ฝนดาวตกเจมินิดส์ ( Geminids Meteor Shower ) หรือ ฝนดาวตกคนคู่ เกิดขึ้นช่วงประมาณวันที่ 6 – 19 ธันวาคมของทุกปี และวันที่ตกจะตกมากที่สุดคือวันที่ 13 -14 ธันวาคม มีอัตราการตกประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง จุด Radiant ใกลักับดาวคาสเตอร์ (Castor ) ปริมาณดาวตกในวันที่ตกชุกที่สุด 80 จุดเรเดียน อยู่ในกลุ่มดาวคนคู่ ( Gemini )
ต้นกำเนิดฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากแกนกลางของดาวหางที่สลายตัวหมดแล้วกลายเป็นดาวเคราะห์น้อย 3200Phaethon สิ่งที่น่าสนใจในฝนดาวตกเจมินิดส์ครั้งนี้ คือมีโอกาสจะเห็นดาวตกที่สว่างมาก ๆ หรือที่เรียกว่า Fire Ball การเกิดฝนดาวตก กลุ่มดาวคนคู่จะขึ้นทางขอบฟ้าด้านตะวันออกในราว 20.00 น และในราว 21.00 น.
กลุ่มดาวคนคู่จะอยู่สูงจากขอบฟ้าพอที่จะเริ่มสังเกตฝนดาวตกเจมินิดส์ได้ ซึ่งจะแผ่ออกมาแถวบริเวณดาวแคสเตอร์ (Castor) และ ดาวพอลลักซ์ (Pollux) ที่เป็นดาวดวงที่สว่างที่สุด 2 ดวงในกลุ่มดาวคนคู่ คาดว่าจะเห็นปริมาณฝนดาวตกได้เฉลี่ยประมาณ 60 ดวงต่อชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตั้งแต่ 24.00 น. ไปจนถึง 02.00 น. ของวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งหลังจากนั้นดวงจันทร์จะเริ่มขึ้นที่ขอบฟ้าด้านตะวันออกทำให้เห็นฝนดาวตกยากขึ้น การเห็นฝนดาวตกอาจเห็นทางทิศตะวันออกในช่วงแรกตอนกลุ่มดาวคนคู่เริ่มขึ้น แต่ในช่วงดึกเมื่อกลุ่มดาวคนคู่อยู่บริเวณตำแหน่งเหนือศีรษะอาจเห็นได้ทุกทิศทาง
อย่างไรก็ตาม ฝนดาวตกเจมินิดส์อาจไม่สว่างเหมือนฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่ตามสถิติแล้วจะมีจำนวนมากกว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากเศษดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า 3200 ฟีทอน (3200 Phaethon) ต่างจากฝนดาวตกอื่นๆ ที่ส่วนมากเกิดจากเศษของดาวหาง ซึ่งนักดาราศาสตร์พบว่าเศษที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 ฟีทอนทิ้งไว้ค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณฝนดาวตกมีมากกว่าฝนดาวตกชนิดอื่นๆ และฝนดาวตกเจมินิดส์นี้มักจะมีการเคลื่อนที่ค่อนข้างช้ากว่าฝนดาวตกอื่นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากโลกไม่ได้ชนเข้าไปในบริเวณฝุ่นแบบตรง (Head-on) และเศษดาวเคราะห์น้อยเคลื่อนที่ค่อนข้างช้า โดยเข้าในบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วประมาณ 35 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งช้ากว่าฝนดาวตกอื่นๆ จึงทำให้มีโอกาสเห็นได้ง่ายกว่าฝนดาวตกอื่นๆ
ฝนดาวตกเจมินิดส์ ปี 2550
คนไทยรอชมฝนดาวตก อากาศเป็นใจคาดงดงามเต็มท้องฟ้า
น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteor Shower) นับเป็นฝนดาวตกที่น่าจับตาที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นฝนดาวตกที่ปรากฏขึ้นทุกปี มีจำนวนมาก และเกิดในช่วงที่สภาพภูมิอากาศเหมาะสม โดยจะปรากฏให้เห็น ในช่วงวันที่ 6-19 ธ.ค.ของทุกปี ซึ่งจะเป็นช่วงหน้าหนาว ปลอดฝน โดยในปีนี้คนไทยจะสามารถเห็นฝนดาวตกจำนวนมากที่สุด ในคืนวันที่ 14 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป มีจำนวนฝนดาวตกสูงสุด 80-100 ดวง/ชั่วโมง มีเรเดียนท์อยู่ใน กลุ่มดาวราศีมิถุน หรือ กลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ขณะที่ฝนดาวตกซึ่งมีจำนวนมากอื่นๆ เช่น ฝนดาวตกเพอซีดส์ (Perseids Meteor Shower) มักจะปรากฏในช่วงหน้าฝน ทำให้มองไม่เห็น ส่วนฝนดาวตกลีโอนิดส์จะปรากฏให้เห็นทุกๆ 33-34 ปีเท่านั้น
แม้ฝนดาวตกเจมินิดส์จะไม่สว่างและสวยงามตระการตาเท่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ แต่ความน่าสนใจของฝนดาวตกเจมินิดส์ คือไม่ได้กำเนิดจากธารอุกกาบาตของดาวหาง แต่กำเนิดจากธารอุกกาบาตของดาวเคราะห์น้อย 3200 ฟีธอน (3200 Phaethon) ดังนั้นอุกกาบาตจึงมีขนาดใหญ่ ทำให้ช่วงเวลาการเกิดดาวตกยาวนาน สามารถมองเห็นดาวตกจำนวนมากได้ใน 2-3 วัน ก่อนและหลังวันที่มีจำนวนดาวตกสูงสุด นอกจากนี้ฝนดาวตกเจมินิดส์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเพียง 35 กิโลเมตร/วินาที ซึ่งช้ากว่าฝนดาวตกลีโอนิดส์ซึ่งมีความเร็ว 71 กิโลเมตร/วินาที
จึงทำให้มีช่วงระยะเวลาในการสังเกตเห็นนานกว่า ที่สำคัญปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ทำให้นักดูดาวต้องผิดหวัง เพราะผมได้ติดตามดูฝนดาวตกเจมินิดส์มาเป็นเวลากว่า 10 ปี ซึ่งแต่ละครั้งพบดาวตกไม่ต่ำกว่า 100 ดวง ในปี พ.ศ.2539 สามารถนับดาวตกช่วงสูงสุดได้ถึง 135 ดวง ปี พ.ศ.2541 ช่วงเวลา 01.00-02.00 น. นับได้ 110 ดวง ปี พ.ศ.2542 ช่วงเวลา 01.00-02.00 น. นับได้ 197 ดวง หลายปีต่อมาไม่สามารถติดตามได้เนื่องจากมีแสงจันทร์รบกวน จนกระทั่งปี 2549 ได้เปิดโอกาสให้ยุววิจัยศูนย์ LESA ร่วมเรียนรู้วิธีการนับฝนดาวตก โดยในช่วงเวลา 01.00-01.15 น. พบดาวตกจำนวน 39 ดวง ซึ่งคิดเป็นอัตราการตก 159 ดวง/ชั่วโมงทีเดียว
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามชมฝนดาวตกเจมินิดส์ แนะนำว่าควรออกไปเฝ้าดูในย่านชานเมืองหรือบริเวณที่ไม่มีแสงไฟรบกวน และหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มองหากลุ่มดาวคนคู่ ด้วยการสังเกตดาวอังคารซึ่งมีลักษณะสว่างสีส้มแดงเป็นหลัก เมื่อมองลงมาด้านล่างหรือบริเวณใกล้เคียงจะพบกลุ่มดาวคนคู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นดาวฤกษ์ 2 ดวงอยู่ด้วยกัน หรือหากไม่สามารถกำหนดทิศได้ให้ลองนอนเอาหัวชนกันเป็น 4 มุมเพื่อจะได้เห็นทั่วท้องฟ้าทำให้ไม่พลาดในการชม อีกทั้งยิ่งดึกมากดาวคนคู่จะลอยสูงขึ้น สามารถตกกระจายได้บริเวณกว้างขึ้น ทำให้มีโอกาสเห็นดาวตกมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดีปีนี้นับเป็นโอกาสอันดีในการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ เนื่องจากดวงจันทร์ตกในช่วงหัวค่ำ ทำให้สามารถสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดคืน ซึ่งหากพลาดในปีนี้อาจจะต้องรอถึงปี พ.ศ.2552 เนื่องจากปี 2551 มีแนวโน้มว่าจะถูกแสงจันทร์บดบังสูง
ที่มา
www.most.go.th
www.banmuang.co.th