พระธาตุพนม พระบรมธาตุเจดีย์องค์สำคัญ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนสองฝั่งโขง บรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระมหากัสสปะเถระได้นำมาประดิษฐานไว้บนภูกำพร้า
ตามตำนานว่าก่อสร้างโดยกษัตริย์ห้าองค์คือ พระยาจุฬณีพรหมทัต พระยานันทเสน พระยาอินทปัต พระยาคำแดง และพระยาสุวรรณภิงคาร พร้อมไพร่พล ในส่วนลวดลายที่เรือนธาตุนั้นตำนานเล่าว่าตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา มีแผ่นอิฐที่จำหลักลวดลายเป็นภาพกษัตริย์โบราณ ฝีมือช่างพื้นบ้าน ศิลปะสมัยทวารวดี หรือพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๕ นับว่าเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่เก่าแก่ของภาคอีสาน
พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและอุปถัมภ์โดยกษัตริย์แห้งล้านช้าง ในสมัย พ.ศ. ๒๒๒๓-๒๒๒๕ พระครูโพนเสม็ด (ญาคูขี้หอม) นำราษฎรจากเวียงจันทร์ ๓,๐๐๐ คนมาปฏิสังขรณ์พระธาตุให้สูงขึ้น และเป็นรูปแบบที่นิยมในอีสาน ต่อมาทางรัฐบาลได้บูรณะให้สูงขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่ในวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๑๘ เกิดฝนตกหนักและพระธาตุพนมได้ทรุดพังทลายลง แต่ก็ได้รับการบูรณะโดยภาครัฐและเอกชนเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒
ในเขตวัดมีบ่อน้ำพระอินทร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของบ่อน้ำที่ใช้น้ำมาเสกน้ำพระพุทธมนต์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน
งานนมัสการพระธาตุพนมจัดขึ้นทุกปีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ ถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓
คำบูชาพระธาตุ
ปันนะศิริสะมิง ปัพพะเต อุตะมังธาตุ
เหทะยัง วะละจิตตัง เสฐะวะรัง อะหังวันทามิ สัพพะทา
สถานที่ตั้ง การเดินทาง
ที่ตั้ง : ถ.ชยางกูร บ้านธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
การเดินทาง
จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข ๑ ถึง จ. สระบุรีบริเวณ กม. ที่ ๑๐๗ เข้าทางหลวงหมายเลข ๒ ผ่าน จ.นครราชสีมามาถึงขอนแก่นแล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ผ่าน จ.กาฬสินธุ์ สกลนคร จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒ ไป จ.นครพนม ระยะทางประมาณ ๗๖๐ กม. จากตัวเมืองนครพนมใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๒ ไป ประมาณ ๕๐ กม.
มีรถโดยสารกรุงเทพฯ-นครพนม ขึ้นรถที่สถานีขนส่งหมอชิต (ใหม่) สอบถามเพิ่มเติมที่โทร. ๐-๒๙๓๖-๑๘๘๐, ๐-๒๙๓๖-๒๒๕๒
มีรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครพนม ออกเดินทางทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. ๐-๒๒๓-๗๐๑๐, ๐-๒๒๒๓-๗๐๒๐
สายการบินไทยมีเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-นครพนม ออกทุกวัน สอบถามเพิ่มเติมที่โทร. ๑๕๖๖, ๐-๒๒๘๐-๐๐๖๐
ที่มา
www.thaispecial.com
www.tat.or.th