การรวบรวมหลักฐานมรดกทางวัฒนธรรมทั้งศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จากการคิดค้นสิ่งแวดล้อมอันเป็นสมบัติ ของชาตินั้นมีคุณค่าความสำคัญ ในการรวบรวมวัตถุสิ่งต่าง ๆ จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้นโดยสร้าง พระ ที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุโดยเรียก พิพิธภัณฑสถานครั้งนั้นทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า มิวเซียม อันเป็นที่มาของคำว่า พิพิธภัณฑ์ ในเวลาต่อมา
จวบถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้งมิวเซียมขึ้นที่ หอคองคอเดีย หรือ ศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวังชั้นนอกเพื่อจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ เปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้ วันที่ 19 กันยายน ของทุกปีเป็น วันพิพิธภัณฑ์ไทย
ความเป็นมาวันพิพิธภัณฑ์ไทย
ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 - 17 ทางด้านซีกโลกตะวันตก ได้มีการตื่นตัวในด้านการเก็บรวบรวม และสะสมทรัพย์สมบัติ และมรดกต่างๆ ทั้งที่เป็นวัตถุ สิ่งของมีค่า สิ่งเก่าแก่ ที่หายากและแปลกๆ เพื่อเป็นหลักฐานทางมรดกวัฒนธรรมของชาติอันเป็นการแสดงถึงความเป็นใหญ่และความมั่งคง ของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่เด่นชัด ซึ่งเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมนั้น จะปรากฏขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาตินั้นๆ ได้มีการรวบรวมหลักฐานที่เป็นศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ สิ่งประดิษฐ์จากการคิดค้นหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นสมบัติของชาติ มาประมวลเป็นหลักฐาน ให้ชีวิตของชนในชาตินั้นได้
สำหรับในประเทศไทยนั้น ผู้ริเริ่มดำเนินการรวบรวมวัตถุสิ่งต่างๆ เป็นคนแรกได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ที่พระที่นั่งราชฤดีเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่จัดตั้งแสดงสิ่งสะสมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาจัดแสดงที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ อันเป็นที่มาของคำว่า "พิพิธภัณฑ์ " ในเวลาต่อมา เมื่อมาถึงรัช สมัยพระบาทสมเด็จพราะจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้ง "มิวเซียม" ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับประชนแห่งแรกขึ้น ณ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2417
ต่อมาใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหมู่พระที่นั่งทั้งหมด ในพระราชวังบวรสถานมงคล จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนครดูแลด้านโบราณคดี วรรณคดี เป็นที่รวบรวมสงวนรักษาโบราณวัตถุ ศิลปะวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติพิพิธภัณฑสถานพระนคร ได้มีการเปลี่ยนชื่อและหน่วยงานที่สังกัด อีกหลายครั้ง
จนกระทั่ง ได้มีพระรบกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาที่การพุทธศักราช 2518 จัดตั้งกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เส้นทางพิพิธภัณฑสถานไทย ที่เริ่มต้นจากพิพิธภัณฑสถานส่วนพระองค์ ได้เปลี่ยนแปลงมาสู่พิพิธภัณฑสถานประชาชน และพัฒนาต่อไปจากพิพิธภัณฑสถานที่เก็บรักษาสรรพสิ่งทั่วไป ไม่กำหนดประเภทแน่นอน มาเป็นพิพิธภัณฑสถานมากมายหลายประเภท ตามลักษณะของศิลปวิทยาการที่เกอิดขึ้นในโลก ทั้งทางศิลปะวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชาติพันธุ์วิทยา สังคมวิทยา และสาขาวิชาอื่นๆ เป็นจำนวนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศ และยังได้ยกระดับกิจการพิพิธภัณฑ์ไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
โดยเข้าเป็นสมาชิก สภาการพิพิธภัณฑ์ระหว่างชาติ หรือ ICOM ซึ่งให้คำจำกัดความว่า "พิพิธภัณฑ์" ว่ามิใช่เป็นแหล่งเก็บรวบรวม สงวนรักษาศึกษาวิจัย และจัดแสดงเฉพาะวัตถุเท่านั้นแต่พิพิธภัณฑ์ไดัรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นหลักฐานสำคัญต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับสังคมวัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ จากหลักฐานในอดีต สิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยนัยนี้พิพิธภัณฑสถานในประเทศไทยได้จัดตั้งขึ้นแล้วกว่า 200 แห่ง และได้มีการพัฒนารูปแบบกิจการให้มีความเป็นสถาบันการศึกษานอกรูปแบบที่สำคัญอีกด้วยด้วย
เหตุนี้รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็นวันพิพิธภัณฑ์ไทย นับตั้งแต่ พ.ศ 2538 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นวันที่คนไทยทั้งชาติ ได้รับพระราชทาน พิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชน เป็นครั้งแรก จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ 2517 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระองค์ท่าน และเพื่อปลูกฝังให้คนไทยรัก และหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมอันเป็นสิ่งที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยในวันพิพิธภัณฑ์ไทย พิพิธภัณฑสถานต่างๆ ทั่วประเทศได้ร่วมกันเปิด พิพิธภัณฑสถานให้ประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสเข้าไปชมศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อสร้างความรักความเข้าใจ ตลอดจนภูมิใจในความเป็นไทยโดยทั่วกัน
ที่มา https://www.aksorn.com/document/day_detail.asp?id=214
19 เรื่องชวนรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์
1. “พิพิธภัณฑสถาน” มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ว่า สถานที่เก็บรวบรวมและแสดงสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านวัฒนธรรม หรือด้านวิทยาศาสตร์ โดยมีความมุ่งหมาย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา และก่อให้เกิดความเพลิดเพลินใจ
2. รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “พิพิธภัณฑ์” ขึ้นมาใช้ในประเทศไทย
3. คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” มาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต “พิพิธ” แปลว่า ต่างๆ กัน “ภัณฑ์” แปลว่า สิ่งของ เครื่องใช้ “สถาน” หมายถึง สถานที่ แหล่ง ที่ตั้ง ดังนั้น คำว่า “พิพิธภัณฑสถาน” จึงแปลว่า “สถานที่สำหรับรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เป็นต้น
4. ในปี พ.ศ. 2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์หนึ่งขึ้น ในพระบรมมหาราชวังและพระราชทานนามว่า “ประพาสพิพิธภัณฑ์” เพื่อใช้เป็นที่จัดตั้งแสดงศิลปะโบราณวัตถุ ที่ทรงรวบรวมไว้ แต่มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม โดยเรียกพิพิธภัณฑสถานในครั้งนั้นทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “มิวเซียม”
5. ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมิวเซียมหลวงขึ้นที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวังชั้นนอก เพื่อจัดแสดงสิ่งของต่างๆ และเปิดให้ประชาชนเข้าชมเป็นครั้งแรก เนื่องในการเฉลิมพระชนมายุครบ 21 พรรษา โดยมีพิธีเปิด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2417 ดังนั้น จึงถือว่า วันนี้เป็นวันกำเนิด กิจการพิพิธภัณฑ์สถาน สำหรับประชาชนในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
6. ในปี พ.ศ. 2538 คณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”
7. มิวเซียมหลวงที่หอคองคอเดีย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดตั้งขึ้นนี้ ได้เปิดให้ประชาชน เข้าชมเฉพาะในการเฉลิมพระชนมพรรษาต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จนถึงปี พ.ศ. 2430 พระองค์ได้ย้ายมิวเซียมหลวง จากพระบรมมหาราชวัง ไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า ซึ่งมิวเซียมหลวงแห่งนี้ ถือเป็นจุดกำเนิดพิธภัณฑสถานแห่งแรกของไทย ซึ่งต่อมาก็คือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครนั่นเอง
8. พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ทั่วไป มีพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) นายทหารในกรมทหารมหาดเล็ก เป็นหัวหน้าฝ่ายไทย และมีนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ เป็นผู้อำนวยการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน หอคองคอเดียให้เป็นแบบสากล
9. การจัดแสดงในหอคองคอเดีย แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.ศิลปะโบราณวัตถุของไทย 2. ศิลปะโบราณวัตถุส่วนพระมหากษัตริย์ และ 3.ศิลปะโบราณวัตถุจากต่างประเทศ ซึ่งนายเฮนรี่ ยังเป็นผู้ริเริ่มจัดทำแค็ตตาล็อกบัญชีภาษาอังกฤษ และภาษาไทยด้วย
10. เจ้าหน้าที่กุเรเตอร์ (curator) หรือภัณฑารักษ์คนแรกของมิวเซียมคองคอเดีย คือ สิบเอกทัด แห่งกรมทหารช่างมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาได้เป็น พลโทพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์)
11. ปี พ.ศ.2431 รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้ยกฐานะพิพิธภัณฑ์ขึ้น เป็นกรมพิพิธภัณฑสถาน ขึ้นกับกระทรวงธรรมการ และมีพระองค์เจ้าไชยานุชิต กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป เป็นเจ้ากรมคนแรก
12. ในปี พ.ศ. 2455 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมงานของกรมพิพิธภัณฑสถาน เข้ากับแผนการช่างอย่างประณีต และยกฐานะขึ้นใหม่เป็น กรมศิลปากร งานพิพิธภัณฑ์ จึงมาอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
13. พิพิธภัณฑ์ สามารถแบ่งประเภทตามหลักสากลทั่วโลก ได้ ดังนี้
1. พิพิธภัณฑสถานทางศิลปะ (Museum of Art)
2. พิพิธภัณฑสถานศิลปะร่วมสมัย (Gallery of Contemporary Arts)
3. พิพิธภัณฑสถานทางธรรมชาติวิทยา ( Natural History Museum)
4. พิพิธภัณฑสถานทางวิทยาศาสตร์และเครื่องกล (Museum of Science and Technology)
5. พิพิธภัณฑสถานทางมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์วิทยา (Museum of Anthropology and Ethnology)
6. พิพิธภัณฑสถานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี (Museum of History and Archaeology)
7. พิพิธภัณฑสถานประจำท้องถิ่น (Regional Museum)
8. พิพิธภัณฑสถานแบบพิเศษ (Specialized Museum) และ
9. พิพิธภัณฑสถานของมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษา (University Museum)
14. ในประเทศไทย พิพิธภัณฑสถาน ในสังกัดกรมศิลปากร ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ จึงมีคำว่า “แห่งชาติ” กำกับ นอกจากนี้ ยังมีพิพิธภัณฑสถานอื่นๆ เช่น พิธภัณฑสถานในส่วนราชการ/รัฐวิสาหกิจ เช่น รัฐสภา สวนสัตว์ดุสิต พิพิธภัณฑสถานในส่วนประจำวัด หรือองค์การทางศาสนา เช่น พิพิธภัณฑสถานแสดงชีวประวัติหลวงปู่มั่น ท่านพุทธทาส และพิพิธภัณฑสถานของเอกชน เช่น เมืองโบราณ บ้านจิม ทอมสัน เป็นต้น
15. พิพิธภัณฑสถานในความดูแลของกรมศิลปากร มี 2 ลักษณะคือ
1.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ เป็นต้น และ
2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนภูมิภาค เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
16.หน้าที่ของพิพิธภัณฑสถานโดยทั่วไป แบ่งเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้ดังนี้ 1.รวบรวมวัตถุ(Collection) 2.จำแนกประเภทวัตถุ (Identifying) 3.ทำบันทึกหลักฐาน (Recording) 4.สงวนรักษา (Preservation) 5.จัดแสดง(Exhibition) และ 6.ให้บริการทางการศึกษา (Education)
17. ผู้ที่เข้าชมพิพิธภัณฑสถาน สามารถแบ่งได้หลายประเภท เช่น นักท่องเที่ยว / ชาวพื้นเมือง รวมถึงเจ้าของประเทศ นอกจากนี้บางแห่งยังแบ่งเป็น เด็กนักเรียน / ผู้ชมที่เป็นประชาชนทั่วไป และผู้สนใจพิเศษหรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
18. จุดประสงค์ของการเข้าชมพิพิธภัณฑสถาน ได้แก่ เพื่อความเพลิดเพลิน /เพื่อชมความงามและคุณค่าของวัตถุที่จัดแสดง และเพื่อการศึกษา ค้นคว้า
19.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทไว้ว่า “.....ต้องพยายามแนะนำชักจูงคนทั่วไปให้ทราบถึงกิจการ บริการ รวมทั้งประโยชน์ที่พึงจะได้รับจากพิพิธภัณฑสถาน เมื่อประชาชนได้รู้จัก ได้ใช้ และได้รับประโยชน์จากพิพิธภัณฑสถานโดยกว้างขวางแล้ว จะนับว่าเกิดประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าอย่างแท้จริง....”
ที่มา :ข้อมูลจากหนังสือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศไทย โดย สุจิตรา มาถาวร และวิชาการพิพิธภัณฑ์ โดยนิคม มุกสิกะคามะ กุลพันธาดา จันทร์โพธิ์ศรี มณีรัตน์ ท้วมเจริญ
https://www.expert2you.com/view_article.php?art_id=3266