีเด็กหัวกลม น่ารัก อันนี้ก็ที่ได้มาลงรูปภาพในเล่มนี้ เป็นหลักฐานว่าเมื่อประมาณ ๖๕ ปีหรือกว่า มีเด็กน่ารัก.  พวกพี่ๆ อาจจะดูไม่ค่อยเห็น ก็ต้องใส่แว่นตา (เสียงหัวเราะ).  และเมื่อปีที่แล้ว ก็พูดถึงลิง.  หารูปตัวลิงไม่ได้ จึงเอารูปกรงลิงที่เกิดเหตุเมื่อหกสิบเจ็ดปีมาแล้ว. กรงลิงนี้ไม่มีแล้ว เคยอยู่ที่วังสระปทุม.  รูปนี้ได้ถ่ายเองเมื่อยังไม่ได้รื้อ แต่ไม่มีลิงอยู่แล้ว.

           ปีที่แล้วก็ได้พูดถึงลิง เพราะมีโครงการแก้มลิง.  โครงการแก้มลิงนั้นได้พูดถึงหลายปี มาแล้ว และเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ ที่ได้ทำกิจการแก้มลิงนี้ก็ได้ผลพอสมควรแล้ว.  ปีนี้กรุงเทพฯ น้ำไม่ท่วม แต่ได้ใช้โครงการนี้ในที่ที่น้ำท่วม และได้เกิดผลดี. เมื่อสองเดือนที่แล้ว มีน้ำท่วมหนักในหลายจังหวัด แต่ที่ดูจะรุนแรงที่สุด ก็คือที่จังหวัดชุมพร.  แม้ยังไม่ถึงฤดูกาลที่จะมีพายุโซนร้อนหรือไต้ฝุ่น ฝนก็ลงมาจนทำให้น้ำท่วมในตัวเมืองชุมพร มีความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล.  เขาว่าบางแห่งท่วมถึงสองเมตร ซึ่งทำให้มีความเสียหายมากต่อทรัพย์สินของประชาชน และแม้แต่สิ่งของของทางราชการ เช่น ที่โรงพยาบาล เครื่องเอกซเรย์ถูกน้ำท่วมเสียหายไป.

           ฉะนั้นแม้ต้องลงทุนเพื่อป้องกันมิให้น้ำท่วมรุนแรงอย่างนั้น ก็ควรทำ. ได้ส่งคนไปดูและเขาถ่ายรูปทั้งทางบกทั้งทางอากาศ.  และเมื่อดูแผนที่ ก็เห็นว่ามีแห่งหนึ่งที่ควรจะทำเป็นแก้มลิงได้ มีโดยธรรมชาติ คือมีหนองใหญ่.

          หนองใหญ่นั้นเป็นที่กว้างใหญ่สมชื่อ. แต่ก็ไม่ใหญ่พอ เพราะมีการบุกรุกเข้าไป และตื้นเขิน. แต่ที่สำคัญ มีคลองที่อยู่ใกล้หนองใหญ่นั้น แต่คลองนั้นยังตัน คือยังไม่ได้ขุดให้ตลอด ยังเหลือระยะอีกกิโลเมตรครึ่งเศษๆ.  น้ำที่ลงในคลองนี้ จะระบายลงไปสู่ทะเล มิให้วกมาท่วมเมือง. จึงถามว่าโครงการที่เขาจะทำนี้ จะขุดคลองนี้ให้เสร็จได้เมื่อไหร่.  เขาบอกว่ามีงบประมาณแล้ว แต่ยังไม่มา และเข้าใจว่าจะทำเสร็จในปีหน้า ในปี ๒๕๔๑.

          นึกว่าจะต้องหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากคลอง ซึ่งได้ลงทุนมามากแล้ว ให้ได้ประโยชน์ในฤดูกาลที่จะมีพายุเข้ามา.  เลยบอกเขาว่าจะขอสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ที่มีทั้งฝ่ายกรมชลประทาน ทั้งฝ่ายจังหวัด ทั้งบริษัทที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ให้เขาสามารถรีบขุดตามแผน และให้ทำโครงการเสร็จภายในเดือนหนึ่ง แทนที่จะเป็นปีหนึ่ง.  ได้รับรองเขาว่าถ้าต้องการการสนับสนุน จะให้การสนับสนุนเอง จึงเริ่มทำการขุด และให้ทำท่อ และมีประตูน้ำที่จะทะลุออกไปในหนองใหญ่ เพื่อระบายน้ำลงคลองที่จะขุดให้ครบ.  บอกเขาว่าให้เวลาเดือนหนึ่ง เขาก็สั่นหัวว่า งานเช่นนี้ต้องใช้เวลา ก็เลยบอกกับเขาว่า ขอสนับสนุนด้วยเงินส่วนหนึ่งของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งได้อุดหนุนในการใส่ท่อจากหนองใหญ่ลงสู่คลอง และมีประตูน้ำ.

          สำหรับการขุดคลองให้สำเร็จนั้น ทางมูลนิธิชัยพัฒนาจะสนับสนุนเงินสิบแปดล้าน ซึ่งถ้าทางราชการมอบเงินตามงบประมาณได้เมื่อไหร่ ก็ขอคืน.  แต่ไม่ทราบว่าทางราชการจะสนับสนุนเงินนี้หรือไม่.  แต่ก็ไม่เป็นไร มูลนิธิก็ยอมที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง.  ทำอย่างนี้เพราะเห็นว่า การลงทุนแม้จะมีเงินน้อย แต่การลงทุนเพื่อให้มีผลิตผลมากขึ้นข้อหนึ่ง การลงทุนเพื่อให้ไม่ต้องเสียเงินอีกข้อหนึ่ง เป็นสิ่งที่คุ้มเพราะว่าถ้าเราไม่ทำ ก็เชื่อว่าการที่มีน้ำท่วม ทั้งที่ทำการเพาะปลูก ทั้งสถานที่ราชการหรือเอกชนเสียหายนั้น จะต้องเสียเงินมากกว่ามาก คือ เสียเงินค่าสงเคราะห์ผู้ที่เสียหาย.  ถ้าไม่มีความเสียหาย ก็ไม่ต้องเสียเงิน ประชาชนจะได้ทำมาหากินอย่างปกติ ผลของงานของเขา ก็จะเป็นรายได้.  นอกจากรายได้ ก็จะได้รับความสะดวก เช่น เครื่องเอกซเรย์ที่ได้กล่าวถึง ก็จะบริการประชาชนที่เจ็บป่วยได้ตามปกติ.  ฉะนั้นการที่ลงทุน เพื่อให้สำเร็จภายในเดือนนั้น สิบแปดล้านกว่า ก็น่าจะคุ้มค่า เป็นการประหยัดเงินของประชาชน ทั้งเป็นการประหยัดเงินของราชการด้วย.

          สำหรับประตูน้ำนั่นก็ได้ผล เมื่อพายุ “ลินดา” เข้า ทีแรกนึกว่าจะเข้าชุมพร.  ทางกรมอุตุนิยมฯ ได้แจ้งว่าจะเข้าแถวชุมพร แต่ว่าความจริงนึกว่าจะเลยชุมพรขึ้นมาถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดเพชรบุรี.  เช่นนั้นก็จะทำให้ชุมพรไม่โดนกำลังแรงที่สุดของพายุ.  แม้กระนั้น โดยที่คลองท่าตะเภา – เขาเรียกว่าคลอง - คือลำน้ำที่ผ่านเมืองชุมพร มีต้นน้ำขึ้นไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เข้าใจว่าน้ำจะลงมามาก. ถึงเวลาพายุ “ลินดา” เข้า ฝนก็ลงตลอดแถวตั้งแต่เหนือของชุมพรไปถึงเพชรบุรี น้ำก็จะท่วม.  แต่โดยที่ได้ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองที่ขุดทะลุลงทะเลไปได้แล้ว ก่อนที่น้ำอันเนื่องจากพายุลงมาถึง หนองใหญ่จึงรับน้ำที่ลงมาได้ แล้วระบายลงทะเลตามหน้าที่ของหนองใหญ่ในฐานะเป็นแก้มลิง.  ลงท้าย ตัวเมืองชุมพร และชนบทข้างๆ ชุมพร น้ำจึงไม่ท่วมแม้จะมีพายุมาอย่างหนัก จึงเป็นชัยชนะที่ใหญ่หลวงของมูลนิธิชัยพัฒนา.  มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมีผลงานสมชื่อ.

          ผลงานของมูลนิธิชัยพัฒนา และของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ – ซึ่งหมายถึงว่าพระราชากับประชาชนอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน – ทำให้ประชาชนชาวชุมพรร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ.  ตามปกติชาวชุมพรก็ไม่ค่อยได้แยแสกับการบริจาคนัก แต่เมื่อเห็นผลงานที่ฉับพลันดังนี้ ก็บริจาคเงินเป็นแสน.  การที่สองเดือนที่แล้วมีเหตุการณ์น้ำท่วม และสามารถที่จะทำให้น้ำท่วมนั้น บรรเทาลงได้ก็เป็นการดี.  ที่จังหวัดอื่นก็เข้าใจว่ามีทางที่จะทำเช่นเดียวกัน โดยมีการลงทุนบ้าง และจะเป็นผลให้ประหยัดด้านการสงเคราะห์ เนื่องจากความเสียหาย เช่น พืชผลจะจมน้ำตาย.  เมื่อพืชผลจมน้ำตาย ทางราชการก็ต้องส่งเสริมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ หรือส่งเสริมให้ประชาชนมีอยู่มีกินได้.  ฉะนั้นเห็นว่าการลงทุนนี้คุ้มค่า.

          ที่นายกฯ 2 กล่าวว่าระยะนี้เป็นระยะที่วิกฤต ก็ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า อะไรควรทำ อะไรควรเว้น.  ที่ท่านเห็นอยู่บนเวทีนี้ คงแปลกใจ. อาจคิดว่าจะมาตีกลองยาวหรืออย่างไร.  แต่ข้อสำคัญอยู่ที่หีบที่ใส่กลองยาวนี้ เห็นได้ชัดว่าเขียนว่า MADE IN THAILAND.   MADE IN THAILAND นี่จะเป็นประโยชน์.  ถ้าเรามาใช้ของไทย ซื้อของไทย เที่ยวเมืองไทย กินข้าวไทย อันนี้จะได้ประโยชน์. แต่ว่าก็ยังไม่แก้ปัญหา. ปัญหามีอยู่ว่าผู้ที่ทำกลองนี้ เขามีบริษัทที่นำเข้าสินค้าที่เขาขาย.  เขาบอกว่าแย่ เขานำเข้าสินค้ามา และขายในราคาเดิม เพราะมีการตกลงราคาขายอยู่แล้ว.  เมื่อของเข้ามา ก็จะต้องเสียเงินแพง.  เขาบอกว่าขาดทุน.  แต่เขามีความคิดอยู่ เขาสามารถที่จะผลิตกลองนี้ และส่งนอก ส่งไปที่อเมริกาส่วนหนึ่ง ส่งไปที่ยุโรปส่วนหนึ่ง.

          เขาต้องทำงานหนัก.  เพิ่งได้ส่งสินค้าไป.  ถัวกับที่เขาสั่งเข้าก็ยังพอไปได้.  และถ้ากลองนี้เป็นที่นิยมมาก ก็จะสามารถที่จะมีกำไร และประเทศชาติก็จะมีกำไรไปด้วย เพราะว่าการสั่งของจากต่างประเทศ ก็มีความจำเป็นบ้างในบางกรณี.  แต่ว่าสามารถที่จะส่งออกนอก ซึ่งผลิตผลที่ทำในเมืองไทยก็จะดีกว่า. ไม้ที่ใช้ทำกลองนี้ก็เป็นไม้ที่มีในเมืองไทย เป็นไม้ที่โดยมากไม่ค่อยได้ใช้ ไม่ใช่ไม้ที่ต้องห้ามอย่างที่เขาห้ามตัดป่าไม้ ไม่ใช้ไม้ที่เป็นป่าไม้ เป็นไม้ยางพารา. ไม้ยางพาราที่ต้องเปลี่ยนเพื่อให้มีผลผลิตยางดีขึ้น เขาตัดยางเก่าเอามา.  โดยมากก็ไม่ได้ใช้มากนัก มาตอนหลังนี้มีการใช้ทำเป็นเครื่องเรือนบ้าง. สำหรับกรณีนี้เขาลงไปภาคใต้ ไปซื้อไม้ยางมาด้วยตนเอง แล้วนำมาทำกลองนี้.

          มีกลองแบบกลองยาว และมีกลองแบบกลองเล็กๆ.  ใช้ไม้ในเมืองไทยและหนังที่ขึงบนกลองนั้นก็เป็นสิ่งที่ผลิตในเมืองไทยเหมือนกัน.  ฉะนั้นสามารถที่จะทำให้มีการส่งออกสิ่งของที่ทำด้วยวัตถุดิบในเมืองไทย และทำด้วยแรงงานของคนไทย.  อันนี้เป็นการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตอย่างดี.  เป็นของเอกชนเขาทำเอง แต่เขาก็ต้องเหน็ดเหนื่อย.  เขาบอกว่าเหนื่อยมาก และจะเป็นโรคประสาท เพราะกลัวว่าจะทำไม่ทันส่ง.  เมื่อส่งไปแล้ว เขาก็มาพบ และมามอบผลิตผลของเขา และบอกว่าสบายใจขึ้น.  อันนี้ก็เป็นวิธีแก้ไขวิกฤตการณ์ ที่เห็นเป็นประจักษ์ว่าทำได้ แต่ต้องมีความเพียร ต้องมีความอดทน.

          ดังนี้ก็ทำให้คิดว่าวิกฤตการณ์เกิดขึ้นมาอย่างไร.  เราเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ และเราก็ได้ชื่อว่ากำลังก้าวหน้าไปสู่เมืองที่เป็นมหาอำนาจทางการค้า.  ทำไมเกิดมีวิกฤตการณ์.  ความจริงวิกฤตการณ์นี้ เห็นได้มานานแล้ว สี่สิบกว่าปีมาแล้ว แต่ไม่รู้ตัว.  เมื่อ ๔๐ กว่าปีมีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย มาขอ เงิน  ที่จริงก็ได้เคยให้เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เขาบอกไม่พอ.  เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน.  เมื่อเขาขอกู้เงิน ก็บอกว่า เอ้า...ให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย. รายรับก็คือเงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเข.  ส่วนรายจ่ายก็เป็นของที่ใช้ในครอบครัว. แต่มีสิ่งหนึ่งที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น คือไม่เคยทราบ มีรายการหนึ่ง บอกว่าค่าแชร์.  แล้วอีกตอนหนึ่งก็มีค่าแชร์อีก.

          ถามเขาว่าแชร์คืออะไร.  เขาก็อธิบายว่าเป็นเงินที่จ่ายให้ เจ้ามือ จ่ายให้เขาทุกเดือน.  เมื่อเดือดร้อนก็ขอ“ประมูลแชร์” ได้  แต่การประมูลนี้ก็หมายความว่า...   สมมติว่าแชร์หนึ่งต้องเสียเดือนละร้อยบาท เขาก็จะได้รับคล้ายๆ เงินกู้. ควรจะได้เป็นเงินพันสองร้อยบาทต่อปีหนึ่ง โดยให้ร้อยบาทต่อเดือน.  ก็ควรจะดี แต่เขาไม่ได้รับพันสองร้อยบาท.  เขาได้ราวๆ แปดร้อยบาท หรือเจ็ดร้อยบาทเท่านั้น แล้วแต่จะประมูลได้.  คนที่มีเงิน เขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ในแชร์นั้น.  ถึงเวลา เขาก็จะได้เงินกลับคืนมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บวกดอกเบี้ย.  ถามเขาว่า ทำอย่างนี้สามารถที่จะหมุนเงินได้หรือเปล่า.  แล้วก็ถามเขาว่า ทำไมจ่ายค่าแชร์แล้ว ยังจ่ายแชร์ซ้ำอีกทีหนึ่ง.  เขาบอกว่าสำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น เขาต้องออกมาทำแชร์สัปดาห์คือ ๗ วัน.  ๗ วันนี้เขาก็เปียแชร์มาสำหรับไปใช้ค่าแชร์เดือน. 

          เขาก็นึกว่าเขาฉลาด.  ความจริงแชร์นี่ไม่ใช่เฉพาะคนนี้เท่านั้น แต่มีทั่วไปทุกแห่ง ทั้งทางราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัท ทุกส่วน แม้จะเอกชน เขาก็มีแชร์.  ได้บอกให้เขาเลิกแชร์ เลิก แล้วให้ทำบัญชีต่อไป.  ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว.  เขาสามารถที่จะมีเงินพอใช้ เพราะบอกให้เขาทราบว่า มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ภายในเงินเดือนของเขา.  การทำแชร์นี้เท่ากับเป็นการกู้เงิน.  การกู้เงินที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี.  อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ.

          มีอีกรายหนึ่งในระยะนั้น กว่า ๔๐ ปี ก็เข้ามาบอกขอกู้เงิน เขาขอกู้เงินสามหมื่นบาท.   ถามว่าเอาไปทำอะไร บอกว่าจะไปซื้อเครื่องมือสำหรับตัดเย็บผ้าให้ภรรยาทำร้าน.  ก็ตกลงให้เขา แล้วเขาจะคืนมาเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เขา.  ในที่สุดเมื่อเขาตั้งร้านแล้ว เขาก็เอาเงินมาคืนทุกเดือนสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมดจำนวนที่ได้ให้กู้.  ด้วยความฉลาด ด้วยความซื่อสัตย์ของเขา รู้ว่ากิจการนี้จะทำให้มีกำไรได้ สามารถที่จะคืนเงินมาให้ครบจำนวนที่กู้ และต่อไปก็เป็นกำไรทั้งนั้น ก็ชมเขาว่าดี.  คือคนนี้เขาเป็นคนซื่อสัตย์ และในที่สุดก็มาเป็นคนที่ช่วยในด้านช่างฝีมือ และได้รับใช้อย่างซื่อสัตย์จนกระทั่งถึงสิ้นอายุ.  คนแรกที่เอาเงินไปใช้แชร์นั้น ก็ไม่มีชีวิตแล้วเหมือนกัน.

          มีอีกรายหนึ่ง เขามาวันหนึ่ง เอาหัวเข็มขัดมาให้  เราถามว่าหัวเข็มขัดนี่เอามาให้ทำไม.  ในที่สุดก็ทราบว่าเขาขอกู้เงิน.  อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประหลาด เพราะว่าเขาไม่มีเงินใช้ ทำไมไปซื้อหัวเข็มขัด ซึ่งก็ราคาไม่ค่อยถูกนัก เอามาให้.  ก็เลยบอกเขาว่าไม่ให้ ไปหาเงินที่อื่น เพราะว่าทราบดีว่าถ้าให้เขา เขาจะไม่มีเอามาใช้คืน.  เงินที่จะให้เขาก็มี แต่ถ้าให้เงินเขาแล้ว เขาก็เอาไปใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผลอย่างผู้ที่ขอกู้สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็นการทำให้คนยิ่งเสียใหญ่.  อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์.

          อันนี้ก็มีอีกคนหนึ่ง.  เขาจะแต่งงาน และขอกู้เงิน.  นึกว่าคนนั้นเขาก็ทำงานมาดี ก็น่าจะให้เหมือนเป็นรางวัลเขา ก็ให้เงินเขาหมื่นบาท.  สมัยโน้นหมื่นบาทไม่ใช่น้อย.  หมื่นบาทเพื่อจะไปจัดงานแต่งงานของเขา.  ตกลงเขาได้แต่งงาน.  เขายังไม่ได้คืนเงิน ก็ไม่ค่อยถืออะไร เพราะว่าเขาแต่งงาน เขามีความสุข ก็ดีไป.  เขาจะได้ทำงานได้ดี.  แต่หารู้ไม่ว่าสักปีสองปีภายหลัง เขามาขอเงินสามหมื่นบาท.  เลยบอก เอ๊ะ! สามหมื่นบาทไปทำอะไร.  เขาบอกว่าเมื่อแต่งงาน เงินไม่พอ เขาจึงไปกู้เงินที่อื่นมา. ใช้หนี้ไม่ได้ และต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่งเงินที่ใช้หมดแล้ว.

          ต้องใช้ดอกเบี้ย จำนวนทั้งหมด ทั้งต้นและดอกนั้น ก็คือสามหมื่นบาท ไม่นับเงินหนึ่งหมื่นบาทที่เราให้เขาไปแล้ว.  หมายความว่าไปติดหนี้นุงนัง หนี้ที่ไม่สามารถที่จะใช้คืนได้.  เลยไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้ความว่าถ้าไม่ได้อย่างนี้ เขาจะฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีทางออก.  เงินเดือนเขาก็ไม่พอที่จะไปใช้หนี้  ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นทุกที.  ทุกครั้งที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องติดอีกต่อไป ทบต้น.  ก็เลยเห็นว่าเมื่อครั้งแรกเขาขอยืมเงินสำหรับแต่งงานน่าจะมีความสุข กลับมีความทุกข์.  ก็เลยคิดว่าไหนๆ ให้ไปหมื่นบาทแล้ว ก็ควรให้ครบที่จะไปใช้หนี้ได้  ลงท้ายเขาก็สามารถมีชีวิตต่อไป และทำงานได้.  แต่คงเป็นบทเรียนที่ดี.  อันนี้ก็หมายความว่า เขาขอเรา เราก็ให้ เราก็ได้ช่วยชีวิตเขา.

          มีอีกรายหนึ่งมา เป็นคนข้างนอก เขามาบอกว่าลูกของเขาเจ็บตา ถ้าไม่ทำอะไรตาจะบอด เราก็สงสารเขา ก็ให้เงินเขาสามหมื่นบาทเหมือนกัน  ลงท้ายก็ไม่ทราบว่า ลูกเขาได้ไปผ่าตัดตาได้ผลดีอย่างไร.  แต่วันหนึ่งก็โผล่มาอีกที บอกว่าเรียบร้อยแล้ว ลูกนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ขอบ้าน ขอบ้านอยู่.  แล้วเขาก็ไปสืบเสร็จว่าบ้านนั้นว่างแล้ว.  ขออยู่ฟรี ก็เลยเลิกเลย เพราะว่าเขาควรจะมีฐานะพอสมควรที่จะมีบ้านอยู่.  บ้านที่ขอนี้เป็นบ้านที่นับว่าใหญ่.  ถ้าให้บ้านตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องมาขอค่าใช้จ่ายสำหรับในบ้านอีก.  เมื่อบ้านใหญ่ก็คงมีญาติ มีเพื่อน มาอาศัยบ้านอีกที ก็ต้องเสียเงินอีก เลยบอกไม่ให้.  ที่พูดไม่ให้นั้น ก็เรียกว่ามีความเดือดร้อนเหมือนกันที่จะพูดอย่างนั้น เพราะว่า จะว่าสงสารก็สงสาร.  เวลาใครมาขออะไร แล้วไม่สามารถที่จะให้ มันก็ไม่ค่อยสบายใจ.  ในที่สุดก็เงียบไป.  เรื่องเหล่านี้ที่เล่าให้ฟัง ก็เพราะว่ามันเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ปัจจุบัน.

          ต้องเล่านิทานอีกเรื่องหนึ่ง.  คือไปทางชลบุรีครั้งหนึ่ง นี่ก็หลายสิบปีมาแล้ว.  มีพ่อค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาทำโรงงาน สำหรับทำสับปะรดกระป๋อง. เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้แล้วกี่ล้าน เพื่อสร้างโรงงาน.  การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่าไม่ค่อยเห็นด้วย. เพราะว่าเคยทำโรงงานเล็กๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผลของชาวบ้านชาวเขามาใส่กระป๋องแล้วขาย ก็ได้ผล.  เป็นโรงงานเล็กๆ. บอกว่าที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง.  เขาบอกว่าต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน. ทำไปทำมา สับปะรดที่อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรี ก็มีไม่พอ.  เมื่อมีไม่พอต้องไปสั่งสับปะรดมาจากปราณบุรี.  สับปะรดจากปราณบุรีต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก.  ทำไปทำมาโรงงานก็ล้ม.  อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทำโครงการอะไร ก็จะต้องนึกถึงขนาดที่เหมาะสมกับที่เรียกว่าอัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม.

          นี่พูดไปพูดมา ยังมีอีกรายการหนึ่ง.  ที่ลำพูนมีการตั้งโรงงานสำหรับแช่แข็งผลผลิตของชาวไร่.  ได้ไปเยี่ยม เขาบ่นว่า ข้าวโพดที่เขาใช้สำหรับแช่แข็ง คุณภาพไม่ค่อยดี ก็เลยซื้อในราคาแพงไม่ได้.  ตอนนั้นก็ยังไม่ทราบว่าเขาจะมีอันเป็นไปอย่างไร.  ก็บอกเขาว่า นี่น่าจะส่งเสริมด้านการเงินให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ให้ได้ข้าวโพดที่มีคุณภาพดี โรงงานจะเจริญ.  เขาบอกให้ไม่ได้เพราะว่าคุณภาพไม่ดี.  อันนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตก ถ้าไม่ให้ราคาดี หรือไม่สนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูก ก็จะไม่ได้รับประโยชน์ จะไม่ได้คุณภาพ จะได้ข้าวโพดที่ฟันหลอ ซึ่งเขาก็บอกว่าต้องทิ้ง เพราะว่าเครื่องจักรของเขาต้องมีข้าวโพดที่ขนาดเหมาะสม.  อย่างนี้โรงงานนั้น “ความจริงไม่ได้แช่งเขา” แต่นึกในใจว่าโรงงานนี้อยู่ไม่ได้.  แล้วในที่สุดก็จริงๆ ก็ล้ม.  อาคารอะไรต่างๆ ก็ยังอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เกะกะอยู่.

          ฉะนั้นการที่จะทำโครงการอะไร จะต้องทำด้วยความรอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป.  คือบางคนเห็นว่ามีโอกาสที่จะทำโครงการอย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่าปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ.  ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้. แต่ข้อสำคัญที่สุดคือวัตถุดิบ.  ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกร เกษตรกรก็จะไม่ผลิต.  ยิ่งถ้าวัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบที่ต้องนำมาจากระยะไกลหรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง.  บางปีวัตถุดิบนั้นมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงาน ก็ขายยากเหมือนกัน เพราะว่ามีมาก จึงทำให้ราคาตก.  นี่ก็เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องมี.

          แต่ข้อสำคัญที่อยากจะพูดถึงคือ ถ้าเราทำโครงการที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสมอาจจะไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก.  เช่นโรงงานกระป๋องที่ริเริ่มทำ ที่อำเภอฝางนั่น วันหนึ่งเขาติดต่อมาบอกว่าน้ำท่วม น้ำเขาลงมา พัดโรงงานเสียหาย ก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร จะสนับสนุนเงินเพิ่มเติม.  ที่ดินที่ตรงนั้นก็ซื้อไว้แล้ว และเครื่องมือเครื่องใช้ก็ไม่เสียหมด. ก็สนับสนุนเขาอีกสี่แสน คือเป็นสี่แสน ไม่ใช่สามแสนตามราคาเดิม เพราะว่าเป็นเวลาที่เงินมีค่าน้อยลง.  ตั้งขึ้นมาใหม่ ต่อไปก็ใช้งานได้ มีกำไร.  อันนี้เกิดขึ้นหลายปีมาแล้ว. มาเร็วๆ นี้ โครงการต่างๆ โรงงานเกิดขึ้นมามาก จนกระทั่งคนนึกว่าประเทศไทยนี้ จะเป็นเสือตัวเล็กๆ แล้วก็เป็นเสือตัวโตขึ้น. เราไปเห่อว่าจะเป็นเสือ.

          ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ  สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน.  แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง.  อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง.  อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร.  บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก.  อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัย.  จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา. แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้.

          อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุนให้ปลูกข้าวให้พอเพียงกับตัวเอง แต่ละครอบครัวเก็บเอาไว้ในยุ้งเล็กๆ แล้วถ้ามีพอก็ขาย.  แต่คนอื่นกลับบอกว่าไม่สมควร.  โดยเฉพาะในทางภาคอีสาน เขาบอกว่าต้องปลูกข้าวหอมมะลิเพื่อจะขาย.  อันนี้ถูกต้อง ข้าวหอมมะลิขายได้ดี แต่เมื่อขายแล้ว จะบริโภคเองต้องซื้อ ต้องซื้อจากใคร.  ทุกคนก็ปลูกข้าวหอมมะลิ.  ในภาคอีสานส่วนมากเขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็นคนปลูกข้าวเหนียว เพราะประกาศโฆษณาว่า คนที่ปลูกข้าวเหนียวเป็นคนโง่.  อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ.  เลยได้สนับสนุนบอกว่าให้เขาปลูกข้าวบริโภค เขาจะชอบข้าวเหนียวก็ปลูกข้าวเหนียว.  เขาจะชอบปลูกข้าวอะไรก็ตาม ให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้เพื่อที่จะบริโภคตลอดปี ถ้ามีที่ที่จะทำนาปรัง หรือมีที่มากพอสำหรับปลูกข้าว ก็ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะขาย

          ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะว่า ข้าวที่ปลูกสำหรับบริโภค ไม่ต้องเที่ยวรอบโลก.  ถ้าข้าวที่ซื้อมา ต้องเที่ยว อาจจะไม่ถึงรอบโลก แต่ก็ต้องข้ามจังหวัด หรืออาจจะข้ามประเทศ ค่าขนส่งนั้นก็บวกเข้าไป ในราคาข้าว ตกลงเขาจะต้องขายข้าวในราคาถูก เพราะว่าข้าวนั้นต้องขนส่งไปสู่ต่างประเทศ ที่จะขายได้กำไร ก็ต้องบวกค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็บวกเข้ามาในราคาข้าว.  หมายความว่าราคาข้าวของเกษตรกรจะถูกตัด.  เขาบอกว่าขายข้าวหอมมะลิได้ราคาแพง จริง ตอนขายถึงผู้บริโภคในต่างประเทศ แต่ต้นทางก็ไม่ได้ค่าตอบแทนมากนัก และยังต้องไปซื้อข้าวบริโภค ซึ่งจะแพงกว่า เพราะว่าจะต้องขนส่งมา.

          ในข้อนี้ได้ทราบดีเพราะเมื่อมีภัยธรรมชาติ จะเป็นที่ไหนก็ตาม สมมติว่าเกิดที่เชียงราย มีเจ้าหน้าที่ออกไปสงเคราะห์ แล้วก็ขอข้าวเพื่อไปแจก.  เราก็ซื้อข้าว ซื้อข้าวในราคากรุงเทพฯ หมายความว่า ข้าวนั้นมาจากเชียงราย เพราะเชียงรายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ขนส่งมาถึงกรุงเทพฯ.  ซื้อที่กรุงเทพฯ แล้วก็ส่งไปเชียงราย.  เสียค่าขนส่งเท่าไหร่.  แท้จริงไปซื้อที่เชียงรายได้. ซื้อที่กรุงเทพฯ นี่ แต่ให้เขาจ่ายที่เชียงราย  ข้าวนั้นไม่ต้องเดินทาง แต่ว่าราคานั้น “เดินทาง” คือพ่อค้าเขานำข้าวมาในนาม – ในเอกสาร - นำเข้ากรุงเทพฯ และเมื่อเราสั่งข้าว คำสั่งนั้นต้องเดินทางไปเชียงราย. แต่ไม่ใช่เอกสารสั่งข้าวเท่านั้นที่เดินทางไป เขายังเอาค่าขนส่งข้าวจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ และค่าขนส่งจากกรุงเทพฯ กลับไปเชียงรายบวกเข้าไปอีก.  ลงท้าย ต้องเสียราคาข้าวแพง.  ผู้ที่บริโภคข้าวในภาคเหนือก็ต้องเสียราคาแพง  ทางภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน นั่นใกล้หน่อย อย่างนราธิวาสซื้อข้าวจากพัทลุง.

          สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจแบบค้าขาย” ภาษาฝรั่งเขาเรียก TRADE ECONOMY ไม่ใช่ “แบบพอเพียง “ ซึ่งฝรั่งเรียก SELF-SUFFICIENT ECONOMY ที่ไหนทำแบบ SELF-SUFFICIENT ECONOMY คือเศรษฐกิจแบบพอเพียงกับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน.  อย่างทุกวันนี้เราเดือดร้อน สำหรับข้าวก็เห็นชัด.  สำหรับสิ่งอื่นประชาชนก็ต้องใช้ มีสิ่งของจำเป็นที่จะใช้หลายอย่างที่เราทำได้ในเมืองไทย.  แล้ว ก็สามารถที่จะเป็นสินค้าส่งนอก. ใช้เองด้วย และเป็นสินค้าส่งนอกด้วย.  แต่ว่าสำหรับส่งนอกนั้น ก็มีพิธีการที่จะต้องผ่านมากมาย ลงท้ายกำไรเกือบไม่เหลือ.  แต่ถ้าสามารถติดต่อโดยตรง ก็อย่างกลองนี้ เขาติดต่อโดยตรง ก็ส่งไปลงเรือ ที่เรียกว่า CON-TAINER.  ส่งไปเต็ม CONTAINER และค่าขนส่งนั้นก็ไม่แพงนัก.

          ที่พูดกลับไปกลับมาในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิตและการขายนี้ ก็นึกว่าท่านทั้งหลายกำลังกลุ้มใจในวิกฤตการณ์.  ตั้งแต่คนที่มีเงินน้อยจนกระทั่งคนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน.  แต่ถ้าสามารถที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็นเศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่งก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะสามารถอยู่ได้.  การแก้ไขอาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายๆ.  โดยมากคนก็ใจร้อนเพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถที่จะแก้ไขได้.  ที่จริงในที่นี้ ก็มีนักเศรษฐกิจต่างๆ ก็ควรจะเข้าใจที่พูดไปดังนี้.

          อย่างรถที่นั่งมาตะกี้ ท่านเห็นหรือไม่เห็น ก็ไม่ทราบ สร้างด้วยฝีมือคนไทย แล้วก็ใช้วัตถุดิบในเมืองไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะค่าแรง.  โรงงานเดี๋ยวนี้ผลิตไม่ได้เพราะว่าไม่มีคนซื้อ อาจจะมีคนอยากซื้อ แต่คนซื้อไม่มีเงิน.  ไม่มีการหมุนเวียนของเงิน เขาเลยสร้างรถคันนี้มา.  คนที่สร้างรถคันเดียวนี้มีจำนวนสองร้อยกว่าคน.  ก็เลยทำให้เห็นว่า น่าจะหาทางที่จะช่วยเหลือคนที่อยู่ในโรงงานนี้.  โรงงานเขาก็ดี เขาก็ดูแลคนงาน ไม่ได้ทำให้คนงานเดือดร้อนจนเกินไป.  เขาเท่ากับมีสวัสดิการ งานก็ทำไม่มากเท่าก่อนนี้ แล้วเงินที่ได้ก็อาจจะไม่มากเท่าก่อนนี้ แต่พออยู่ได้.

          เขามีความตั้งใจที่จะทำการเกษตรกรรมในพื้นที่ที่ยังว่างเปล่าอยู่.  เขาบอกว่าเขาขอไปดูโครงการที่เขาหินซ้อน ว่าทำอย่างไร สำหรับเพาะปลูกในที่ทุรกันดาร ที่ไม่ค่อยเหมาะสมในการเพาะปลูก.  แล้วก็ตั้งใจที่จะสนับสนุนให้เขาตั้งโรงสี เหมือนโรงสีในสวนจิตรฯ นี้ ซึ่งก็ไม่แพงนัก. เมื่อตั้งโรงสี ปลูกข้าวเองบ้าง และไปซื้อข้าวจากเกษตรกรบ้าง นำมาสี และขายในราคาที่เหมาะสม เป็นในรูปสหกรณ์. ที่ทำที่สวนจิตรฯ นี้ ไม่ได้ใช้ข้าวที่ปลูกในสวนจิตรฯ เพราะว่าข้าวที่ปลูกในสวนจิตรฯ เอาไปเข้าพิธีแรกนาขวัญ.  ข้าวที่โรงสีนี้ เป็นข้าวที่ไปซื้อจากเกษตรกรโดยตรง โดยให้ราคาที่เหมาะสม.  เกษตรกรก็มีความสุข เพราะขายข้าวในราคาที่เหมาะสม และผู้บริโภคก็ซื้อได้ในราคาถูก เพราะว่าไม่ต้องมีการขนส่งมากเกินไป. ไม่ต้องมีคนกลางมากเกินไป  ตกลงทั้งผู้ผลิต ทั้งผู้บริโภคก็มีความสุข.

          กิจการแบบนี้ก็เคยแนะนำหน่วยทหารบางหน่วย ให้เขาทำโรงสี และสนับสนุนเกษตรกร ที่อยู่รอบๆ กองทหารนั้น ก็ดูมีความสุข.  ที่นิคมต่างๆ มีนิคมที่ประจวบฯ ที่ภาคใต้บ้าง และที่อื่น เขามีโรงสี และทำให้การซื้อข้าวขายข้าวนั้นเป็นที่พอใจของผู้ขายและผู้ซื้อ.  ก็เคยได้แนะนำบริษัทใหญ่ๆ ให้ทำแบบนี้ แต่ไม่ทราบว่าทำหรือไม่ทำ.  แต่ว่าถ้าทำอย่างที่กองทหารและนิคมสร้างตนเองทำ ก็สามารถที่จะประหยัดและมีกิน.  การตั้งโรงสีก็ย่อมต้องมีการลงทุน. การเพาะปลูกผลิตข้าวหรือผลิตสิ่งของทางเกษตร ก็ต้องมีการลงทุน  จะเอาเงินลงทุนมาจากไหน.  ก็นึกว่าผู้ที่มีจิตใจกุศล ก็สามารถที่จะสนับสนุน อย่างมีพ่อค้าบางคนเขาก็บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจการที่ทำอยู่.

          แม้แต่กิจการ ที่นายกฯ ได้พูดถึงเรื่องทฤษฎีใหม่ เรื่องอะไรพวกนี้ก็ต้องมีผู้ที่สนับสนุน เพราะว่าชาวบ้านหรือเกษตรกรอาจจะไม่มีทุนพอสำหรับเริ่มโครงการ. แต่ถ้าสนับสนุนแล้ว คือเอกชนสนับสนุนก็ได้ ทางราชการก็สนับสนุนด้วย เงินที่สนับสนุนจะเป็นเงินที่ทำงาน.  เงินทำงานนี่ก็หมายความว่ามีผลขึ้นมา มีผลขึ้นมาต่อเกษตรกร และมีผลต่อประเทศชาติในส่วนรวม.  เศรษฐกิจของประเทศชาติก็จะไม่ฝืดเคือง และอย่างนี้ก็ทำได้เร็วพอใช้.

          เมื่อไม่กี่เดือนมานี่ มีคนเอาที่ดินมาให้ อยู่ที่อำเภอปักธงชัย.  ตอนแรกเขาจะให้ ๙ ไร่ เวลามาพบเขาเกิดพอใจ เขาบอกว่าเขามีที่ ๓๐ ไร่ เขาขอที่ ๙ ไร่เอาไว้สำหรับแจกให้ลูก ๓ คน คนละ ๓ ไร่ ส่วนอีก ๒๑ ไร่นั้น เขาให้.  จะทำโครงการอะไรก็ได้.

          ตอนแรกเขานึกจะตั้งวัด.  มีเพื่อนของเขาคัดค้านว่า มีวัดอยู่แล้ว.  เขาก็เลยบอกว่าจะตั้งที่พักสำหรับโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ห่างจากที่นั้นประมาณหนึ่งกิโลเมตร.  ในที่สุดเขาเอามาให้ บอกว่าทำอะไรก็ได้.  เรานึกว่าถ้าทำที่พักโรงพยาบาลก็อาจจะยังไม่มีประโยชน์ใ

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 หมายถึง, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 คือ, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 ความหมาย, พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 2540 คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

คำยอดฮิต

Sanook.commenu