งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชสมภพในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศํกราช ๒๔๗๐ และเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศํกราช ๒๔๘๙ ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ ทรงยึดมั่นในทศพิธราชธรรม ทรงพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อความร่มเย็นผาสุกแก่อาณาประชาราษฎร์และประเทศชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทรงริเริ่มโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ กับพระราชทานแนวทางการดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นพระมิ่งขวัญร่มเกล้าของปวงชนชาวไทย
เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ นับเป็นมหามงคลสมัยพิเศษยิ่ง ซึ่งรัฐบาลจะได้จัดงานเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติและถูกต้องตามราชประเพณี ดังนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชื่อพระราชพิธี ชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ และกำหนดเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานดังนี้
- ชื่อพระราชพิธีว่า “ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐”
- ชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า “ งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐”
- ชื่อภาษาอังกฤษใช้เพียงชื่อเดียว ซึ่งหมายรวมถึงชื่อพระราชพิธีและชื่อการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ว่า “The Celebrations on the Auspicious Occasion of His Majesty the King’s 80 th Birthday Anniversary 5 th December 2007”
- กำหนดเขตการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๐ ถึง วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๐
ข้อปฏิบัติการขอใช้ตราสัญลักษณ์และการประดับธง
ข้อปฏิบัติการขอใช้ตราสัญลักษณ์และการประดับธงกับตราสัญลักษณ์
งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา
-----------------------
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 และรัฐบาลโดยคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ได้กำหนดการขอใช้ตราสัญลักษณ์และการประดับธงกับตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติฯ ดังนี้
1. กรณีที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป มีความประสงค์นำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในการจัดทำสิ่งของใดๆ ก็ตาม ให้แจ้งสำนักราชเลขาธิการ เพื่อพิจารณาคำขออณุญาต (สำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมราชวัง เขตพระนคร เขตพระนคร กทม. 10200 โทร.0-2225-3457-62)
2. โครงการและกิจกรรมที่ผ่านมาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เป็นโครงการและกิจกรรมร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ จากคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วสามารถนำตราสัญลักษณ์ไปใช้ในโครงการและกิจกรรมได้เลย โดยให้แจ้งสำนักราชเลขาธิการทราบ เพื่อรวบรวมบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ ยกเว้นโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินการเพื่อก่อให้เกิดรายได้ จะต้องได้รับการพิจารณาจากสำนักราชเลขาธิการก่อน
3. ให้ประดับธงชาติไทยคู่กับธงผืนผ้าสีเหลืองที่มีตราสัญลักษณ์บนผืนผ้า และประดับตราสัญลักษณ์ ตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ของหน่วยงาน เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสนำนักราชเลขาธิการ ทั้งนี้ ให้ประดับในระยะเวลาของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2550
ที่มา www.80thbirthdayanniversary.go.th
ความหมายตราสัญลักษณ์
อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทองบนพื้นสีน้ำเงินเจือทอง อันเป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะ หมายว่า เหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหาร ข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฎิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง เหล่านี้เปรียบด้วยเพชรอันชื่อว่ารัตนะ แวดล้อมประดับพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้นอันเหนือยิ่งกว่าเพชรอันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวงคือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราฎร์ ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุขเป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นกว่าปวงพระสกนิกรซึ่งต่างเชื้อศาสนาในพระราชอาณาจักรของพระองค์
งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ เป็นภาพพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักรกลางวงจักรมีอักขระเป็นอุณาโลม รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือวงจักรเป็นเศวตฉัตร ๗ ชั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์อันหมายถึง พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระบรมเดชานุภาพเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์ได้ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ตามโบราณราชประเพณี และสมาชิกรัฐสภาได้ถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปดเป็นครั้งแรกแทนราชบัณฑิตส่วนพระแท่นลานั้นโรยด้วยดอกพิกุลเงินพิกุลทอง ๙ ดอก พระราชลัญจกรล้อมรอบด้วยเพชร ๘๐ เม็ด หมายถึงพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา ด้านบนพระราชลัญจกรเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ภายในพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเลข ๙ หมายถึงรัชกาลที่ ๙ พระมหาพิชัยมงกุฎนั้นอยู่ด้านหน้าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตรซึ่งอยู่กึ่งกลางและขนาบข้างด้วยเศวตฉัตร ๗ ชั้น อันเป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ด้านล่างพระราชลัญจกรเป็นเลข ๘๐ หมายถึงพระองค์มีพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา ถัดจากเลขไทยลงมาเป็นแพรแถบบอกชื่องานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ แพรแถบนอกจากบอกชื่องานพระราชพิธีแล้ว ยังรองรับประคองเศวตฉัตรด้วย