ทุกวันที่ 10 กันยายน ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันสำคัญคือ วันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) โดยประกาศเป็นครั้งแรกเมื่อ ปี ค.ศ. 2003 (ซึ่งก็ตรงกับปี พ.ศ. 2546 ของไทย)
ทางองค์การอนามัยโลกคาดว่าในปีหนึ่งจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน เมื่อคิดเฉลี่ยต่อเวลาจะพบว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 40 วินาที และการฆ่าตัวตายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่พี่น้องสามีภรรยาและเพื่อนๆ ของผู้ตายอีกประมาณ 5-10 ล้านคน ตลอดจนมีผลมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทางองค์การอนามัยโลกพบว่า การฆ่าตัวตายติด 10 อันดับแรกของสาเหตุการตายของประชากรโลก และติดอันดับที่ 3 ของสาเหตุการตายสำหรับประชากรวัย 15-35 ปี ผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า (ยกเว้นในประเทศจีน)
องค์การอนามัยโลกประมาณว่า ผู้ทำร้ายตนเองมีจำนวนมากกว่าผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 10-20 เท่า จากการศึกษาพบว่าผู้ทำร้ายตนเองจะมีโอกาสทำซ้ำและประสบความสำเร็จได้ โดยมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสำเร็จในระยะหนึ่งปีหลังการทำร้ายตนเองครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่าเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป และร้อยละ 10 ของผู้ทำร้ายตนเอง จะจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา
การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 4,500-5,000 คน ซึ่งมากกว่าการฆ่ากันตาย ที่มีประมาณ ปีละ 3,000-3,800 ราย (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, 2546) และถ้านับจำนวนผู้ที่ทำร้านตนเองทั้งหมด ทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิตจะพบว่ามีจำนวนรวมสูงถึง 25,000-27,000 รายต่อปี (อภิชัย มงคล และคณะ, 2546) ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอย่างมาก
ความสูญเสียเฉพาะอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย
โดยเฉพาะเพศชาย ในปี 2542 คำนวณเป็นความสูญเสียได้เท่ากับ 147,988 DALYs (กระทรวงสาธารณสุข, 2544) หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 5,500 ล้านบาทต่อปี การลดปัญหานี้ถ้าสามารถลดได้เพียงร้อยละ 10 จะสามารถลดความสูญเสียได้อย่างน้อย 500 ล้านบาทต่อปี
กรมสุขภาพจิตได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ และได้ดำเนินโครงการดูแลช่วยเหลือและป้องกันปัญหานี้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 (ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศให้มีวัน World Suicide Prevention Day) จนถึงปัจจุบัน จัดให้มีระบบการบริหารจัดการความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยสร้างระบบบันทึกข้อมูล การเฝ้าระวัง และการศึกษาวิจัยปัญหาในแง่มุมต่างๆ เพื่อนำมาใช้วางแผนการดำเนินการช่วยเหลือและป้องกันปัญหาต่อไป
สถิติการฆ่าตัวตายของประเทศไทยกับสถิติของประเทศต่างๆในโลก
จากของเดิม ปี 2545-46 อยู่ที่ 7.7 ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเป็นข้อมูลจากสำนักนโยบายและแผน กระทรวงสาธารณสุข แต่ตัวเลขปีล่าสุดโดยกรมสุขภาพจิต (ในการดำเนินงานตามปีงบประมาณ 2548) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายในประเทศไทย ได้สรุปต่อเลขล่าสุด อัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยอยู่ที่ 5.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบเอเชียด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ เป็นตัวเลขที่ต่ำในขณะเพื่อนบ้านใกล้เคียงหลายประเทศมีตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ในเกณฑ์สูงมาก ถือว่าไทยประสบความสำเร็จในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย ขณะที่บางประเทศอัตราการฆ่าตัวตายเป็นเลขสองหลักอยู่ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอัตราการฆ่าตัวตาย 24.1 ตนต่อประชากรแสนคน ประเทศศรีลังกา 21.6 คนต่อประชากรแสนคน ประเทศสหรัฐอเมริกา 10.5 คนต่อประชากรแสนคน ประเทศสวีเดน 13.5 คนต่อประชากรแสนคน
รายงานการศึกษาระบาดวิทยาผู้ที่ทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิต (พยายามฆ่าตัวตาย)
ในการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2547 กรมสุขภาพจิต สรุปนำเสนอในเวทีการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายครั้งที่ 7 วันที่ 25-27 ก.ค. 2550 ไว้ดังนี้คือ ในภาพรวมลักษณะของการทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิตพบว่า ผู้ทำร้ายตนเองส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นที่ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นการทำร้ายตนเองครั้งแรก ตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบเมื่อเกิดปัญหาและเผชิญภาวะวิกฤตต่างๆในชีวิต โดยมีการศึกษาตามภาคพบว่า อัตราการทำร้ายตนเองไม่เสียชีวิตของประชากรภาคกลางสูงสุด รองลงมาภาคเหนือ ภาคอิสาน และภาคใต้ ตามลำดับ ผลการศึกษายังพบว่าสัดส่วนการทำร้ายตนเองนั้น เป็นเพศหญิงมากว่าเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 66 และ 34 ตามลำดับ
ในรายงานเดียวกัน ระบาดวิทยาของผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิต พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ในช่วงอายุกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุระหว่าง 30-40 ปี) และกลุ่มผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) พบว่ามากที่สุด ในขณะที่รายงานการทำร้ายตนเองที่เสียชีวิตตามภาค จะพบว่าภาคเหนือมีสูงสุด มากกว่าร้อยละ 50 มีสถานภาพสมรส อาชีพ เกษตรกร รองลงมา อาชีพรับจ้าง/ผู้ใช้แรงงาน
ในการป้องกันปัญหาผู้ที่ทำร้ายตนเองที่ไม่เสียชีวิต (พยายามฆ่าตัวตาย) เป็นที่รู้กันว่าในกลุ่มนี้มักจะมีโอกาสทำซ้ำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่า และฆ่าตัวตายสำเร็จในที่สุดได้ถ้าไม่สามารถให้การช่วยเหลือหรือนำเขาเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรักษาทางจิตเวช จะก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลตามมาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เป็นอย่างมาก ในการดำเนินการกรมสุขภาพจิตได้มีความพยายามที่จะศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องในเชิงลึกถึงสิ่งที่ซ่อนตัวอยู่ คือโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะปัญหาโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าถือเป็นภาวะโรคซึ่งปัจจุบันเป็นปัญหาในดูแลรักษาในอันดับที่ 5-6 ของโลก ซึ่งในอนาคตอาจขยับขึ้นเป็นปัญหาอันดับ 2 เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ต่างจากเบาหวาน หรือ หัวใจ อย่าคิดว่าจะสามารถหายได้เอง โรคนี้เป็นมหันตภัยเงียบ นอกจากจะส่งผลเสียกับตัวเองยังส่งผลกระทบกับบุคคลรอบข้าง เมื่อโกรธมักใช้อารมณ์รุนแรง หากโกรธตัวเองมากก็จะฆ่าตัวเองตาย แต่ถ้าโกรธผู้อื่นด้วยก็จะทำร้าย ฆ่าผู้อื่นแล้วฆ่าตัวตายตาม หรือ เป็นห่วงคนในครอบครัว จึงฆ่าคนในครอบครัวก่อนแล้วฆ่าตัวตายตามเป็นต้น
ที่มา www.dmh.go.th