กระบวนพยุหยาตราชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี ซึ่งได้ ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว และสืบทอดต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และได้มีมาจนปัจจุบัน แต่เดิมกระบวนพยุหยาตราสถลมารค เป็นการเสด็จพระ ราชดำเนินเพื่อประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรี การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญ จากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวง ตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ และการพระบรมศพ เป็นต้น
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้ กล่าวได้ว่าวิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือในยามที่ว่างศึกเพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพล โดยที่กองเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงาม มีการ ประโคมดนตรีไปในกระบวนเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน และพลพายเกิดความฮึกเหิมอีกด้วย ทั้งยังจัดเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ และพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้ทรงแสดงพระบารมีแผ่ไพศาล เป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญและเป็นที่พึ่งแด่พสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยทั่วไปการจัดริ้ว กระบวนได้แบ่งออกเป็น ๒ แบบ เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราใหญ่ ซึ่งจัดเป็น ๔ สาย และระบวนพยุหยาตราน้อย จัดเป็น ๒ สาย การจัดริ้วกระบวนมีกระบวนการจัดแบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือ กระบวนนอกหน้ากระบวนในหน้า กระบวนเรือพระราชยาน กระบวนในหลังและกระบวนนอกหลัง ซึ่งเต็มไปด้วยความสวยงาม ความโอ่อ่าตระการตา และความมีระเบียบสมกับเป็นประเพณีของชาติที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณกาล
เรือพระราชพิธี หมายถึง เรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่ประทับในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใดที่หนึ่งโดยทางน้ำเรือพระที่นั่งนี้จะแวดล้อมแห่แหนด้วยริ้วกระบวนเรือของขุนนาง และทหารในกอง กรมต่างๆ ที่เรียกว่า เรือหลวง มีการจัดเรียงลำดับเรือต่างๆ ตามแบบแผนของการจัดทัพที่มีมาแต่โบราณ
ภาพแสดงแผนผังกระบวนพยุหยาตราชลมารคประวัติความเป็นมา
การเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทยนับแต่โบราณกาลมา นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า "พยุหยาตราสถลมารค" แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ "พยุหยาตราชลมารค" ก็เป็นเส้นทางการคมนาคมที่สำคัญยิ่งเช่นกัน ตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัยเป็น ราชธานีของไทยเรา ปรากฏว่าพระร่วงทรงเรือออกไปลอยกระทงหรือพิธีจองเปรียง ณ กลางสระกลางน้ำ พร้อมทั้งเผาเทียนเล่นไฟในยามเพ็ญเดือนสิบสอง ต่อมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีซึ่งเป็นเมืองเกาะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมายหลายสาย ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกรุงเก่าจึงต้องอาศัยเรือ ในการสัญจรไปมา รวมทั้งในเวลารบทัพจับศึกก็จะใช้กระบวนทัพเรือเป็นสำคัญ จึงปรากฏว่ามีการสร้างเรือรบมากมายในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในเวลาบ้านเมืองปราศจากศึกสงครามได้ใช้เรือรบฝึกซ้อมกระบวนยุทธ์กันเป็นนิจ เพราะฉะนั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากอันเป็นเวลาที่ราษฎรว่างจากการทำนา จึงเรียกระดมพลมาฝึกซ้อมกระบวนทัพเรือโดยอาศัยฤดูกาลประจวบกับเป็นช่วงของประเพณีการทอดกฐิน พระเจ้าแผนดินจึง เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนเรือรบแห่แหน เพื่อให้ไพรพลได้รื่นเริงในการกุศล จึงจัดเป็นประเพณีที่แห่เสด็จกฐิน
นอกจากนั้นกระบวนพยุหยาตราชลมารคในอดีต ยังได้จัดในคราวที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งส่วนพระองค์และที่เป็นพระราชพิธีตลอดจนโอกาสสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญ พระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้าประดิษฐานในเมืองหลวง การต้อนรับทูตต่างประเทศ เป็นต้น
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชสมัยรัชกาลที่ 9
สำหรับในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคมาแล้วจำนวน 14 ครั้ง ประกอบด้วย
- ครั้งที่ 1 พยุหยาตราชลมารคในการฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2500
- ครั้งที่ 2 กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2502
- ครั้งที่ 3 กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ..2504
- ครั้งที่ 4 กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ.2505
- ครั้งที่ 5 กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ.2507
- ครั้งที่ 6 กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 19 ตุลาคม พ.ศ.2508
- ครั้งที่ 7 กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ.2510
- ครั้งที่ 8 กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค ในคราวที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ 200 ปี เสด็จพระราชดำเนินไปบวงสรวงสมเด็จพระบูรพามหากษัตริย์เจ้า เมื่อ 5 เมษายน พ.ศ.2525
- ครั้งที่ 9 กระบวนพยุหยาตรา (น้อย) แห่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อ 12 เมษายน พ.ศ.2525
- ครั้งที่ 10 พระราชพิธีถวายพระกฐิน (ใหญ่) ณ วัดอรุณราชาวราราม เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2525
- ครั้งที่ 11 กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่ป ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ 16 ตุลาคม พ.ศ.2530
- ครั้งที่ 12 กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณาราชวราราม เมื่อ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2539
- ครั้งที่ 13 กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณาราชวราราม เมื่อ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2542
- ครั้งที่ 14 กระบวนพยุหยาตรา (ใหญ่) ชลมารค ในการจัดประชุมการค้าเสรีประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค 2003 เมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ.2546
ประวัติการเห่เรือ
การเห่เรือ เป็นกิจกรรมที่ควบคู่มากับการเดินทางทางน้ำ จำแนกได้ 2 ประเภท คือ การเห่เรือในงานพระราชพิธี ที่เรียกว่า "การเห่เรือหลวง" และการเห่เรือสำหรับเที่ยวเตร่หรือในงาน พื้นบ้านที่เรียกว่า "เห่เรือเล่น" ปัจจุบันการเห่เรือเล่นลดความสำคัญลงไป คงมีแต่การเห่เรือหลวง ที่ดำรงอยู่และถือเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องรักษาไว้เป็นมรดกของชาติสืบต่อไปที่มาของการเห่เรือนั้น ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีของชนชาติต่าง ๆ หลากหลายชนชาติที่มีเรือพายใช้ เช่น อินเดีย จีน ญวน เป็นต้น ลักษณะที่พลพายจะขับร้องในเวลา พายเรือเพื่อให้เกิดความรื่นเริงในการเดินทาง และผ่อนคลายความเหนื่อยอ่อนลง
สำหรับการเห่เรือ ของไทยนั้น นอกจากจะให้ความรื่นเริงแล้วยังเป็นการให้จังหวะเพื่อให้พลพายพายพร้อมกัน โดยทำเป็นทำนองเห่เรือที่แตกต่างกัน 3 อย่าง ขึ้นอยู่กับความต้องการให้พลพายพายช้าหรือเร็ว เช่น ในขณะเริ่มออกเรือขณะพายเรือตามน้ำ จะใช้ทำนอง ช้าลวะเห่ เมื่อเรือจวนถึงที่ประทับจะใช้ทำนอง สวะเห่ และถ้าต้องการให้พายหนักจังหวะเร็วจะใช้ทำนองมูลเห่ สำหรับคนเห่หรือที่เรียกว่าต้นบท ต้องเลือกคนที่มีเสียงดีและเสียงดังพอให้ได้ยินไปทั่วลำเรือ ส่วนบทเห่เรือนั้นนิยมประพันธ์เป็น ร้อยกรอง หรืออาจอยู่ในรูปของกลอนสด และมีอยู่หลายสำนวนด้วยกัน ในสมัยโบราณจะใช้บทใด ไม่ได้กล่าวไว้ แต่เป็นที่รู้จักกันดีและเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ได้แก่ กาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ ซึ่งนิพนธ์ไว้เมื่อตอนปลายกรุงศรีอยุธยา มี 2 เรื่อง เรื่องแรก ขึ้นต้นว่า "พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์สำหรับ เรือพระที่นั่งของพระองค์เอง เวลาตามขบวนเสด็จ ฯ
ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องพระยาครุฑลักนางกากี ซึ่งแต่เดิมคงใช้บทเห่เรือเรื่องนี้แต่เฉพาะเวลาทรงเรือประพาสที่ลับโดยลำพัง นอกจากนี้ยังมีบทเห่เรือ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่รู้จักในนามของ "กาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน" ซึ่งเข้าใจกันว่าทรงพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อชมสมเด็จพระศรี สุริเยนทราบรมราชชนนี ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ด้วยทรงแต่งเครื่องเสวยได้ไม่มีผู้ใดเสนอในสมัยนั้น ปัจจุบันแม้ว่าจะมีบทเห่เรือสำนวนใหม่ ๆ เกิดขึ้น แต่บทเห่เรือเหล่านั้นก็อาศัย หลักเกณฑ์ และรูปแบบของบทเห่เรือเก่าที่ยังคงหลงเหลืออยู่
ประวัติเรือพระที่นั่ง
เรือพระราชพิธีและประเพณีเห่เรือ เป็น "มรดกทางวัฒนธรรม" ซึ่งบรรพบุรุษได้เนรมิตรสร้างสรรค์ไว้ให้แก่อนุชนรุ่นต่อมา ยากที่ชาติอื่นใดในโลกจะเสมอเหมือนได้ เรือพระราชพิธีเป็นงานศิลปะอันทรงคุณค่าสูง ฝีมือประณีต แสดงวิชาศิลปะการช่างอย่างเป็นเอก และได้สร้างสมจนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นความภาคภูมิใจในชาติได้อย่างยอดเยี่ยม "เรือพระราชพิธี" มิใช่เป็นเพียงสมบัติของชาติไทยเท่านั้น แต่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของโลกด้วย เรือพระราชพิธีประกอบด้วยศิลปะหลายประเภทคือ คิลปะนาวาสถาปัตยกรรมในการออกแบบรูปทรงลำเรือ อันบรรเจิดตระการตาและได้ประโยชน์ใช้สอยอย่างสมบูรณ์ ศิลปะจิตรกรรมในการออกแบบลวดลายและสีสันอันสวยสดงดงาม มีท่วงท่าประณีตอ่อนระทวยแต่สง่าภูมิฐาน ศิลปะประติมากรรม อันได้แก่ การแกะสลักให้เกิดการตื้นลึกมีแสงและเงา มีท่วงทำนอง เน้นการทอดจังหวะของลวดลายทำให้ท่อนไม้ซึ่งไม่มีชีวิต ดุจมีชีวิตเคลื่อนไหวได้ราวกับสิ่งมีชีวิตจริง เมื่อพายกระทบน้ำและกระทบแสงอาทิตย์เกิดประกายระยับจับตา ฝีพายท่านกบินพายพร้อมกันประหนึ่งหงส์เหิรโผผินบินเหนือท้องน้ำ ด้วยท่วงท่าอันสง่าประกอบด้วยเพลงเห่อันไพเราะประทับใจในภาพดุจดั่งสวรรค์ เคลื่อนคล้อยลอยเลื่อนมายังพื้นน้ำในแผ่นดิน เมื่อได้เห็นภาพย่อมตราตรึงติดใจอยู่อย่างมิรู้ลืม ฉะนั้นวัฒนธรรมกระบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารคจึงเป็นเอกในโลกนี้ ด้วยความภูมิใจในความอุตสาหะวิริยะ และชาญฉลาดของบรรพบุรุษที่ได้สร้างมรดกทางปัญญาอันสูงค่าชิ้นนี้ ซึ่งจะต้องอนุรักษ์ให้เจริญคงทนถาวรต่อไปชั่วนิรันดร
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งโปรดให้สร้างแทนลำเดิมมีนามว่า ศรีสุพรรณหงส์ ซึ่งสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โขนเรือเป็นรูปหงส์ ลงรักปิดทองประดับกระจก พื้นเรือสีดำน้ำหนัก 15.6 ตัน กว้าง 3.15 เมตร ยาว 44.70 เมตร ลึก 0.90 เมตร กินน้ำลึก 0.41 เมตร ฝีพาย 50 นาย นายท้าย 2 นาย นายเรือ 2 นาย พายที่ใช้เป็นพายทอง พลพายจะพายในท่านกบิน และถือเป็นธรรมเนียมว่าถ้าจะเปลี่ยนท่าพายธรรมดาจะต้องรับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันเป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แทนลำเดิมซึ่งสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โขนเรือปิดทองประดับกระจก เป็นรูปพญานาค 7 เศียร พื้นเรือ สีเขียว น้ำหนัก 15.36 ตัน กว้าง 2.95 เมตร ยาว 42.95 เมตร ลึก 0.76 เมตร กินน้ำลึก 0.31 เมตร ฝีพาย 54 นาย นายท้าย 2 นาย
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หัวเรือจำหลักปิดทองเป็นรูปพญานาคเล็กๆ จำนวนมาก พื้นเรือสีชมพู น้ำหนัก 7.7 ตัน กว้าง 3.15 เมตร ยาว 45.40 เมตร ลึก 1.11 เมตร กินน้ำลึก 1.46 เมตร ฝีพาย 61 นาย นายเรือ 2 นาย นายท้าย 2 นาย
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งจัดสร้างขึ้นใหม่ ในรัชกาลปัจจุบัน มีโขนเรือเป็นรูปนารายณ์ทรงสุบรรณ ซึ่งนำต้นแบบมาจากเรือนารายณ์ทรงสุบรรณ ลำเดิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และ รัชกาลที่ 4
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 นี้ กองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร และสำนักพระราชวัง ได้ดำเนินการจัดสร้าง เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องใน วโรกาสพระราชพิธีในปีกาญจนาภิเษก มีฐานะเป็นเรือพระที่นั่งรอง ทอดบัลลังก์กัญญา เทียบเท่า เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ พื้นเรือสีแดงชาด น้ำหนัก 20 ตัน กว้าง 3.20 เมตร ยาว 44.30 เมตร ลึก 1.10 เมตร ฝีพายจำนวน 50 นาย นายท้าย 2 นาย (เพื่อให้สอดคล้องกับ วโรกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
วันเวลาสถานที่จัดงาน
วันเวลาสถานที่จัดงาน ตุลาคม-พฤศจิกายน ในลำน้ำเจ้าพระยาช่วงท่าวาสุกรี ถึงวัดอรุณราชวราราม
รูปแบบประเพณีปัจจุบัน จัดกระบวนเรือตามลำดับความสำคัญ เห่เรือ
จุดเด่นของพิธีกรรม ความสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการของกระบวนเรือ
สอบถามรายละเอียด สำนักงาน ทท. กรุงเทพฯ โทร. (02) 2829773-6
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.navy.mi.th/sctr/royal_barge_60/indexeng.php
https://pioneer.netserv.chula.ac.th/~boonnart/boat.html
https://www.ku.ac.th/e-magazine/november46/know/water.html