อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอยู่ในการดำเนินการเพื่อประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามกฎหมาย โดยได้สำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยได้กำหนดที่ดินบางส่วนของป่าคลองธง คลองเหลง ป่าเขาออก ป่าเขาท้องโหนด ป่าเขาชัยสน ป่าเลนคลองขนอม ป่าชัยคราม ป่าวัดประดู่ ป่าเขาหัวช้าง และหมู่เกาะ 8 เกาะ ได้แก่ เกาะมัดแตง เกาะมัดโกง เกาะราบ เกาะวังนอก เกาะวังใน เกาะน้อย และ เกาะท่าไร่ ในท้องที่อำเภอสิชล อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ในเดือนธันวาคม 2532 นายธำมรงค์ ประกอบบุญ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ได้เดินทางไปตรวจราชการเกี่ยวกับป่าชายเลนในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราชพบว่า สภาพป่าชายเลนและป่าบกโดยทั่วไปถูกบุกรุกแผ้วถางเป็นจำนวนมาก จึงเสนอให้กรมป่าไม้ สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกองอุทยานแห่งชาติ จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการสำรวจและดำเนินการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติในท้องที่เขตอำเภอขนอม อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และบริเวณเกาะต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย เกาะแตน เกาะราบ เกาะวังใน เกาะวังนอก เกาะมัดสุ่ม เกาะมัดโกง เกาะมัดแตง ในท้องที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎรธานี
ปัจจุบันพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเมื่อคราวการประชุมครั้งที่ 2/2543 วันที่ 30 ตุลาคม 2543 และอยู่ในระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ มีเนื้อที่ประมาณ 197,500 ไร่ หรือ 316 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 199.26 ตารางกิโลเมตร หรือ 63.06 เปอร์เซ็นต์
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล ตำบลท้องเนียน ตำบลควนทอง ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลปากแพรก ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะพื้นที่แยกเป็นส่วนๆ ไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากได้กันพื้นที่บางส่วนซึ่งมีราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อป้องกันข้อขัดแย้งกับราษฎร ในพื้นที่ซึ่งกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจะมีลักษณะเป็นป่าที่ยังมีความสมบูรณ์และพื้นน้ำ เกาะ ซึ่งมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยมีอาณาเขตทิศเหนือจดพื้นที่อำเภอดอนสัก อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศใต้จดอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจดอ่าวไทย และทิศตะวันตกจดอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ประกอบด้วยพื้นที่ทางบกและทางทะเลรวมกัน โดยพื้นที่ทางบกประกอบด้วย แนวเทือกเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีพื้นที่ราบผืนใหญ่ เชิงภูเขาเปิดสู่ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มียอดเขาหลวงเป็นจุดสูงที่สุดประมาณ 814 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ทางทะเลประกอบด้วยเกาะจำนวน 11 เกาะ ได้แก่ เกาะแตน เกาะราบ เกาะมัดโกง เกาะมัดแตง เกาะวังนอก เกาะวังใน เกาะมัดสุ่ม เกาะราใหญ่ เกาะท่าไร่ เกาะผี และเกาะน้อย
ลักษณะทางธรณีสัณฐานของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะและผืนแผ่นดินใหญ่ ลักษณะภูเขาประกอบด้วยภูเขาหินปูน และหินทราย หินทรายปนกรวด และยังเป็นแหล่งแร่ที่สำคัญได้แก่ โคโลไบท์ แบไรท์ แร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อผลิตปูนซีเมนต์และเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น อุทยานแห่งชาติหาดขนอม - หมู่เกาะทะเลใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่จัดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำห้วย ลำคลองน้อยใหญ่หลายสาย ซึ่งไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเกาะพบว่า บนเกาะวังนอกมีแหล่งน้ำซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพรุสามารถนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนเกาะอื่นๆ ไม่พบแหล่งน้ำในธรรมชาติ
พืชพรรณและสัตว์ป่า
อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ประกอบด้วยป่าชนิดต่างๆ ได้แก่
ป่าดิบชื้น พบในพื้นที่เทือกเขาสูงบริเวณป่าคลองธง ป่าคลองเหลง ป่าชัยคราม ป่าวัดประดู่ และบางส่วนของป่าเขาออก ป่าเขาท้องโหนด และป่าเขาชัยสน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง ตะเคียน หลุมพอ ไข่เขียว กันเกรา พืชพื้นล่างประกอบด้วย ไผ่ หวาย ระกำ เต่าร้าง ตลอดจนพืชที่อาศัยตามลำต้นหรือเรือนยอดของไม้ขนาดใหญ่ เช่น กล้วยไม้ มอส เฟิน และเถาวัลย์ชนิดต่างๆ
ป่าดิบแล้ง พบบริเวณไหล่เขาตามร่องน้ำที่มีเนื้อดินเป็นชั้นบางของป่าเขาท้องโหนด ป่าเขาชัยสน และตามเกาะต่างๆ พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนหิน พลองใบใหญ่ หัวค่าง จิกเขา ชะมัง และขี้แรด ฯลฯ
ป่าชายเลน พบในป่าเลนคลองขนอม พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก แสม ตะบูน ลำพู ลำแพน ถั่วดำ ถั่วขาว ฯลฯ และ ป่าชายหาด พบบริเวณชายหาดบนเกาะต่างๆ พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ หูกวาง สนทะเล หยีทะเล จิกทะเล และรักทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบพื้นที่ป่าซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพรุในพื้นที่ซึ่งอยู่บริเวณตอนบนของป่าเลนคลองขนอมและในพื้นที่เกาะวังนอก
ป่าเขาหินปูน บริเวณเขาหินปูนที่มีชั้นดินน้อยมากยากต่อการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ สำหรับพืชที่พบเป็นพวกเป้งและว่านสบู่ดำ พืชสำคัญได้แก่ จันทน์ผา เป้ง สลัดได พลับพลึง บุก เชียด และยอป่า
พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด สามารถจำแนกออกได้เป็น
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบประมาณ 18 ชนิด เช่น กวางป่า หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี หมาใน บ่าง กระรอก กระแต และพบสัตว์ป่าสงวน 2 ชนิด ได้แก่ เลียงผา และสมเสร็จ และยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในน้ำได้แก่ โลมา
นก พบประมาณ 140 ชนิด เช่น เหยี่ยวรุ้ง นกออก นกเงือก นกขุนทอง นกกาเหว่า นกกาน้ำ นกชาปีไหน และนกนางนวล เป็นต้น
สัตว์เลื้อยคลาน พบประมาณ 14 ชนิด ได้แก่ เต่า ตะพาบน้ำ กิ้งก่า ตุ๊กแก แย้ ตะกวด งูเหลือม และบริเวณเกาะต่างๆ มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบกบและเขียดชนิดต่างๆ
ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ประกอบด้วย ปลาน้ำจืด และปลาทะเลชนิดต่างๆ หอย กุ้ง ปลิงทะเล ปะการังสมอง ปะการังเขากวาง ปะการังจาน และดอกไม้ทะเล เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เว็บไซต์สำนักอุทยานแห่งชาติ
ลักษณะภูมิอากาศ
จากสถิติสภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งทำการเก็บข้อมูลที่สถานีตรวจวัดอากาศเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากที่สุด กรมอุตุนิยมวิทยาได้เก็บข้อมูลสภาพอากาศที่สถานีตรวจอากาศเกาะสมุยในช่วงปี 2509 - 2538 ในช่วงระยะเวลา 30 ปี อิทธิพลต่างๆ จากสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฤดูกาลแบ่งได้ 2 ฤดู คือ
ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน และจะมีอากาศร้อนจัดในที่สุดในเดือนเมษายนต่อเดือนพฤษภาคม
ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและลมชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคุลมทำให้มีฝนตกทั่วไปและในช่วงฤดูฝนนี้ ยังมีช่วงความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ จึงทำให้มีฝนตกมาก นอกจากนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดผ่านอ่าวไทยทำให้มีฝนตกมากในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อากาศจึงไม่ร้อนจัดในฤดูร้อนและอบอุ่นในฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส และเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุดคือ เดือนธันวาคมและเดือนมกราคมมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 19 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ประมาณ 33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 79% ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ยจะเกิดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สูงถึง 92% ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ยจะเกิดในเดือนกรกฎาคม 63% ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,910 มิลลิเมตร เดือนพฤศจิกายนมีปริมาณฝนตกมากที่สุดวัดได้ 511 มิลลิเมตร เดือนกุมภาพันธ์มีฝนตกน้อยที่สุดวัดได้ 35 มิลลิเมตร