ด้วยพระปรีชาสามารถของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน กิจการรถไฟได้เจริญก้าวหน้าสูงสุดในยุคที่พระองค์ทรงเป็นผู้บัญชาการ พระองค์ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเศรษฐกิจของภูมิภาคด้วยการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อถึงกัน แต่น่าเสียดายที่พระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2479 อย่างไรก็ดีรัฐบาล ยุคต่อๆ มาก็ได้สานต่อแนวพระดำริที่จะให้มีทางรถไฟเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านตามพระราชดำริไว้
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในเมืองสิงค์โปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2479 รวมพระชันษาได้ 54 ปี 7 เดือน 22 วัน แม้ว่าพระองค์จะทรงสิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่พระกรณียกิจ และพระดำริที่ทรงสร้างสรรค์ไว้ยังคงเป็นอนุสรณ์แห่งพระปรีชาสามารถและพระวิริยะอุตสาหะที่ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ ทางราชการได้ตระหนักถึงพระกรุณาธิคุณอันเหลือคณานับของพระองค์ท่าน จึงกำหนดให้วันที่ 14 กันยายน ของทุกปี เป็น " วันบุรฉัตร " และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ และพระกรณียกิจของพระองค์ที่มีต่อประชาชน และประเทศไทยสืบไป
พระประวัติพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็น พระราชโอรส องค์ที่ 35 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับ เจ้าจอมมารดาวาด พระองค์ประสูติ เมื่อ วัน จันทร์ เดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2424 ทรงมีพระนามเดิมว่า " พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร "
เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาโอวาทวรกิจ ( แก่น ) เป็นผู้ถวายพระอักษร เมื่อ พ.ศ.2536 เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส แล้วไปศึกษาโรงเรียนแฮร์โรว์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ได้ชมเชยว่า พระองค์มีความสามารถ และ พรวิริยะ อุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาได้ทรงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริช ตามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถกำหนดไว้สำหรับพระองค์ เพื่อให้กลับมารับราชการสนองคถณประเทศชาติในสาขานี้ แล้วทรงศึกษาวิชาทหารช่างที่ชัทแทม
หลังสำเร็จการศึกษาทรงได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยตรีในเหล่าทหารช่างเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2444 แล้ว เสด็จไปทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ประทับทอดพระเนตรงาน และทรงศึกษาหาความชำนาญอยู่ในประเทศอังกฤษ กับได้เป็นสมาชิก สถาบันวิศวกรรมช่างโยธาแห่งประเทศอังกฤษ M.I.C.E.( Member of the Institute of Civil Engineers ) นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสถาบันนี้
ในปี พ.ศ.2447 พระองค์ก็เสด็จกลับประเทศไทย ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น "นายพันตรีเหล่าทหารช่าง"
ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2448 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกสมรสกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธินฤมล ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงเป็นต้นราชตระกูล "ฉัตรไชย" และทรงมีพระโอรสและธิดารวม 11 พระองค์ คือ
1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง มยุรฉัตร*
2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เปรมบุรฉัตร*
3. หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา ฉัตรไชย
4. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิมลฉัตร*
5. หม่อมเจ้าหญิง กาณจนฉัตร ฉัตรไชย
6. หม่อมเจ้าหญิง ภัทรลดา ฉัตรไชย
7. หม่อมเจ้าชาย สุรฉัตร ฉัตรไชย
8. หม่อมเจ้าหญิง เฟื่องฉัตร ฉัตรไชย
9. หม่อมเจ้าหญิง หิรัญฉัตร ฉัตรไชย
10. หม่อมเจ้าชาย ทิพยฉัตร ฉัตรไชย
11. หม่อมเจ้าหญิง พิบูลฉัตร ฉัตรไชย
* พระโอรสและพระธิดา พระชายา
ในปี 2451 ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรก ทรงเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารแผนใหม่โดยนำความรู้วิชาการทหารแผนใหม่จากตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารในประเทศ เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมรถไฟสายเหนือและใต้เข้าด้วยกันเรียกว่า “กรมรถไฟหลวง” จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าบุรฉัตรฯ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงในปี 2460 พระองค์เป็นผู้ทรงนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในเอเชีย ทรงขยายเส้นทางเดินรถไฟสายต่าง ๆ ภายหลังจึงทรงได้รับสมญานามว่า "พระบิดาแห่งรถไฟไทย" นอกจากนี้ยังทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ
ทรงเป็นผู้นำเครื่องจักรมาสำรวจขุดเจาะน้ำมันและถ่ายหิน ทรงตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในปี 2473 อีกทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสิ้นพระชนม์ ด้วยโรคพระทัยวาย ณ โรงพยาบาลในเมืองสิงค์โปร์ เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2479 รวมพระชันษาได้ 54 ปี 7 เดือน 22 วัน
ด้วยพระเกียรติคุณนานับประการของพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร การทางราชการจึงได้กำหนดเอาวันที่ 14 กันยายนของทุกปีเป็น "วันบุรฉัตร" ภายหลังเมื่อมีการตัดถนนเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับถนนวิภาวดีในพื้นที่ของการรถไฟในปี 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชทานนามว่า "ถนนกำแพงเพชร” เพื่อระลึกถึงพระองค์
ที่มา www.railway.co.th