อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาค ทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง 244 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง
หมู่เกาะสิมิลันคือสรวงสวรรค์แห่งใต้สมุทรที่อุดมไปด้วยสรรพชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปะการัง และหมู่ปลา มีน้ำใสราวแผ่นกระจก งดงามจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของแหล่งดำน้ำที่สวยงามที่สุดของโลก ส่วนหินเรือใบบนเกาะแปดก้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของหมู่เกาะสิมิลันซึ่งรู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยว คำว่า “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี แปลว่าเก้าอันหมายถึงเกาะสำคัญ 9 เกาะ ได้แก่ เกาะหนึ่ง (เกาะหูยง) เกาะสอง (เกาะปายัง) เกาะสาม (เกาะปาหยัน) เกาะสี่ (เกาะเมียง) เกาะห้า เกาะหก (เกาะบายู) เกาะเจ็ด (เกาะปูซาร์) เกาะแปด (เกาะสิมิลัน) และเกาะเก้า (เกาะบางู) โดยมีเกาะสิมิลันเป็นเกาะใหญ่ที่สุดคือมีเนื้อที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร และเกาะเจ็ดเป็นเกาะขนาดเล็กที่สุด เพราะเป็นเพียงกองหินขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางน้ำ มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น หินหัวช้าง หินหัวกะโหลก และหินปูซาร์ เป็นต้น ฤดูกาลที่เหมาะสมในการไปท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลันคือระหว่างปลายเดือนธันวาคมถึงกลางเดือนเมษายนเพราะปราศจากลมมรสุม กิจกรรมดำน้ำลึกในหมู่เกาะสิมิลันถือว่ามีความโดดเด่นที่สุด สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจได้ทุกเมื่อ เช่น ที่บริเวณหินสันฉลาม มักพบปลาฉลามครีบเงินและฉลานเสือดาว หินม้วนเดียว มีปะการังและกัลปังหานานาชนิดให้ชม แฟนตาซีรัฃีฟ เป็นกองหินที่พบสัตว์ทะเลสวยงามแทบทุกชนิด คริสต์มาสพอยต์ พบปลาไหลริบบิ้นสีดำ ปลาบู่สีเพลิง เกาะบอนและเกาะตาชัย มักพบฉลามกบและปลาขนาดใหญ่หลายชนิด สวนปลาไหล มีลักษณะเป็นลานทรายกว้างใต้น้ำใกล้เกาะห้า มีปลาไหลทะเลอาศัยอยู่นับร้อยตัว เรือนกล้วยไม้ เป็นจุดดำน้ำลึกชมปะการังอ่อนหลากสีสัน มีถ้ำใต้น้ำหลายแห่งซึ่งมักพบปลาสิงโตและกระเบนธงขนาดใหญ่ และสโตนเฮนจ์ เป็นกองหินขนาดใหญ่ที่ทับซ้อนกัน พบปลากระเบนและปลาโรนินได้บ่อยที่สุดในเมืองทย หมู่เกาะสิมิลันนับเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำและศูนย์รวมของสรรพชีวิตใต้โลกสีครามที่เต็มไปด้วยสีสันอย่างแท้จริง
ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 83 % ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเฉลี่ย 3,560 มิลลิเมตร ปริมาณการระเหยของน้ำแต่ละปีเฉลี่ย 1,708 มิลลิเมตร ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้
ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 15 พฤศจิกายน ของทุกปี
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี
พืชพรรณและสัตว์ป่า
พืชพรรณ สามารถจำแนกออกได้ เป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ป่าชายหาด มีลักษณะโปร่งพบพันธุ์ไม้กระจัดกระจายมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ได้แก่ หูกวาง จิกเล สารภีทะเล ไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่มขนาดใหญ่ ความสูงไม่เกิน 10 เมตร เช่น ตะบัน หงอนไก่ทะเล ปอทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ชิงชี่ ก้างปลาทะเล เตยทะเล เป็นต้น พืชคลุมดินที่พบ เช่น พืชตระกูลถั่ว พวกถั่วผี ผักราด หญ้าที่พบตามชายหาด เช่น หญ้าหวาย หญ้าขุย ไม้ไผ่ พืชอาศัย ได้แก่ นมพิจิตร ข้าหลวงหลังลาย เป็นต้น
2. ป่าละเมาะ เป็นสังคมของไม้พุ่มที่เจริญเติบโตได้บนดินที่มีความลึกของชั้นดินไม่เกิน 30 เซนติเมตร พรรณไม้ที่พบไม่หนาแน่นนัก เช่น กระบองเพชร จันทน์ผา ไม้พุ่มขนาดเล็กที่พบทั่วไป ได้แก่ พลอง นกนอน เป็นต้น
3. ป่าดงดิบ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ความสูง 20 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ยางปาย ยูง สะยา ไม้ยืนต้นขนาดรองลงมา ความสูง 15-20 เมตร ได้แก่ ขนุนนก เม่า โมกป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางความสูง 10-15 เมตร ที่พบ เช่น กระเบา รักป่า เนียน เป็นต้น มักพบ ไผ่ป่า หวาย ปาล์ม ขึ้นปะปน ไม้เลื้อย ไม้เถาว์ที่พบ เช่น พลูฉีก เสี้ยวเครือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และกาฝากเกาะตามกิ่งก้านไม้ขนาดใหญ่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหาพบได้ยาก ได้แก่ ละมุดป่า และงวงช้างทะเล พบเฉพาะเกาะใหญ่ในทะเลอันดามัน พืชที่กินผลหรือใบอ่อนได้ เช่น ละมุดป่า มะปริง มะหวด เนียง ผักหวาน และชิงชี่ เป็นต้น
สัตว์ป่า จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวปีกถุงเคราดำ พญากระรอกดำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โลมาหัวขวด เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าทะเลที่สำคัญได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ นอกจากนี้ยังพบพวกเหี้ย แลน กระรอก เป็นจำนวนมาก ส่วนจำพวกงู ไม่เคยพบงูที่มีพิษ งูที่พบมากได้แก่ งูเหลือม
นก ที่พบได้บ่อยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีดังนี้
1. นกที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และไม่อพยพย้ายถิ่น เช่น เหยี่ยวแดง นกกวัก เป็นต้น
2. นกที่จัดเป็นนกอพยพ เข้ามาในประเทศไทยบางฤดูกาล เช่น นกปากซ่อมหางเข็ม นกเด้าลมหลังเทา
3. นกประจำถิ่นและบางครั้งมีการอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ นกนางแอ่นบ้าน นกยางควาย นกอีลุ้ม และนกนางนวลแกลบสีกุหลาบ เป็นต้น
ปลา ที่สำคัญที่พบเป็นพวกปลาทะเล ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทงเทง ปลากระเบน ปลาบิน ปักเป้าทะเล รวมตลอดถึงปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งปะการังอีกหลายชนิด เช่น ปลาผีเสื้อ ปลานางฟ้า และปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิด
สัตว์ประเภทอื่นที่สำคัญ สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ปะการัง และแมงกระพรุน ซึ่งปะการังโดยรอบหมู่เกาะสิมิลัน ส่วนใหญ่เป็นปะการังน้ำลึก เท่าที่สำรวจพบ ได้แก่ ปะการังใบไม้ ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังรูพรุน นอกจากนี้ยังมีปะการังที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และปะการังพรุนแบบฟองน้ำอีกหลายชนิด ทั้งยังพบพวกกัลปังหาอีกเป็นจำนวนมากด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ